ในระหว่างรอบทความประวัติการ์ดจอ AMD เรามาอ่านบทความเรื่องน่ารู้กันก่อนดีกว่า แม้ว่าเนื้อหาโดยส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่มีความสำคัญต่อผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ นะครับ
ซึ่งในบทความนี้ ผมจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ “แสงสีฟ้า” ที่หลายคนๆ น่าจะเคยได้ยินมาบ้าง วันนี้เราจะไปดูกันว่าแสงสีฟ้ามันส่งผลต่อดวงตาของเราขนาดไหน เอาแบบละเอียดนิดนึงให้เข้าใจกันไปเลย!
ทุกคนคงทราบดีว่า คลื่นแสง เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารูปแบบหนึ่ง ที่มีความยาวคลื่นในช่วงต่าง และแสดงแสงสีออกมาให้เราเห็นได้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับแสงในช่วงคลื่นต่างๆ ของดวงตา และแสงที่เหล่าเกมเมอร์ หรือนักรบ ROV ที่จะต้องได้พบเจออยู่บ่อยๆ ก็คือแสงจากหลอด LED ที่ฉายออกมาจากจอมอนิเตอร์ หรือจอสมาร์ทโฟนนั่นเองครับ
แสงที่ปล่อยออกมาจากหลอด LED ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 450-500 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นของแสงสีฟ้า ซึ่งได้นำข้อมูลมาจากบทความทางวิชาการเรื่อง Blue light from light-emitting diodes elicits a dose dependent suppression of melatonin in humans
จากภาพจะเห็นได้ว่าความยาวคลื่นส่วนใหญ่ในหลอด LED จะอยู่ในช่วง 450-500 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นของแสงสีฟ้า
เกริ่นไว้คร่าวๆ พอประมาณ ทีนี้พักเรื่องแสงกันไว้ก่อน เรามาดูในส่วนของตามนุษย์กันบ้างดีกว่า ส่วนประกอบที่รับแสงในตาของมนุษย์คือ เรตินา อันนี้ผมคิดว่าเพื่อนๆ น่าจะรู้จักกันดี เรตินาเป็นพื้นที่หลังดวงตา ซึ่งจะประกอบไปด้วยเซลล์รับแสงและสีจำนวนมาก มีทั้งเซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) และ เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) โดยเฉพาะที่จุด Fovea ในบริเวณ Macula จะมีเซลล์รับแสงสีเยอะที่สุดครับ
ภาพแสดงจุด Fovea ในดวงตา
(ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.mastereyeassociates.com/macular-hole)
เซลล์รูปแท่งจะเป็นทรงสีเหลี่ยมยาวๆ ส่วนเซลล์รูปกรวยจะมีปลายแหลม และเซลล์ ipRG จะอยู่ต่อท้ายคอยรับสัญญาณจากเซลล์ 2 ชนิดแรก (M1/M2)
(ขอบคุณรูปภาพจากบทความทางวิชาการเรื่อง Effects of blue light on the circadian system and eye physiology)
สำหรับเซลล์รูปแท่ง และเซลล์รูปกรวยนั้น จะส่งสัญญาณแสงสีที่ตกกระทบตาไปยังสมอง เพื่อให้เกิดเป็นภาพขึ้น แต่ยังสามารถส่งสัญญาณอีกส่วนไปยังเซลล์ Intrinsically photosensitive retinal ganglion (ipRG Cell) ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อแสงของร่างกาย เช่น การตื่นนอนตอนเช้า เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ผมจะพูดทีหลังนะครับ
ทีนี้ ผลเสียของแสงสีฟ้าต่อดวงตามันคืออะไรล่ะ? ถ้าเราลองไปเปิดหาใน Google ก็จะมีคำตอบอยู่เยอะแยะเลย ผมเลยขอสรุปแค่ 2 ข้อใหญ่ ที่น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพเกมเมอร์อย่างเรา ได้แก่
1.รบกวนกลไกการหลับ-ตื่นตามธรรมชาติ
