จาก ATi Wonder ถึง AMD Vega – สืบประวัติการ์ดจอค่ายแดง AMD ฉบับย่อ ตั้งแต่ต้นจนจบ

จาก ATi Wonder ถึง AMD Vega – สืบประวัติการ์ดจอค่ายแดง AMD ฉบับย่อ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ในที่สุดประวัติการ์ดจอของ ATi/AMD ก็สำเร็จเรียบร้อย ต้องขออภัยที่ทำออกมาช้านิดนึงนะครับ ช่วงนี้ติดสอบนิดหน่อย แหะๆ แต่เอาเป็นว่าถึงเวลาของเราแล้ว ที่จะมาตามสืบประวัติของการ์ดจอค่ายแดงกัน จะมีรุ่นใดบ้าง ไปดูกันเลยครับ

1. ATi Wonder

ATi ได้เปิดตัวชิปประมวลผลภาพในตระกูล Wonder ออกมาในปี 1986-1990 ซึ่งชิปในตระกูลนี้ ออกแบบมาเพื่อประมวลผลการแสดงข้อความ และภาพ 2 มิติ สำหรับชิปที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นคือ ATi Wonder VGA Stereo-F/X ซึ่งเป็นการรวมเอาหน่วยประมวลผลภาพ 2 มิติ เข้ากับหน่วยประมวลผลเสียง Creative Sound Blaster ครับ

2. ATi Mach 8

ชิปตัวถัดมาเป็นตระกูล March ออกมาในปี 1990 ยังคงเป็นชิปประมวลผลภาพ 2 มิติ สำหรับตัวที่ดังที่สุดคือ March 8 ที่ถือว่าเป็นการ์ดประมวลผล 2 มิติที่ดีที่สุดในช่วงนั้น

3. ATi March 32

และในอีก 2 ปีถัดมา ได้มีการเปิดตัว March 32 ที่เป็นการรวมเอาฟังก์ชันจากชิปตระกูล Wonder และ March เข้าด้วยกัน

4. ATi March 64

ด้วยความสำเร็จของ March 32 ATi จึงได้ออกชิปประมวลผลภาพตัวใหม่อย่าง March 64 ออกมา ซึ่งชิปตัวนี้เป็นชิปประมวลผลภาพ 3 มิติตัวแรกในตลาด นิยมใช้ในการเล่นเกม และ ATi March 64 ก็เป็นชิปตัวสุดท้ายของตระกูล March ด้วยครับ

5. ATi 3D Rage

ในช่วงปี 1995 ATi ได้ขายการ์ดจอที่มีชิปประมวลผลภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ อยู่ 2 ตระกูลคือ March 64 และ 3D Rage ซึ่งเจ้าตัว 3D Rage นี้ถอดแบบมาจาก March 64 แบบเป๊ะๆ หลังจากนั้นไม่นานจึงได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประมวลผลกราฟิก 3 มิติ และออก 3D Rage II ซึ่งการ์ดตัวนี้ถูกใช้เป็นการ์ดจอออนบอร์ดในเมนบอร์ดหลายรุ่น (เกือบทุกรุ่นเลยก็ว่าได้) สำหรับชิปที่ใช้ใน 3D Rage II จะมีสัญญาณนาฬิกา 60 MHz และมีแรม 4-8 MB ครับ

6. ATi 3D Rage Pro

3D Rage Pro ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพจาก 3D Rage II โดยเพิ่มการประมวลผลหมอกและความโปร่งใส, แสงและเงา, รวมถึง DVD playback นอกจากนี้ยังมีส่วนเชื่่อมต่อแบบใหม่อย่าง AGP ด้วย สำหรับสเปคนั้น การ์ดตัวนี้มีสัญญาณนาฬิกา 75 MHz และแรม SGRAM 16 GB อย่างไรก็ตาม แม้ประสิทธิภาพมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการ์ดตัวเก่า แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Nvidia (Riva 128) และ 3dfx แล้ว มันด้อยกว่าอย่างชัดเจนเลยครับ

7. ATi Rage 128

โปรเจคถัดไปของ  ATi ได้ทำการเปิดตัวชิป ATi Rage 128 ซึ่งรองรับการแสดงสี 32 บิต พร้อมด้วยการเพิ่ม Pixel pipeline ขึ้นมาอีก 1 ส่วน ทำให้มันมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าชิปรุ่นก่อน อีกทั้งยังมาพร้อมกับ Pixel cache ขนาด 8 KB และ Buffer อีก 8 KB ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ ATi เรียกว่า Twin Cache ครับ

