ทาง บก.ปอศ. กำลังใช้ความพยายามอีกขั้นเพื่อลดจำนวนการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยสร้างช่องทางแจ้งเบาะแสการใช้งาน ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ในองค์กรธุรกิจ ผ่านสายด่วน เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจมากกว่า 50 แห่ง พบหลักฐานยืนยันการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตและใช้สำเนาซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นอย่างผิดกฎหมาย และหลายคดีสืบเนื่องมาจากข้อมูลที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งผ่านสื่อดิจิทัลทั้งสิ้น
ทั้งนี้ตำรวจเริ่มหันมาใช้สื่อดิจิทัล อย่างเว็บไซต์และสังคมออนไลน์เข้ามาช่วยในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกำลังเพิ่มมากขึ้นโดยข้อมูลได้รับบางครั้งมาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม แต่มีรายละเอียดเพียงพอเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย โดยทั่วไปองค์กรธุรกิจเหล่านี้ไม่มีนโยบาย กระบวนการ และขั้นตอนที่จำเป็นที่ทำให้แน่ใจว่าใช้แต่ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเท่านั้น ในบางกรณีผู้บริหารตั้งใจทำผิดโดยการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายด้วย
โดยสื่อสังคมออนไลน์นี้ ช่วยให้ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจ 4 แห่ง ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น
บริษัทแรกเป็นผู้จำหน่ายวัสดุตกแต่งในห้องน้ำ มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีรายได้ราว 600 ล้านบาทต่อปี พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอม 46เครื่อง รวมมูลค่าราว2.5 ล้านบาท บริษัทที่สองให้บริการด้านวิศวกรรมและออกแบบกราฟิก มีรายได้ราว267ล้านบาทต่อปี มูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ราว 3.4ล้านบาท นับจากซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ถูกติดตั้งบนเครื่องคอม35 เครื่อง บริษัทที่สามมีผู้ถือหุ้นชาวไทย ถูกพบว่าใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมูลค่าราว18 ล้านบาท เป็นคดีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปีนี้ บริษัทสุดท้ายคือบริษัทออกแบบในกรุงเทพฯ พบว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดโดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมูลค่าราว4.5 ล้านบาท
บริษัททั้งหมดนี้ถูกพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 136เครื่อง
การเข้าตรวจค้นในบริษัทดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการตรวจค้นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึงหนึ่งพันล้านบาทในจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อเดือนที่แล้ว
“ผู้แจ้งเบาะแสกำลังให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย แก่บก.ปอศ. และเจ้าของลิขสิทธิ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้ตรวจพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปอศ. จะดำเนินการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจเหล่านั้น องค์กรธุรกิจตระหนักดีว่าการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ คือการทำผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปีพ.ศ. 2537 อีกทั้งยังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ แต่องค์กรธุรกิจหลายแห่งยังคงทำผิดกฎหมายโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและใช้สำเนาซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นอย่างผิดกฎหมาย เจ้าของธุรกิจควรตระหนักว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลในปัจจุบันเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจ เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเทียบกับวิธีการในอดีตที่ผ่านมา” พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. กล่าว
“ตำรวจมีการพัฒนาวิธีการจัดการกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ตลอดเวลา เราเห็นว่าช่องทางการแจ้งเบาะแสในปัจจุบันสร้างข้อได้เปรียบในการต่อสู้เพื่อป้องปรามการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือโดยแจ้งเบาะแสเข้ามา ท่านคือส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาหลักนิติธรรมในประเทศไทยและสนับสนุนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์” พ.ต.อ.สรรักษ์ กล่าวเพิ่มเติม “มีความเสี่ยงมากมายจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและใช้สำเนาซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นอย่างผิดกฎหมายต่อระบบความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และเราต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแส”
หากพบผู้ใช้งาน หรือบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจด้วย สามารถแจ้งเบาะแสผ่านหลายช่องทางเช่น สายด่วน 0-7141010 และ รายงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยผู้สามารรถแจ้งเบาะแสแล้วจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ผู้แจ้งมีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ
ที่มา : ict.in.th