ส่งท้ายปี 2022 นี้ แอดเลยรวบรวม 10 ปัญหาคอมพิวเตอร์ที่เคยเจอมาในแชตบ็อกซ์ Extreme IT ของเรา เผื่อปีหน้าทุกคนจะได้ไม่เจอปัญหาเหล่านี้กันอีก จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ติดตั้ง Windows เสร็จแล้ว แต่ไม่ถอด USB
ปัญหายอดฮิตที่เจอได้เรื่อย ๆ สำหรับมือใหม่เริ่มประกอบคอม คือ หลังจากที่ลง Windows ไปแล้ว ปรากฏว่าพอคอมรีสตาร์ตขึ้นใหม่ มันดันขึ้นหน้าติดตั้งใหม่
ด้วยความซื่อเราก็ลองติดตั้งใหม่ดูซิ เผื่อมันมีปัญหาในขั้นตอนติดตั้ง แต่พอติดตั้งเสร็จ มันก็ยังวนกลับมาหน้าเดิม เห้ย !! เป็นไปได้ไง
ปัญหานี้เกิดจากการที่เราไม่ดึง USB ในจังหวะที่คอมจะรีสตาร์ต ทำให้มันวนกลับมาหน้าติดตั้งใหม่เรื่อย วิธีแก้ก็แค่ดึง USB ออกในจังหวะที่มันนับถอยหลังรีสตาร์ต หรือในจังหวะที่คอมดับไปแล้วกำลังจะเปิดใหม่ก็ได้
แต่ถ้าดึงออกไม่ทัน พอมันขึ้นหน้าติดตั้งใหม่ให้เราดึง USB ออกไปได้เช่นกัน จากนั้นเราไม่ต้องติดตั้งครับ กดกากบาทออกจากหน้าติดตั้งให้คอมรีสตาร์ตใหม่ไปเลย แล้วเดี๋ยวมันจะขึ้นหน้า Windows ที่ลงเสร็จแล้วมาเอง
2. ต่อสายมอนิเตอร์เข้าเมนบอร์ด ที่ใช้ซีพียู Ryzen, Intel รหัส F
หลังจากประกอบคอมสุดแรงมาแล้ว มันก็ต้องลองเปิดเล่นกันสักหน่อย แต่ทันใดที่กดเปิดเครื่อง ทุกอย่างติดหมด ยกเว้นภาพไม่ขึ้นจอ เกิดขึ้นได้ไง ?? คอมสุดแรงพร้อมการ์ดจอ RTX 4090 เลยนะ !!
แต่พอได้ลองเช็กแล้ว ปรากฏว่าเราดันต่อสายมอนิเตอร์เข้าไปที่เมนบอร์ด แทนที่จะต่อเข้าการ์ดจอแยก ซึ่งภาพมันจะไม่ขึ้นเลย หากเราใช้ซีพียู Intel รหัส F หรือซีพียู Ryzen ที่ไม่ใช่ Ryzen 7000 หรือรหัส G
ซึ่งถ้าคอมเรามีการ์ดจอ เราก็แค่ย้ายสายไปเสียบลงการ์ดจอแทน แต่ถ้าเราไม่มีการ์ดจอล่ะก็… ทำอะไรไม่ได้ครับ ต้องไปซื้อการ์ดจอมาใส่นะ
3. บัสแรมวิ่งไม่ตามสเปก
จริง ๆ เรื่องนี้มีหลายสาเหตุ เริ่มต้นจากที่เมนบอร์ด/ซีพียู รองรับหรือไม่รองรับแรมบัสนั้น
สำหรับกรณีที่รองรับบัสแรมน้้น อาจมีสาเหตุจากที่บัสแรมสูงจะต้องเปิด XMP ซึ่งพอกดเปิดในไบออสปุ๊ปก็ได้ใช้งานได้เลย
แต่จะมีบางกรณีที่ว่า รองรับแต่ต้อง OC นั่นหมายความว่าพอเราเปิด XMP แล้ว จะต้องเข้าไปปรับค่า Timing หรือปรับไฟให้เหมาะสมด้วย ไม่งั้นมันก็จะไม่วิ่งตามบัสที่เราปรับ
สุดท้าย กรณีที่ไม่รองรับเพราะเป็นข้อจำกัดของซีพียู ส่วนมากจะพบได้ในพวก Intel Core i3, Core i5 ที่ใช้ร่วมกับเมนบอร์ดที่ไม่ใช่ H/B 600, 700 Series มักจะปรับค่าแรมไม่ได้ และจำกัดแรมไว้แค่ 2666-2933 ดังน้้น ต่อให้เราใส่แรมบัส 3200 มันก็จะวิ่งได้ไม่เกินนี้ครับ
4. ปรับตั้งค่า (OC ซีพียู, แรม, การ์ดจอ) แล้วคอมค้าง, กระตุก หรือจอฟ้า
อันนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอมมีปัญหาได้บ่อยเช่นกัน การ OC ช่วยเพิ่มความแรงให้คอมได้จริง แน่ถ้ามันเกินขีดจำกัดของอุปกรณ์ หรือตั้งค่าไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดปัญหาคอมค้าง, คอมกระตุก หรือจอฟ้าได้
ซึ่งคำแนะนำในการแก้ปัญหา คือ เวลาจะ OC อุปกรณ์ ควรทำทีละอย่างทีละขั้น เช่น ปรับ Clock speed เสร็จค่าหนึ่งแล้วให้ลองเทสก่อน ก่อนที่จะเข้าไปปรับเพิ่มใหม่ เป็นต้น อย่าปรับอุปกรณ์ในรวดเดียว หรือปรับหลายอย่างพร้อมกัน เพราะจะตรวจเช็กได้ยากว่ามีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไหน
นอกจากนี้ เวลาปรับตั้งค่าอะไรไปแล้วควรจะจำไว้ด้วย บางทีเวลาเอาคอมไปให้ร้านเช็ก แต่เราไม่ได้บอกร้านว่าเราปรับค่านั่นนี่ไป อาจทำให้ช่างคอมแก้ไขได้ไม่ถูกจุด
5. OC ซีพียูไม่ได้ เพราะซีพียู/เมนบอร์ดไม่รองรับ
สำหรับมือใหม่ที่ได้ดูคลิป OC แบบจัดเต็ม จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้า อย่าลืมเช็กก่อนนะครับว่าอุปกรณ์รองรับการ OC หรือไม่
สำหรับซีพียูที่รองรับการ OC จะเป็นซีพียู Ryzen และ Intel รหัส K เท่านั้น
ส่วนเมนบอร์ดที่รองรับการ OC จะเป็นเมนบอร์ด AMD Ryzen รหัส B และ X และเมนบอร์ด Intel รหัส Z เท่านั้น
ที่เหลืออาจเป็นการปรับ BCLK เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่สามารถปรับได้เหมือนการ OC แบบปรับค่าความเร็ว ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ซีพียูหรือเมนบอร์ดกลุ่มนี้จะ OC ไม่ได้นะครับ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดขั้นตอนการเลือกซื้อเมนบอร์ดได้จาก ลิ้งก์นี้ เลยนะครับ
6. เห็นแรมไม่ครบ เพราะโดนออนบอร์ดกิน (โน้ตบุ๊ก)
พี่ครับ ทำไมแรมมีแค่นี้ล่ะ ? จากภาพจะเห็นว่า แรมที่เหลือให้ใช้งานจะน้อยกว่าขนาดตามที่สเปกระบุ
ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติในโน้ตบุ๊กนะครับ เพราะซีพียูโน้ตบุ๊กจะมีชิปกราฟิกในตัว ทำให้แรมบางส่วนถูกดึงไปใช้สำหรับชิปกราฟิกในซีพียูด้วย
ดังนั้น เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดนะครับ
7. การ์ดจอวิ่งไม่ได้ตามสเปก (เลน PCIE)
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เพิ่งกล่าวถึง ซึ่งเราจะต้องดูทั้งสเปกของตัวการ์ดจอและเมนบอร์ดด้วย เพราะมีนจะมีข้อกำหนดหลายอย่าง เป็นต้นว่า ถ้าใช้ซีพียู Intel Gen 10 จะได้ PCIE-3 แต่ถ้าใช้ Gen 11 จะได้ PCIE-4 หรืออาจจะมีการแชร์เลนกันก็ได้ ในกรณีที่เราใส่อุปกรณ์ PCIE เพิ่ม
ในตัวการ์ดจอ ส่วนมากจะวิ่งที่ x16 กันอยู่แล้ว จะมีแค่บางตัวโดยเฉพาะการ์ดจอรุ่นเล็ก ที่อาจวิ่ง PCIE-3 x8 หรือ PCIE-4 x4 ได้
ปัญหาจะอยู่ว่า ถ้าการ์ดจอเป็น PCIE-4 x4 แต่ซีพียูบังคับให้ใช้ได้แค่ PCIE-3 มันจะกลายเป็นว่าการ์ดจอวิ่งที่วิ่งแค่ PCIE-3 x4 แบบนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้งานแน่นอน