สำหรับการ์ด Rage Fury (ซึ่งใช้ชิป Rage 128) มีประสิทธิภาพสูงมากในสมัยนั้น โดยเฉพาะเมื่อใช้กับการแสดงสีแบบ 32 บิต แต่เมื่อเป็นสีแบบ 16 บิตแล้ว ประสิทธิภาพไม่ได้แตกต่างไปจากคู่แข่งมากนั้น

8. ATi Rage 128 Pro

ชิป Rage 128 Pro นั้น รองรับการทำงานร่วมกับ DirectX 6.0 และส่วนเชื่อมต่อแบบ AGP 4X อีกทั้งทาง ATi ยังได้อัพเกรดการประมวลผลรูปสามเหลี่ยนของชิป ให้สามารถแสดงผลรูปสามเหลี่ยมได้ถึง 8 ล้านชิ้นภายใน 1 วินาที ทำให้ประสิทธิภาพของการ์ด Rage Fury Pro  ซึ่งใช้ชิปดังกล่าว สามารถแข่งขันกับ Nvidia Riva TNT2 และ 3dfx Voodoo3 2000 ได้

นอกจากนี้ ใน Rage 128 Pro ยังมีชิปมัลติมีเดีย Rage Theater ที่ช่วยให้การ์ด Rage Fury Pro สามารถแสดงผลภาพผ่านวิดีโอคอมโพสิต และ S-video connector ได้ครับ

9. ATi Rage Fury MAXX

ด้วยประสิทธิภาพที่ยังไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ของ Rage 128 Pro ทำให้ ATi ได้ออกแบบการ์ดจอตัวใหม่ ที่มีชิป Rage 128 Pro 2 ตัวในการ์ดใบเดียว นั่นคือเจ้า Rage Fury MAXX และแม้ว่ามันจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการ์ดจอของ Nvidia เกือบทุกรุ่น (ยกเว้น Geforce 256 DDR) แต่ก็ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง หลังจากที่ Microsoft ได้เปิดตัว Windows XP และ 2000 ซึ่งระบบปฏิบัติการดังกล่าว ไม่รองรับการทำงานร่วมกับการ์ดจอที่มีชิปประมวลผลภาพ 2 ตัว บน AGP เดียวกันได้นั่นเอง

10. ATi Radeon DDR

ในปี 2000 ATi ได้เปลี่ยนชื่อเรียกการ์ดจอเป็น Radeon แทน Rage ซึ่งยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการจอตัวแรกที่ใช้ชื่อนี้คือ Radeon DDR ซึ่งมีชิปประมวลผลภาพ R100 โดยส่วนประกอบภายในจะคล้ายๆ กับ Rage 128 แต่รองรับ T&L (Transform and Lighting) engine นอกจากนี้ตัวชิปยังมี Pixel pipeline 2 ส่วน และ TMU 3 หน่วย อีกทั้งยังได้ใส่ฟีเจอร์ HyperZ ที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยี 3 อย่าง คือ  Z compression, Z clear และ Z-buffer ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลให้ดีขึ้นครับ

นอกจากนี้ Radeon DDR ยังใช้กระบวนการผลิตขนาด 180 นาโนเมตร ที่ช่วยให้สามารถเพิ่มสัญญาณนาฬิกาให้อยู่ที่ 183 MHz รวมถึงทำงานร่วมกับแรม 64 MB (ส่วนรุ่นที่มีสัญญาณนาฬิกา 166 MHz จะมีแรมการ์ดจออยู่ 32 MB ครับ)

11. ATi All-In-Wonder Radeon 7500

ในปี 2001 ATi ได้ใช้การกระบวนการผลิตขนาด 150 นาโนเมตร กับชิปประมวลผลภาพตัวใหม่ RV200 ซึ่งใช้ในการ์ด All-In-Wonder Radeon 7500 เมื่อดูแล้วโครงสร้างของ RV200 จะคล้ายกับ RV100 แต่มันมีสัญญาณนาฬิกาที่สูงกว่า นอกจากนี้  All-In-Wonder ยังประกอบไปด้วยชิป Rage Theater ของ ATi เอง พร้อมด้วยออนบอร์ด TV tuner ทำให้การ์ดจอของ ATi ในช่วงนั้น เป็นการ์ดจอมัลติมีเดียที่ได้รับความนิยมมากกว่า Nvidia

