ผมคิดว่าหลายคนน่าจะได้ดูรีวิวของ AMD Ryzen Threadripper 3000 ซึ่งบอกเลยว่าแรงถึงทรวง ชนิดที่ Xeon ยังอายเลยแหละ อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมไม่ได้จะเอารีวิวมาให้อ่านนะครับ แต่จะเป็นเรื่องเบื้องหลังความสำเร็จของโครงสร้างซีพียู ว่ามีการปรับปรุงจากรุ่นก่อนอย่างไรบ้าง
โครงสร้างเจ้าปัญหา
เรามาเริ่มต้นที่โครงสร้างของ Threadripper 1000 และ 2000 กันก่อนนะครับ โครงสร้างของ TR สองรุ่นนี้ง่ายมาก คือการนำชิปของ Ryzen ทั่ว ๆ ไปมาต่อกันด้วย Infinity fabric เพื่อให้ได้ channel เพิ่มขึ้น
แต่ข้อเสียของโครงสร้างนี้ คือมันทำให้ชิปประมวลผลเข้าถึงหน่วยความจำ และ Input/Out ได้ไม่เท่ากัน จากภาพด้านบนจะเห็นเลยว่า มี Die บางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยความจำได้โดยตรง และอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น หากแกนประมวลผลของ TR เพิ่มขึ้นด้วย แน่นอนว่าผลลัพธ์ของมัน เรียกว่า “ไม่สมราคาคุย” ในหลายด้าน
โครงสร้างผู้กอบกู้ชื่อเสียง
จากความคิดที่ว่า พอพูดถึง Threadripper การทำงาน Workstation มันต้องทำได้ดี แต่ในรุ่นก่อนบางงานยังทำสู้ Ryzen mainstream ไม่ได้เลย ดังนั้น AMD จึงของรื้อโครงสร้างใหม่ใน Threadripper 3000 ครับ
ด้วยข้อดีของการใช้โหนด 7nm ทำให้ชิปประมวลผลใช้พื้นที่ลดลง และเหลือที่ว่างมากพอให้ AMD lามารถนำ I/O Die ขนาด 12nm มาวางตรงกลางได้ ซึ่ง I/O Die จะทำหน้าที่เหมือนเป็นเลนกลาง ในการรับส่งข้อมูลจากชิปประมวลผลแต่ละส่วน ให้สามารถเข้าถึงหน่วยความจำได้โดยตรง
ทั้งนี้ มันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความล่าช้าในการส่งข้อมูล เพราะตัวชิปประมวลผลเองไม่ได้ต่อเข้ากับหน่วยความจำ แต่แน่นอนว่าการใช้ชิป I/O เป็นตัวกลางเพื่อให้ชิปประมวลผลทุกตัวเข้าถึงหน่วยความจำของตัวเองได้ นับว่าเป็นการปรับปรุงแบบก้าวกระโดด ที่ TR รุ่นเก่าเทียบไม่ติดเลยครับ
หลักแนวคิดของการทำ I/O Die นั้น คือ Equal PCIe and DRAM access to all die หมายความว่าทุกชิปประมวลผลจะต้องเข้าถึงเลน PCIe และหน่วยความจำของตัวเองได้ ซึ่งจากประสิทธิภาพที่ได้เห็นจากผลการทดสอบนั้น บ่งบอกแล้วว่าแนวคิดนี้เวิร์คจริง ๆ ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Overclock3D
You must be logged in to post a comment.