สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากลองเป็นเกมแคสเตอร์ หรือ YouTuber วันนี้ผมมีโปรแกรมสำหรับทำ Live Streaming มาแนะนำถึง 5 ตัวด้วยกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยครับ
1. OBS Studio
โปรแกรมสตรีมมิ่งสุดฮิตที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี 100% เพราะฉะนั้นข้อจำกัดของ OBS Studio จะน้อยมาก สามารถปรับแต่งได้หลากหลาย รองรับการตกแต่งซีน, การทำมัลติซีน, การสร้างฮอตคีย์, ฯลฯ อีกทั้งยังใช้งานได้ทั้งแพลตฟอร์ม Linux, Windows และ macOS
แต่นั่นแหละด้วยความที่มันปรับแต่งได้เยอะมาก ทำให้ OBS Studio อาจจะใช้งานยากในช่วงแรก ๆ สำหรับมือใหม่ แม้จะมี Wizard ช่วยการตั้งค่าในช่วงแรกของการติดตั้งโปรแกรมแล้ว แต่ส่วนตัวผมว่าก็ยังใช้งานอยากอยู่แหละ ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันสักระยะ
2. Xsplit
สำหรับการสตรีมเกมผมจะพูดถึงในส่วนของ Xsplit GameCaster ละกัน ส่วนตัวผมชอบใช้มาก เนื่องจากอินเตอร์เฟซที่เป็นมิตรกับผู้ใช้หน้าใหม่ ตั้งค่าง่ายไม่ซับซ้อน เหมาะอย่างยิ่งถ้าเพื่อน ๆ ชอบสตรีมลงแพลตฟอร์ม Twitch, YouTube และ Facebook
อย่างไรก็ตาม Xsplit จะมีทั้งรุ่น GameCaster และ Broadcaster ในส่วนของ GameCaster จะฟรีและใช้งานขั้นพื้นฐานได้ดี เพียงแต่ปรับแต่งได้น้อยกว่า
ส่วน Boardcaster อันนี้สุดติ่งครับ ใช้งานง่าย เสถียร ติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มได้ด้วย (พี่นพใช้ตัวนี้) แต่โปรแกรมเวอร์ชันฟรีมีข้อจำกัดมาก เช่น ติดลายน้ำ, จำกัดความะเอียด, ฯลฯ ถ้าอยากได้ตัวเต็มต้องเสียเงินรายเดือน หรือจ่ายรวมเดียวในราคา 199 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,300 บาท)
3. Streamlabs OBS
จะว่าไปผมเองก็เพิ่งเคยลองใช้ Streamlabs OBS นี้เหมือนกัน ปรากฏว่าหน้าตามันจะคล้าย ๆ กับ Xsplit GameCaster เลย อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชันเสริม เพื่อช่วยให้การสตรีมมีความสมบูรณ์มากขึ้นซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตผมอาจจะปรับเปลี่ยนมาใช้เจ้าตัวนี้แทนก็เป็นได้ (ลองเข้าไปอ่านฟีเจอร์ในเว็บแล้วมันดีจริง ๆ นะครับ)
สำหรับจุดเด่นของ Streamlabs OBS จากข้อมูลที่ผมค้นหามา เขาบอกว่าโปรแกรมตัวนี้ปรับแต่งมาให้เข้ากับการเข้ารหัสด้วยซีพียู X264 ได้เป็นอย่างดี งานนี้ถ้าใครนิยมสตรีมด้วยซีพียู แนะนำให้ลองใช้กันดูนะครับ
4. NVIDIA Shadowplay
สองหัวข้อสุดท้ายผมจะแนะนำโปรแกรมที่มีมาให้แล้วในไดรเวอร์การ์ดจอนะครับ สำหรับแฟน ๆ การ์ดจอค่ายเขียว NVIDIA Shadowplay เป็นหนึ่งในโปรแกรมสตรีมมิ่งที่ผมเคยใช้อยู่ช่วงหนึ่ง ปรากฏว่ามันใช้งานได้ดีเลยนะ แม้จะปรับแต่งได้ไม่ละเอียดยิบเท่ากับโปรแกรม Third-party แต่สิ่งที่เขามีให้นับว่าเพียงพอแล้วกับการสตรีมเกมขั้นพื้นฐาน
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ผมชอบคือเรื่องของ Overlay เพราะการตั้งค่า Overlay ของ NVIDIA นั้นทำได้ง่าย ไม่ค่อยงอแง และไม่หนักเครื่อง ช่วงที่ผมเคยใช้การ์ดจอ GTX 1050 TI ตอนประกอบคอมเครื่องแรก ผมว่าเจ้า Shadowplay เนี่ยตอบโจทย์มาก ๆ เลยครับ
5. Radeon ReLive
ค่ายเขียวมีฟีเจอร์สตรีมแล้ว ค่ายแดงก็มีเหมือนกัน นั่นก็คือ Radoen ReLive ที่แถมมาให้ในไดรเวอร์เลย ยิ่งเวอร์ชันใหม่ในไดรเวอร์ Adrenaline ผมมองว่ามันมีฟีเจอร์ให้ปรับแต่งค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างซีนหลายซีน, การเพิ่มกล่องแสดงข้อความ, การเพิ่มหน้า Intro ก่อนเริ่มไลฟ์, ฯลฯ เมื่อเทียบกับเวอร์ชันเก่าที่มีในไดรเวอร์ Crimson ถือว่าทำออกมาได้ดีขึ้น
แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่หาย และคิดว่าหลายคนอาจจะเจอปัญหาแบบผม คือความเสถียรของโปรแกรม ยอมรับเลยว่าเมื่อเทียบกับการใช้งาน Shadowplay แล้ว Radeon ReLive มีความเสถียรน้อยกว่า บางทีก็หยุดไลฟ์เอง บางทีเปิด Overlay ไม่ติด อะไรประมาณนี้ ยังไงก็อยากให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคตครับ (ช่วงหลังมาอาการเอ๋อมันเริ่มน้อยลงแล้วล่ะ แต่ก็ยังมีให้เห็นบ้างประปราย)
แล้วเพื่อน ๆ ใช้โปรแกรมอะไรกันบ้าง ลองบอกเล่ากันมาได้เลยนะครับ เผื่อคนอื่น ๆ จะได้ไอเดียในการเลือกใช้โปรแกรม
You must be logged in to post a comment.