12. ATi All-In-Wonder Radeon 8500

ATi All-In-Wonder Radeon 8500 ได้ใช้ชิป R200 ที่ประกอบไปด้วย  Pixel pipelines 4 ส่วน และแต่ละส่วนจะมี 2 TMUs + 1 Vertex shader ซึ่งทำให้มันรองรับการทำงานร่วมกับ Pixel shader 1.4 อีกทั้งยังออกชิป R200 ที่มี HyperZ II ซึ่งช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการแสดงผลได้ดีขึ้นด้วยครับ

สำหรับสเปคของการ์ดรุ่นนี้ จะมีสัญญาณนาฬิกาที่ 260 MHz และมีแรม DDR 128 MB ประสิทธิภาพที่ได้ใกล้เคียงกับตัว ATi Radeon 8500 ทำให้มันแรงพอที่จะสู้กับ Nvidia Geforce 3 ได้ (การ์ดที่เป็นซีรี่ส์ All in Wonder จะเป็นการ์ดที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในด้านมัลติมีเดียอื่นๆ เช่น การดูโทรทัศน์ เป็นต้น)

13. ATi Radeon 9700 Pro

สำหรับการ์ดตัวถัดไปคือ Radeon 9700 Pro ซึ่งทาง ATi ได้ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ โดยใช้ชิป R300 ที่มี 8 Pixel pipelines ประกอบกับ 1 Texture unit ต่อ 1 pipeline พร้อมด้วย 4 Vertex shaders ทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลทางเรขาคณิต และพื้นผิวนั้น ทำได้ดีขึ้นกว่าชิปรุ่นเก่าอย่างมาก สำหรับชิป R300 นี้ ประกอบไปด้วยทรานซิสเตอร์จำนวน 110 ล้านตัว บนกระบวนการผลิตขนาด 150 นาโนเมตร แม้ว่ามันจะคล้ายกับ R200 แต่ประสิทธิภาพนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลย

การ์ดตัวนี้ เป็นการ์ดแรกที่รองรับ DirectX 9 อีกทั้งยังมี HyperZ III ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับแรมการ์ดจอ ขนาด 128 MB ด้วย

สเปคของ Radeon 9700 Pro จะมีสัญญาณนาฬิกาที่ 325 MHz ซึ่งสามารถเอาชนะ Geforce 4 Ti 4600 ไปได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการออกการ์ดจอรุ่นที่มีราคาถูกลงมา คือ Radeon 9700 ซึ่งมีสัญญาณนาฬิกาต่ำลงกว่าเดิมครับ

14. ATi Radeon 9800 Pro

เพื่อจะแข่งขันกับ Radeon 9700 Pro ทำให้ Nvidia ได้ออก Geforce FX 5800 Ultra มาสู้ได้อย่างสูสี แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้อย่างขาดลอย เพื่อสานต่อความแรงขึ้นไปอีก ทำให้ ATi ได้ออกการ์ดจอ ATi Radeon 9800 Pro ซึ่งใช้ชิป R350 ที่มีสัญญาณนาฬิกาสูงขึ้น และใช้แรม 256 MB

แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้กับ Nvidia Geforce FX 5900 ในเวลาต่อ อย่างไรก็ตาม แม้ประสิทธิภาพจะสู้ไม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกซื้อ Radeon 9800 Pro กันอยู่ ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่ได้ด้อยกว่าคู่แข่งมากนัก แถมราคายังถูกกว่าเยอะเลย

15. ATi Radeon X800 XT

การแข่งขันระหว่าง ATi กับ Nvidia ยังคงดำเนินต่อไป ในเวลานั้น Nvidia ได้ออกการ์ดจอ Geforce 6800 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า และกลายเป็นการ์ดจอที่แรงที่สุดในเวลานั้น ATi จึงโต้กลับด้วยการออกการ์ดจอ Radeon X800 XT ที่ใช้ชิป R420 พร้อมด้วย Pixel pipeline 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ส่วนครับ

ในช่วงนั้น การ์ดตัวนี้รองรับการทำงานร่วมกับ Shader 2.0b ส่วนทาง Nvidia นั้นรองรับเวอร์ชัน 3.0 แล้ว ทำให้ประสิทธิภาพอาจด้อยกว่า เมื่อต้องประมวลผลกราฟิกที่มีความใหม่กว่า (แต่สำหรับ Shader เก่าถือว่าทำคะแนนได้ใกล้เคียงกับคู่แข่งเลยนะครับ) แรมของการ์ด Radeon X800 XT มีขนาด 256 MB แบบ GDDR3 บนบัส 256 บิต ทั้งนี้ มีการใช้เทคนิค Memory compression เรียกว่า 3Dc ที่ช่วยให้การขนส่งข้อมูลผ่านแบนด์วิดธ์นั้น ทำออกมาได้ดีขึ้น

