เรื่องที่คนมักจะเถียงกันเกี่ยวกับ Power Supply คือ ทำไมต้อง 80 PLUS? เพราะเราจะเห็นกันว่า PSU ที่รองรับมาตรฐานนี้ จะมีราคาแพงกว่ารุ่นที่ไม่ได้รองรับ ในขณะที่เขียนปริมาณวัตต์ไว้เท่ากัน แถม 80 PLUS เองก็แบ่งย่อยไปอีกหลายระดับ ซึ่งวันนี้ ผมจะพาไปหาคำตอบกันนะครับ ว่าทำไม PSU ถึงต้องมี 80 PLUS
หลักการทำงานง่าย ๆ ของ PSU คือการแปลงไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) เข้ามาแปลงเป็นไฟกระแสตรง (DC) เพื่อจ่ายกระแสไฟให้กับอุปกรณ์แต่ละชิ้นใน PC ซึ่งประเด็นมันก็อยู่ที่เรื่องของการแปลงกระแสไฟนี่แหละ
เพราะในระหว่างการแปลงกระแสไฟฟ้า จะมีบางส่วนที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นความร้อน แทนที่จะกลายเป็นไฟกระแสตรงทั้งหมด นั่นหมายความว่า ไฟบ้านเข้า PSU 100W ไฟกระแสตรงที่ได้ จะไม่ได้เท่ากับ 100W และได้น้อยกว่าด้วยนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้า PSU มีคุณภาพที่ดี มันจะสร้างความร้อนจากการแปลงไฟได้น้อยกว่า ทำให้ไฟบ้านที่เข้ามาถูกแปลงเป็นไฟกระแสตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างมาตรฐานในการผลิต PSU
แรกเริ่มจะเป็นมาตรฐาน Intel ATX โดยระบุว่า ไฟบ้านที่เข้ามาใน PSU 60% จะต้องถูกเปลี่ยนไปเป็นไฟกระแสตรง เมื่อ PSU มีโหลด 50% ทีนี้ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ PSU 500W ที่ทำงานในโหลด 50% เพื่อให้ได้กำลังไฟ 250W ในมาตรฐาน Intel ATX ไฟบ้านที่เข้ามา จะต้องมีกำลังไฟอยู่ที่ 416W (60% ของ 416W = 250W)
จากตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่ามีไฟถึง 166W ที่กลายเป็นความร้อน และสูญเสียไปกับสิ่งแวดล้อม ผลที่ตามมาก็คือมิเตอร์บ้านเราก็จะหมุนเร็วขึ้น นำไปสู่การชำระค่าไฟที่มากขึ้นนั่นเอง สุดท้ายจึงเริ่มมีการพัฒนามาตรฐานในการเพิ่มประสิทธิภาพของ PSU ให้กับผู้ผลิต
ในปี 2007 ทาง Energy Star ได้ทำมาตรฐาน 80 PLUS ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการแปลงกระแสไฟฟ้าของ PSU เมื่อมีโหลด 20%, 50% และ 100% ในช่วงแรกจะกำหนดให้ทุกโหลดต้องแปลงไฟได้ที่ 80% แต่หลังจากนั้นก็มีแยกย่อยเป็น Bronze, Silver, Gold และ Platinum ซึ่งบ่งบอกประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
20% load | 50% load | 100% load | |
80 PLUS | 80% | 80% | 80% |
80 PLUS Bronze | 82% | 85% | 82% |
80 PLUS Silver | 85% | 88% | 85% |
80 PLUS Gold | 87% | 90% | 87% |
80 PLUS Platinum | 90% | 92% | 89% |
ทีนี้เรากลับมาที่ PSU 500W ตัวเดิม ที่โหลด 50% เพื่อที่จะให้ PSU ตัวนี้จะได้กำลังไฟ 250W เรามาดูกันว่าในแต่ละมาตรฐาน จะต้องใช้ไฟบ้านเท่าไร
DC Output | AC Input | Efficiency | Watts Lost | |
PSU that meets minimum ATX efficiency requirements | 250W | 416W | 60% | 166W |
Typical low cost PSU | 250W | 357W | 70% | 107W |
80 PLUS PSU | 250W | 312.5W | 80% | 62.5W |
80 PLUS Bronze PSU | 250W | 294W | 85% | 44W |
80 PLUS Silver PSU | 250W | 284W | 88% | 34W |
80 PLUS Gold PSU | 250W | 278W | 90% | 28W |
80 PLUS Platinum | 250W | 272W | 92% | 22W |
จะเห็นได้ว่า จากมาตรฐาน ATX ที่มีไฟสูญเสียไปเป็นความร้อนถึง 166W เมื่อกลายเป็น 80 PLUS Platinum มาตรฐานขั้นสูงสุด กลับสูญเสียไฟฟ้าไปเพียง 22W เท่านั้น
และนี่จึงเป็นความสำคัญของมาตรฐาน 80 PLUS ที่เข้ามามีบทบาทในการออกแบบ PSU ให้สามารถทำประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้เราประหยัดมากขึ้นด้วย ในแง่ที่ว่าเราไม่ต้องใช้ไฟบ้านในปริมาณมาก เพื่อให้ PSU ได้กำลังวัตต์ที่ต้องการนั่นเองครับ
เลือก 80 PLUS แบบไหนดี??