8. ปรับ Refresh rate ไม่ได้ตามสเปกจอ
เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับเกมเมอร์มือใหม่ที่อยากเล่นเกมลื่น ๆ เลยซื้อจอมอนิเตอร์ refresh rate สูง ๆ มาใช้งาน แต่ปรากฏว่าพอมาเปิดใช้จริง ดันได้ Refresh rate ไม่ตรงตามสเปก
จุดบอดที่พบบ่อย คือ การเลือกใช้พอร์ตที่ไม่ได้รองรับ Refresh rate สูง ๆ เช่น HDMI จะรับ refresh rate ได้น้อยกว่า DisplayPort ในรุ่นแรก ๆ หรือการใช้สายแปลง
วิธีแก้ก็เพียงแค่เลือกใช้พอร์ตที่รองรับ เพื่อน ๆ อาจจะต้องลองไปเปิดตารางดูว่า HDMI เวอร์ชันไหน รองรับความละเอียดและ Refresh rate เท่าไรบ้าง
9. พัดลมการ์ดจอดับเอง-ติดเอง
นี่เป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่มือใหม่อาจรู้สึกตกใจไปด้วย เพราะการ์ดจอเป็นของที่ค่อนข้างแพง จู่ ๆ พัดลมดับไปก็คงเสียวสันหลังวาบเลยล่ะ
แต่เดี๋ยวก่อน การ์ดจอส่วนใหญ่จะมีระบบตัดไฟของตัวเอง ถ้าการ์ดไม่ได้ร้อน ไม่ได้มีโหลดเยอะ มันจะลดการทำงานของพัดลม นอกจากจะช่วยประหยัดไฟแล้ว ยังช่วยยืดอายุของพัดลมด้วย
เพราะฉะนั้น อาการที่พบได้ คือ เปิดคอมมาได้สักพัก แล้วเรายังไม่ได้ทำอะไรหนัก ๆ การ์ดจอจะตัดการทำงานของพัดลมไปเอง จากนั้นพอเราเปิดเล่นเกม พัดลมก็จะกลับมาทำงานเหมือนเดิมครับ
10. เล่นเกมไม่แรงเท่าในยูทูบ
อันนี้คือหนึ่งในปัญหาที่ผมเจอบ่อยมากที่สุด คือ การเล่นเกมได้ไม่แรงเท่ากับคลิปรีวิวในยูทูบ หากให้พูดตามตรง มันก็มีทั้งข้อผิดพลาดที่เกิดจากอุปกรณ์ในเครื่อง หรือซอฟต์แวร์ในเครื่องจริง ๆ แต่บ่อยครั้งที่เจอคือเกมเมอร์ตัวน้อย มักจะดูแต่คลิปแต่ไม่ได้ดู setting ของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น คลิปรีวิวใช้แรม 16 GB (8GBx2) บัส 3200 MHz แต่คอมของเกมเมอร์ตัวน้อย ใช้แรม 16 GB (16GBx1) บัส 2133 MHz แน่นอนว่าคอมในยูทูบมันต้องแรงกว่าอยู่แล้วล่ะ แม้สเปกส่วนอื่นจะเหมือนกัน แต่ตอนเทสเกมยังไง ๆ คอมของยูทูบจะต้องทำได้ดีกว่า
นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่อง setting ของเกม คือบางครั้งคลิปรีวิวในยูทูบ จะไม่ได้โชว์ setting ของเกมทั้งหมด อาจจะบอกแค่ว่าปรับ high หรือความละเอียด full hd เป็นต้น แต่ความเป็นจริงเขาอาจจะปรับส่วนอื่นที่แตกต่างไปจากของเรา และอาจส่งผลกระทบต่อการเล่นเกมได้ เช่นการปรับความละเอียดของสเกลภาพที่จะ render เป็นต้น
เพื่อน ๆ สามารถอ่านรายละเอียดวิธีค้นหาความแรงของการ์ดจอได้จาก ลิ้งก์นี้ เลยครับ
ทั้งหมดนี้คือ 10 หัวข้อปัญหาที่แอดมินได้พบเจอบ่อย ๆ ในปี 2022 สำหรับลูกเพจที่เข้ามาอื่นทั้งใหม่และเก่า ฝากแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้อ่านส่งท้ายปีกันด้วยนะครับ
You must be logged in to post a comment.