และที่สำคัญคือ Radeon X800 XT เป็นการ์ดจอตัวแรกที่รองรับการทำ CrossFire ครับ

16. ATi Radeon X700 XT

หลังจากที่ X800 XT ได้เปิดตัวออกมาไม่นาน ATi จึงได้ปล่อย Radeon X700 XT ออกมาติดๆ โดยใช้ชิป RV410 ซึ่งเป็นตัวที่ปรับลดสเปคลงครึ่งหนึ่งของ RV420 (มี 8 pixel pipelines, 8 TMUs, 8 ROPs และบัสขนาด 128 บิต) โดยที่ยังมีจำนวน Vertex shader เท่ากันอยู่นะครับ แต่กระบวนการผลิตนั้นจะใช้ทรานซิสเตอร์ขนาด 110 นาโนเมตร ซึ่งทำให้สามารถดันสัญญาณนาฬิกาขึ้นให้เท่ากับรุ่นพี่ X700 XT ได้ และการ์ดตัวนี้ได้กลายมาเป็นคู่แข่งในตลาดการ์ดจอระดับกลาง กับ Nvidia Geforce 6600 ครับ

17. ATi Radeon X850 XT PE

ปลายปี 2004 ATi ได้ออกการ์ดจอเรือธงตัวใหม่คือ  Radeon X850 XT PE ที่ใช้ชิป R480 บนสถาปัตยกรรมขนาด 130 นาโนเมตร และสามารถดันสัญญาณนาฬิกาให้สูงกว่าชิป R420 ได้ ประสิทธิภาพที่ได้จึงสูงขึ้นมาอีกประมาณหนึ่ง และ Radeon X850 XT PE ได้กลายมาเป็นคู่แข่งของ Nvidia Geforce 6800 Ultra ครับ

18. ATi Radeon X1800 XT

ชิปตัวใหม่ที่ทาง ATi ได้เปิดตัวออกมานั้น รู้จักกันในชื่อ R520 ซึ่งเป็นแบบให้กับการ์ดในซีรี่ส์ X1000 ทั้งหมด ซึ่งชิปตัวนี้ รองรับการทำงานร่วมกับ Shader 3.0 รวมถึงใช้กระบวนการผลิตขนาด 90 นาโนเมตรด้วยครับ

โดยการ์ดจอรุ่นเรือธงตัวแรกของซีรี่ส์ 1000 นี้ คือ Radeon X1800 XT ซึ่งมี Pixel pipeline 16 ส่วน, 8 Vertex shaders, 16 TMUs, 16 ROPs ในส่วนของบัสแรมนั้น จะมีการรับข้อมูลเข้า 2 ส่วน บนบัสขนาด 128 บิต ซึ่งข้อมูลจะเข้าออกบนเส้นทาง 4 จุด แม้ว่ามันจะเพิ่ม Latency ของการส่งออกข้อมูล แต่ช่วยลดปัญหาความล่าช้า และคับคั่งของข้อมูลได้

Radeon X1800 XT มีขายทั้งรุ่นแรม GDDR3 256 MB และ 512 MB ที่สัญญาณนาฬิกา 625 MHz ครับ

19. ATi Radeon X1900 XTX

ในปีเดียวกันนั้น ATi เปิดตัวชิปประมวลผล R580 ซึ่งใช้กับการ์ดจอ Radeon X1900 XTX โดยข้อแตกต่างของการ์ดจอรุ่น Radeon X1800 XT และ Radeon X1900 XTX  คือ เจ้าตัว Radeon X1900 XTX  นั้นจะมี Pixel pipeline มากกว่าถึง 3 เท่า (48 ส่วน) แต่ส่วนอื่นๆ ยังคงเท่าเดิม ผลการทดสอบที่ได้ในบางเกม การ์ด Radeon X1900 XTX รงขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า แต่ในบางเกมกลับให้ผลใกล้เคียงกับการ์ด Radeon X1800 XT

20. ATi Radeon X1950 XTX

จากนั้นต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างของ Radeon X1900 XTX ไปใช้กระบวนการผลิตขนาด 80 นาโนเมตร ซึ่ง ATi เรียกชิปนั้นว่า RV580+ และใช้กับการ์ดจอรุ่น Radeon X1950 XTX โดยส่วนประกอบอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงนะครับ แต่มีสัญญาณนาฬิกาที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนไปใช้แรมแบบ GDDR4 ทำให้ประสิทธิภาพมันสูงขึ้นพอสมควร