สำหรับเรื่องนี้ นอกจากดูกำลังไฟฟ้าที่เราต้องใช้ใน PC แล้ว งบประมาณก็เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากเช่นกัน จะยกตัวอย่าง PSU 850W 80 PLUS Platinum มีราคาอยู่ที่ 7500 บาท ส่วน PSU 850W 80 PLUS Gold ราคา 5200 บาท ให้ทำงานฟูลโหลด 100% รุ่น Gold จะสูญเสียไฟไปมากกว่ารุ่น Platinum เพียง 22W เท่านั้นเอง
ถ้าเราใช้งาน PSU ทั้งสองตัวแบบฟูลโหลด 100% เป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งหมด 30 วัน (สมมุติว่าให้ราคาหน่วยละ 3 บาท) PSU Platinum จะประหยัดไฟมากกว่าแค่ 15 เท่านั้น แต่ราคา PSU ห่างกันถึง 2000 บาทเลยทีเดียว
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพเฉย ๆ นะ เพราะบางคนจะยึดติดว่า ต้องใช้ 80 PLUS ตัวท็อป ๆ ถึงจะประหยัดไฟมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วในการใช้งานทั่วไปของเรา มันประหยัดไฟต่างกันเพียงไม่กี่บาท จึงอยากให้เพื่อน ๆ พิจารณาเรื่องงบเป็นหลัก ว่า PSU ราคาเท่าไหน, 80 PLUS ตัวที่คิดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน และเลือกยี่ห้อดี ๆ น่าเชื่อถือเท่านี้เพียงพอแล้วครับ
PSU ราคาถูก คุ้มจริงหรือ??
อันนี้ผมเสริมให้นิดนึง จะเป็นการเล่าประสบการณ์ที่ผมเคยพบเจอมาละกัน ปกติแล้วพวก PSU ราคาถูกหลายรุ่น เท่าที่ผมเคยเห็นมานะ มักจะไม่มีมาตรฐาน 80 PLUS มาด้วย แล้วล่อตาล่อใจมือใหม่ด้วยการอัดสเปคให้มีกำลังไฟสูง ๆ เป็นต้นว่า 700W ในราคา 600 บาท ซึ่งมันเป็นได้ยากมากที่เราจะเจอของดีในราคานี้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นมันอยู่ที่วัสดุและเทคโนโลยีภายใน PSU ราคาถูกพวกนั้น เพราะวัสดุที่ใช้มันกจะเป็นของที่ไม่ได้มีคุณภาพมากนัก พังง่าย ไม่มีระบบกันไฟกระชาก อะไรต่าง ๆ นานา แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ระเบิด!! มีลูกเพจหลายรายเคยทักมาถามผมว่า PSU ระเบิดทำไงดี ก็ต้องบอกเลยว่าแล้วแต่เวรแต่กรรม เพราะบางครั้งกระทั่งยี่ห้อดี ๆ ก็ยังเกิดเหตุพวกนี้ได้ แล้วคุณจะไปฝากฝังอะไรได้กับ PSU ราคาถูกเหล่านั้น
อยากฝากหลาย ๆ คนที่กำลังจะประกอบคอมใหม่นะครับ ควรเลือกซื้อ PSU ที่ยี่ห้อด้วย เลือกยี่ห้อดี ๆ ดัง ๆ เชื่อถือได้ ราคาอาจจะอยู่ในหลักพันหน่อย แต่คุณจะไม่เสียใจในภายหลังแน่นอน เพราะถ้าของราคาถูกมันระเบิดขึ้นมาล่ะก็ งบที่จ่ายมันอาจจะแพงกว่าราคา PSU ตัวนั้นเสียอีก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.corsair.com/us/en/blog/80-plus-platinum-what-does-it-mean-and-what-is-the-benefit-to-me
https://www.maketecheasier.com/80-plus-power-supply-ratings/
You must be logged in to post a comment.