ปัญหาแรกที่พบได้บ่อยสุดคือ แสงสีฟ้าส่งผลต่อกระบวนการในการหลับ-ตื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินถูกยับยั้ง ฮอร์โมนชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล ใกล้กับบริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส ในส่วนของกลไกการออกฤทธิ์ผมจะขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิด กลัวเพื่อนๆ จะงงเสียก่อน
(ขอบคุณรูปภาพจาก Circadian-Rhythm Sleep Disorders in Persons Who Are Totally Blind)
แต่เอาเป็นว่าในภาวะที่มีแสงสว่าง อย่างเช่น ตอนกลางวัน ต่อมไพเนียลจะถูกยับยั้งไม่ให้หลั่งเมลาโทนิน ร่างกายจึงอยู่ในภาวะตื่นตัว แต่เมื่อตกกลางคืน ไม่มีแสงมากดการทำงาน ต่อมไพเนียลจึงหลั่งฮอร์เมนออกมาได้ตามปกติ และจะถูกยับยั้งอีกครั้งเมื่อเริ่มเช้า
เพราะฉะนั้น การเล่นสมาร์ทโฟนตอนกลางคืน จะทำให้มีแสงเข้าตาเราเสมือนตอนกลางวัน และความยาวคลื่นของแสงสีฟ้า จะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินได้มากที่สุดครับ
(ขอบคุณรูปภาพจาก Sleep, New Scientist Instant Expert 20)
ดังนั้น การเล่นสมาร์ทโฟนช่วงกลางดึก หรือนั่งเล่น DOTA 2 ก่อนนอน อาจส่งผลให้เรานอนหลับไม่สนิท หรือมีการตื่นกลางดึกอยู่บ่อยครั้ง แม้เราอาจรู้สึกว่านอนหลับก็ตาม แต่เมื่อตื่นเช้าจะรู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่เต็มอิ่มได้ครับ
2.จอประสาทตาเสีย
สำหรับข้อนี้อย่าเพิ่งตกใจนะครับ จริงๆ ผลกระทบมันไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น ระยะเวลาในการดำเนินโรคจนทำให้เกิดจอประสาทตาเสียนี้ จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และอาจเกิดขึ้นในกรณีที่เราได้รับแสงในปริมาณมากๆ
สำหรับกรณีเกมเมอร์ที่เพ่งมอนิเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการที่พบได้บ่อยอย่างแรกคือ ดวงตาเมื่อยล้า อันนี้สาเหตุหลักอาจไม่ได้เกิดจากแสงสีฟ้าโดยตรงนะครับ แต่เกิดจากการที่กระจกตา (Cornea) เลนส์ตา และม่านตา (Iris) ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา
(ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.articlesweb.org/health/sphincter-muscle)
เมื่อเรามองภาพในระยะใกล้ กล้ามเนื้อ Ciliary ที่ยึดบริเวณเลนส์ตาจะเกิดการหดตัว เพื่อปรับระดับเลนส์ตาให้โค้งมนเหมาะสม ในการรับแสงให้ตกกระทบไปยังจุด Fovea ที่เรตินา รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดที่ม่านตา เพื่อหรี่รูม่านตาปรับปริมาณแสง และทำให้กระจกตาโค้งรับการตกกระทบของแสง การหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จากทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตาได้นั่นเอง
สำหรับผลกระทบจากแสงสีฟ้า ที่ส่งผลต่อจอประสาทตาคือ ความยาวคลื่นแสงสีฟ้า สามารถทะลุเข้าไป และตรงไปยังจุด Fovea ได้โดยตรง (แสง UV จะถูกกรองด้วยกระจกตาและเลนส์ตาก่อน ส่วนแสงสีอื่นๆ จะเกิดการกระจายออกไป) และเมื่อมีความเข้มของแสงสูงขึ้น ก็ไม่ต่างจากการเพิ่มพลังงานเข้าไปที่เซลล์ในบริเวณดังกล่าวครับ
(ขอบคุณรูปภาพจาก Evidence for the Role of Blue Light in the Development of Uveal Melanoma)
ผลในระยะยาวจะทำให้เซลล์ในบริเวณนั้นเสื่อมสภาพ และตายลง เกิดความผิดปกติในการรับภาพ ส่วนผลในระยะสั้นๆ ที่เกิดขึ้นได้คืออาการตาพร่าครับ ดังนั้น การปรับระยะห่างของจอมอนิเตอร์กับสายตา รวมถึงการกรองแสงสีฟ้าออกไป ก็มีความสำคัญนะ
วิธีแก้ปัญหาล่ะ?