เจ้า Radeon X1950 XTX นี้ ยังวางขายอยู่กระทั่งสิ้นยุคของ Radeon ซีรี่ส์ 2000 (ซึ่งซีรี่ส์นี้ก็มีอายุสั้นซะเหลือเกิน)

21. ATi Radeon HD 2900 XT

ATi ได้ทำการเปิดตัวชิปประมวลผลภาพ ที่ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ โดยสถาปัตยกรรมนี้คือ TeraScale ซึ่งใช้ในการ์ดจอซีรี่ส์ 2000 และเป็นสถาปัต ยกรรม Unified shader ด้วย โดยเจ้า TeraScale นี้ จะรองรับการทำงานร่วมกับ Shader 4.0 และ DirectX 10.0 ส่วนชิปที่ใช้สถาปัตยกรรมนี้คือ R600 และการ์ดจอที่ใช้ชิปนี้คือ Radeon HD 2900 XT รุ่นเรือธงในซีรี่ส์นี้ครับ

แม้ว่าโครงสร้างภายในของ R600 จะมีบางส่วนคล้ายคลึงกับการ์ด X1000 แต่มันใช้กระบวนการผลิตขนาด 80 นาโนเมตร พร้อมด้วย Stream processor 320 หน่วย, 16 TMUs และ 16 ROPs โดยมีทั้งรุ่นที่ใช้แรม GDDR3 512 MB และรุ่นที่ใช้แรม GDDR4 1 GB

แม้ว่าประสิทธิภาพของ Radeon HD 2900 XT จะดีขึ้นมาก แต่มันก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าสนามอย่าง Geforce 8800 GTX ได้ครับ

22. ATi Radeon HD 3870

ปลายปี 2007 ATi ได้เปิดตัวการ์ดจอรุ่น Radeon HD 3870 ซึ่งถอดแบบมาจาก HD 2990 แต่เปลี่ยนไปใช้กระบวนการผลิตทรานซิสเตอร์ขนาด 55 นาโนเมตร รวมถึงอัพเกรดส่วนเชื่อมต่อให้รองรับ PCIe 2.0 ด้วย และที่สำคัญคือ ชิป R670 ที่ใช้ในการ์ดรุ่นนี้ ATi ได้ใส่ UVD ซึ่งเป็น Video decode engine ของ ATi มาให้ด้วยครับ

23. ATi Radeon HD 4870

หลังจากที่ Radeon HD 2900 XT และ Radeon HD 3870 ไม่สามารถเอาชนะการ์ดจาก Nvidia ได้ ทำให้ ATi ต้องทำการ์ดจอ High-end ออกมาสู้อีกครั้ง ชิป RV770 จึงได้เกิดขึ้นใน 2008 พร้อมกับการ์ดจอรุ่น Radeon HD 4870 ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมเดียวกับการ์ดตัวเก่า แต่ปรับไปใช้กระบวนการผลิตขนาด 55 นาโนเมตร พร้อมด้วย Stream processor 800 หน่วย, 40 TMUs, 16 ROPs และแรม GDDR5 512 MB / 1 GB บนบัส 256 บิตครับ

สัญญาณนาฬิกาของชิปประมวลผลในการ์ดรุ่น Radeon HD 4870 มีความเร็วที่ 750 MHz ซึ่งเท่ากับตัว Radeon HD 3870 แต่ด้วยส่วนประกอบภายใน และแบนด์วิดธ์แรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Radeon HD 4870 มีความเร็วมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะ Geforce GTX 280 ทั้งนี้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้ ATi สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้พอสมควร

24. ATi Radeon HD 4890

สำหรับการ์ดจอ Radeon HD 4890 ยังคงใช้ชิป RV770 อยู่เช่นเดิมครับ แต่ว่าปรับเพิ่มสัญญาณนาฬิกาให้สูงขึ้นกว่าเดิม 100 MHz แต่ประสิทธิภาพมันต่างจาก Radeon HD 4870 แค่นิดเดียวเท่านั้น

25. ATi Radeon HD 5870

Radeon HD 4890 ออกมาได้ไม่นาน ATi จึงได้ทำการ์ดจอตัวใหม่ออกมาในปีเดียวกันนั้น นั่นคือการ์ดรุ่น Radeon HD 5870 ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมใหม่อย่าง TeraScale II ที่รองรับ DirectX 11  โดยมีการปรับปรุงจาก TeraScale แบบเก่า ให้ Stream processor แต่ละหน่วย รองรับคำสั่งในการประมวลผลที่มากขึ้นกว่าเดิม

Radeon HD 5870 ใช้กระบวนการผลิตขนาด 40 นาโนเมตร ช่วยลดการใช้พลังงานลง พร้อมกับ Stream processor 1,600 หน่วย, 80 TMUs และ 32 ROPs บนความเร็ว 850 MHz และทำงานร่วมกับแรม GDDR5 1 GB บนบัส 256 บิต ประสิทธิภาพของมันเร็วกกว่าการ์ดจอรุ่นเก่าถึง 2 เท่า และได้ขึ้นแท่นการ์ดจอที่เร็วที่สุดในโลกในเวลานั้น

26. AMD Radeon HD 6970

AMD ได้เข้าซื้อกิจการของ ATi ตั้งแต่ปี 2006 แต่ยังคงใช้ชื่อว่า ATi จนกระทั่งการ์ดจอซีรี่ส์ 6000 จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น AMD Radeon นั่นเอง สำหรับการ์ดจอในซีรี่ส์ 5000 นั้น มีความซับซ้อนในการผลิตพอสมควร และทำให้การพัฒนาต่อไปเป็นไปได้ยาก AMD จึงได้ปรับสเปคบางส่วนของการ์ดซีรี่ส์ 5000 พร้อมกับเพิ่ม SIMD engine (Single instruction, multiple data) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลครับ

เรือธงในซีรี่ส์ 6000 คือเจ้า Radeon HD 6970 ซึ่งมี Stream processor 1,536 หน่วย, 96 TMUs และ 32 ROPs (สถาปัตยกรรมนี้เรียก TeraScale III) ซึ่งยังใช้กระบวนการผลิตที่ 40 นาโนเมตร แต่รองรับแรม GDDR5 2 GB บัส 256 บิต ประสิทธิภาพของ Radeon HD 6970 นั้นออกมาดีเยี่ยม แถมยังประหยัดไฟอีกด้วย

27. AMD Radeon HD 7970

ในปี 2011 AMD ได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมชิปประมวลผลภาพอีกครั้ง เป็นสถาปัตยกรรม Graphics Core Next (GNC) ที่ถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมแบบ RISC เพื่อจุดมุ่งหมายให้การ์ดจอสามารถทำงานกราฟิก พร้อมกับเล่นเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การ์ดจอตัวแรกที่ใช้สถาปัตยกรรม GNC คือ Radeon HD 7970 ซึ่งเป็นการ์ดเรือธงของซีรี่ส์ 7000 ส่วนประกอบภายในมี Stream processor 2,048 หน่วย, 128 TMUs และ 32 ROPs ในกระบวนการผลิตขนาด 28 นาโนเมตร แถมยังมีสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้นอยู่ที่ 925 MHz และมีแรม GDDR5 3 GB บนบัส 384 บิต ซึ่งถือว่าเป็นการ์ดจอที่มีจัดเต็มสุดๆ ห่างชั้นกับการ์ดจอตัวเก่าอย่างเทียบไม่ติดเลยครับ

ประสิทธิภาพของ Radeon HD 7970 ที่มีเพียงชิปเดียว สามารถเอาชนะการ์ดจอแบบ Dual-GPU อย่าง Radeon HD 6990 และ GeForce GTX 590 อย่างไรก็ตาม การ์ดตัวนี้ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะกว่าการ์ดตัวเก่านะครับ

28. AMD Radeon HD 7970 GHz Edition

หลังจากเปิดตัวการ์ดจอ Radeon HD 7970 ไปไม่นาน Nvidia ได้โต้กลับด้วย GeForce GTX 680 ซึ่งแรงกว่าทาง AMD เล็กน้อย ทำให้ทาง AMD รีบแก้เกมด้วยการเพิ่มสัญญาณนาฬิกาขึ้นไปเป็น 1,000 MHz เกิดเป็นเจ้า Radeon HD 7970 GHz Edition ขึ้นมา แถมยังรองรับการฟีเจอร์ที่ช่วยดันสัญญาณนาฬิกาขึ้นอีกเล็กน้อย เมื่ออยู่ในการประมวลผลที่เหมาะสม ส่วนสัญญาณนาฬิกาของแรมนั้น อยู่ที่ 6 GT/s ทำให้มันแรงพอๆ กับ Geforce GTX 680 เลยทีเดียว (แต่ผลการทดสอบจริง มันแรงกว่าในบางเกมนะครับ)