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับโปรแกรม F.lux ที่อ้างว่าสามารถช่วยลดปริมาณแสงสีฟ้าจากจอ LED ได้ ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่ามันกรองได้จริงไหม หรือแค่ปรับสีในจอให้มันดูส้มขึ้นเท่านั้น (อ่านบทความได้ที่ “F.lux อัพเดทใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับโปรแกรมอื่น และการเล่นเกม!”)
แต่พอได้ดูคลิปนี้ ทำให้รู้เลยว่ามันช่วยได้จริง ตัวผมเองก็ลองทำแล้วกับแว่นกรองแสงสีฟ้า ปรากฏว่าได้ผลอย่างในคลิปเลยครับ
อันนี้มันคือส่วนของซอฟต์แวร์ ส่วนฮาร์ดแวร์อย่างแว่นกรองแสงล่ะ มันช่วยได้จริงหรือเปล่า ดูจากในคลิปเลยครับ กลไกของแว่นกรองแสงสีฟ้าคือ เลนส์แว่นจะถูกเคลือบด้วยสารพิเศษ ที่สามารถสะท้อนแสงสีฟ้าออกไป ไม่ให้มันเข้ามาในดวงตาเรานั่นเองครับ
หลักการเดียวกันในกรณีของฟิล์มกรองแสงสีฟ้าของสมาร์ทโฟน ถ้าเราเอาฟิล์มออกมาเจอกับแสงอาทิตย์ จะเห็นได้ว่าฟิล์มมันมีสีฟ้า นั่นเป็นเพราะว่าฟิล์มสะท้อนแสงสีฟ้าออกมา (ไม่ต้องตกใจนะครับว่ามันสะท้อนแสงสีฟ้ามาใส่ตาเรา แล้วตาจะเสียไหม เพราะเขาออกแบบมาให้ใช้เวลาเล่นมือถือตอนดึกๆ จะได้ผลดีมากครับ)
เอาล่ะทีนี้ทุกคนก็ได้รู้แล้วว่าแสงสีฟ้าส่งผลเสียต่อดวงตาอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงได้ก็ควรลดปริมาณการใช้สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์จอ LED ในช่วงก่อนนอนนะครับ ส่วนใครที่จำเป็นต้องใช้ ก็ควรพักสายตาอย่างน้อย 15 นาที มองไปไกลๆ เพื่อให้ดวงตาได้ผ่อนคลาย จากนั้นจึงเริ่มทำงานใหม่นะครับ รักษาสุขภาพด้วยนะทุกๆ คน^^
สำหรับบทความในวันนี้ยาวมากอย่างที่บอก แต่อยากให้ทุกคนได้อ่านนะครับ หวังว่าจะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแสงสีฟ้าไปกันพอสมควร ส่วนในครั้งหน้าผมจะหาบทความน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์อะไรมาให้อ่านอีกนั้น อย่าลืมติดตามได้ที่ Extreme PC หรือรีเควสเรื่องมาก็ได้นะครับ ตอนนี้ผมขอตัวไปอ่านหนังสือก่อนละ สวัสดีครับ
You must be logged in to post a comment.