29. AMD Radeon HD 8000 Series

สำหรับซีรี่ส์ 8000 นี้ ไม่ได้แตกต่างจากซีรี่ส์ 7000 เท่าไรนะครับ คือใช้ชิปเดิม แต่ว่าปรับเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นอีกเล็กน้อย (อารมณ์เดียวกับ RX 480 ไป 580)

30. AMD Radeon R9 290X

Radeon HD 7970 GHz Edition เป็นการ์ดจอที่ออกสู่ตลาดนานที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติของ AMD/ATi (2011-2013) จากนั้นมันจึงถูกแทนที่ด้วยการ์ดตัวใหม่อย่าง Radeon R9 290X ที่ใช้สถาปัตยกรรม GNC ในกระบวนการผลิตขนาด 28 นาโนเมตร แต่มีการปรับเพิ่มแคช L2 จากเดิม 768 KB เป็น 1 MB

ส่วนสเปคของเจ้า Radeon R9 290X นั้น มันมี Stream processor 2816 หน่วย, 176 TMUs และ 64 ROPs พร้อมแรม GDDR5 4 GB บนบัส 512 บิต อย่างไรก็ตาม Radeon R9 290X ที่เป็น Reference card มันร้อนมาก ทำให้ต้องปรับลดสัญญาณนาฬิกาลง เลยไม่สามารถเอาชนะ Geforce GTX 780 จนมีการทำการ์ดจากผู้ผลิตรายย่อยออกมาขาย (Custom card) ซึ่งช่วยให้ Radeon R9 290X ทำงานได้ดีขึ้น ร้อนน้อยลง สุดท้ายมันก็สามารถขึ้นเป็นที่หนึ่งได้อยู่ช่วงหนึ่งเลยครับ

31. AMD Radeon R9 Fury X

การ์ดจอเรือธงตัวใหม่ของทาง AMD บนสถาปัตยกรรม GNC นั่นคือเจ้า Radeon R9 Fury X ซึ่งใช้ชิป Fiji ที่มีทรานซิสเตอร์อัดแน่นอยู่ถึง 8.9 พันล้านตัว พร้อมด้วย Stream Processor 4096 หน่วย, TMU 256 หน่วย และ ROP 64 หน่วย แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าจำนวน Core ที่เยอะขึ้น นั่นก็คือการใช้แรมแบบ High-Bandwidth Memory (HBM) ขนาด 4 GB ที่มีความเร็ว 512 GB/s บนบัส 4096 บิตครับ

ด้วยเหตุที่การ์ดตัวนี้ใช้กระบวนการผลิตขนาด 28 นาโนเมตร ทำให้มันค่อนข้างร้อน AMD จึงได้ออกแบบระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว จึงร้อนน้อยลงและเงียบขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าประสิทธิภาพที่ได้จะใกล้เคียงกับ Geforce GTX 980 แต่มันก็โดนเบียดด้วย GTX 980 Ti ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของการ์ดมันขึ้นอยู่กับเกมและการตั้งค่า หากเกมสามารถดึงพลังจากการ์ดจออกมาได้ ตัว Radeon R9 Fury X จะได้คะแนนนำค่อนข้างมากอยู่ครับ

32. AMD Radeon RX 480

การทำการ์ด Radeon RX 480 ออกมานี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก เพราะมันไม่ใช่การ์ดจอระดับ High-end แต่กลับเป็นการ์ดจอในกลุ่ม Mid-range แทน โดยใช้สถาปัตยกรรม Polaris เหมือนเดิม

สเปคของ RX 480 นี้ มี Stream processor 2,304 หน่วย, 144 TMUs และ 32 ROPs พร้อมด้วยแรม GDDR5 ขนาด 4 และ 8 GB บนบัส 256 บิต ส่วนสัญญาณนาฬิกาของชิปจะอยู่ที่ 1120 MHz และบูสต์เพิ่มได้ถึง 1266 MHz แม้ว่า RX 480 จะไม่ใช่การ์ดระดับ High-end แต่ก็สามารถสู้ Geforce GTX 970 บนสถาปัตยกรรม Pascal ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

นอกจานี้ AMD ยังได้ออกการ์ดรุ่นต่ำกว่าลงมา ได้แก่ RX 470 และ RX 460 โดยใช้สถาปัตยกรรมเดียวกัน แต่ลดหัวประมวลผลและแรมลงกว่าเดิมครับ

33. AMD Radeon RX 580

ในเดือนเมษายน 2017 AMD ได้เปิดตัวการ์ดจอในซีรี่ส์ RX 500 ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือ RX 400 ที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มสัญญาณนาฬิกาให้สูงขึ้น และรองรับแรงดันไฟฟ้าที่มากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การ์ดในซีรี่ส์ RX 500 ที่เป็นแบบ OEM จะมีการลดความเร็วสัญญาณนาฬิกาลง 100-200 MHz นะครับ

34. AMD Radeon RX Vega

เอาล่ะ เราก็มาถึงพี่ใหญ่แห่งปีกันแล้วนะครับ สำหรับการ์ดจอสถาปัตยกรรม Vega ที่ AMD ตั้งใจทำออกมาเพื่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรม Polaris เดิมแล้ว Vega มีจำนวน Shader ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งใช้แรมความเร็วสูงตัวใหม่อย่าง HBM2 ที่มีความเร็ว 484 GB/s บนบัส 4096 บิตครับ (การ์ดสำหรับผู้ใช้ทั่วไปจะมีแรมขนาด 8 GB ส่วนการ์ดสำหรับเวิร์คสเตชันอย่าง Vega Frontier Edition จะมีแรมขนาด 16 GB)

ในกลุ่มการ์ดจอสำหรับผู้ใช้ทั่วไป ตอนนี้มีอยู่ 2 รุ่นนะครับ คือ Vega 64 ที่ออกมาสู้กับ Geforce GTX 1080 และ Vega 56 คู่ปรับของ Geforce GTX 1070 ครับ

สำหรับบทความเรื่องประวัติการ์ดจอในครั้งนี้ ก็ได้เสร็จสิ้นไปแล้วนะครับ เพื่อนๆ สามารถอ่านประวัติการ์ดจอของ Nvidia ย้อนหลังได้ที่ “จาก NV1 ถึง Pascal – สืบประวัติการ์ดจอ Nvidia ฉบับย่อ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ส่วนใครที่สนใจ อยากรู้เรื่องราวของการ์ดจอมากขึ้น ผมได้เขียนบทความชุด เรื่องน่ารู้ของการ์ดจอ ก็จะมีสาระน่ารู้ของการ์ดจอมาให้เรื่อยๆ สามารถติดตามอ่านกันได้ที่ Extreme PC นะครับ สวัสดีครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.tomshardware.com/picturestory/735-history-of-amd-graphics.html#s1

 

Related articles

5 เว็บไซต์ ทดสอบความแรง CPU/GPU เชื่อถือได้ เช็กก่อนเลือกซื้อกันได้เลย !!

สำหรับใครที่วางแผนจะประกอบคอมเครื่องใหม่ แต่ยังเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อซีพียูหรือการ์ดจอตัวไหนดี วันนี้แอดมีเว็บไซต์ที่ทำการทดสอบฮาร์ดแวร์พวกนี้ไว้ให้เราเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น มีเว็บไหนบ้างไปดูกันเลยครับ Techpowerup เว็บนี้ผมชอบดูมาก เพราะทำกราฟออกมาอ่านเข้าใจง่าย และมีการทดสอบที่หลากหลาย ทั้งการใช้งานทั่วไป, การเล่นเกม, การใช้พลังงาน,...

“อุปกรณ์ IoT” “ภัยเงียบที่เสี่ยงคุกคามบ้านคุณ?

ในยุคที่เทคโนโลยี IoT เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น หลอดไฟอัจฉริยะ ลำโพงอัจฉริยะ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน...

MSI ก้าวสู่ยุคใหม่ Next-Level AI PC พร้อมเปิดตัวโน้ตบุ๊กขุมพลัง AMD Ryzen™ AI 300 Series

11 พฤศจิกายน 2567 MSI ประเทศไทย แบรนด์พรีเมียมโน้ตบุ๊กชั้นนำ ประกาศวางจำหน่ายโน้ตบุ๊ก AI ระดับสูงรุ่นใหม่ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผล...

[HOW TO] ใช้กล้องมือถือแทนเว็บแคม ภาพโคตรชัดแถมใช้ฟรี !! ด้วย Camo Studio

อยากได้เว็บแคมกล้องชัด ๆ แบบมือถือที่ใช้ ต้องลองแอปฯ นี้เลยครับ Camo Studio เปลี่ยนกล้องมือถือให้กลายเป็นเว็บแคม อัดคลิปทำคอนเทนต์บนคอมได้ง่าย...

STEELSERIES ยกทัพสินค้าใหม่เอาใจสายเกมเมอร์

เปิดตัว ARCTIS GAMEBUDS™ WIRELESS GAMING EARBUDS หูฟังไร้สายที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการเล่มเกม ดูหนัง ฟังเพลง...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า