อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เกือบทุกชิ้น สามารถสร้างความร้อนออกมาได้ ยิ่งทำงานหนักความร้อนก็ยิ่งมากขึ้น สำหรับเกมเมอร์อย่างเราๆ การ์ดจอถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นเกม ยิ่งเกมมีกราฟิกระดับเทพ การ์ดจอก็ต้องเทพ ประมวลผลเยอะ ความร้อนจะยิ่งเยอะตาม
ดังนั้น ระบบระบายความร้อนของการ์ดจอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันมีระบบระบายความร้อนอยู่มากมายหลายแบบ ทั้งนี้ในการเลือกใช้แบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และงบประมาณเป็นสำคัญ
ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าระบบระบายความร้อนของการ์ดจอ ที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ มีอะไรกันบ้าง
1. Passive Cooling
เป็นระบบระบายความร้อนพื้นฐานที่สุดของการ์ดจอ สามารถพบได้กับการ์ดจอเกือบทุกรุ่น ซึ่งระบบระบายความร้อนแบบ Passive Cooling จะใช้โลหะที่สามารถนำความร้อนได้ดี เช่น ทองแดง เพื่อดูดความร้อนออกจากตัวชิป และแรมที่อยู่บนแผงวงจร แล้วให้พัดลมจากเคสคอมพิวเตอร์ช่วยพาความร้อนออกไป
สำหรับการ์ดจอราคาถูก จะมีการนำ Passive Cooling มาใช้เดี่ยวๆ โดยออกแบบให้แผ่นโลหะมีลักษณะเหมือนใบมีด เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อน ข้อดีของการใช้ Passive Cooling คือ ความเงียบ เพราะมันไม่มีอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียง เช่น พัดลม เป็นต้น
แต่ข้อเสียก็มีนะ คือ มันระบายความร้อนไม่ค่อยดีเท่าไร หรือระบายได้ช้า ดังนั้นการ์ดจอระดับกลางไปถึงระดับสูงเลยไม่นิยมใช้ การ์ดจอที่ใช้ระบบระบายความร้อนประเภทนี้ จะนิยมใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือ HTPC
2. Active Cooling
เป็นระบบระบายความร้อนที่นิยมใช้มาที่สุดในปัจจุบัน พบได้ในการ์ดจอระดับกลางถึงระดับสูง (ระดับล่างบางรุ่นก็ใช้นะ) ลักษณะของระบบนี้ จะมีการนำแผ่นโลหะเหมือนกับ Passive Cooling ครอบอยู่บนแผงวงจร จากนั้นจึงครอบทับด้วยพัดลมอีกที ซึ่งพัดลมจะช่วยเพิ่มความเย็นให้กับแผ่นโลหะ และทำให้มันสามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น
ระบบระบายความร้อนประเภทนี้ จึงดีกว่า Passive Cooling ธรรมดา แถวบางครั้งเราเห็นว่าการ์ดจอจะมีพัดลม 2-3 ใบพัด ซึ่งโดยปกติยิ่งพัดลมมาก การระบายความร้อนก็จะดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ การ์ดแบบ Active Coling โดยส่วนใหญ่ สามารถปรับระดับความเร็วของพัดลมได้เอง (หรือเราปรับให้ได้) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อน โดยเฉพาะตอนทำ Overclock ครับ
ข้อเสียของการใช้ระบบระบายความร้อนแบบ Active Cooling คือ เสียงดังครับ ยิ่งพัดลมหมุนเร็ว แรง เสียงยิ่งดัง อีกทั้งยังอาจเกิดเหตุการณ์ใบพัดไม่ทำงานก็มีครับ
3. Hybrid Cooling
เป็นการพัฒนาระบบระบายความร้อนไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการใช้ของเหลวเข้ามาช่วย ระบบระบายความร้อนแบบ Hybrid Cooling จะมีการวางหน้าสัมผัสของส่วนที่เป็นจุดให้น้ำหรือของเหลววิ่งผ่าน ไว้ในบริเวณชิปประมวลผล น้ำที่รับความร้อนแล้ว จะวิ่งออกไปยังส่วนกักเก็บบริเวณพัดลมที่ติดให้พัดลมร้อนออกจากเคส เมื่อน้ำเย็นขึ้นก็จะไหลกลับไปยังส่วนสัมผัสดังเดิมครับ
ทั้งนี้ ในส่วนของแรมบนแผงวงจร จะไม่ได้อยุ่ในส่วนของการระบายความร้อนด้วยน้ำ ดังนั้น จึงมีการใช้พัดลมระบายความร้อน เหมือนกับ Active Cooling เข้าช่วยครับ ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนจึงดีขึ้นกว่า 2 ประเภทแรก แต่ค่าใช้จ่ายมันก็เพิ่มขึ้นด้วยนะ
4. Water Block Cooling
มาถึงระบบระบายความร้อนประเภทสุดท้าย ถือว่าเป็นระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในขณะนี้ นั่นคือ Water Block Cooling จะมีการทำบล็อกให้น้ำไหลผ่าน บนแผ่นทองแดงที่แปะอยู่บนแผงวงจร ครอบคลุมพื้นที่ชิ้นส่วนทั้งหมด ทำให้การระบายความร้อนสามารถทำได้ทั้งส่วนชิปประมวลผลและแรม
สำหรับบล็อกนั้น ทางผู้ผลิตการ์ดจอจะทำไว้ให้แล้ว หน้าที่ของเราคือต้องไปหาส่วนประกอบอื่นๆ ที่สามารถต่อเข้ากับบล็อกของเราได้ (มันมีมาตรฐานของบล็อกอยู่นะครับ สามารถหาซื้อได้ง่ายไม่ยุ่งยาก)
ขอบคุณรูปภาพจาก www.ekwb.com
การทำงานจะเริ่มที่ปั๊มป์ดึงน้ำออกจากแทงก์ แล้วส่งไปยังบล็อกของการ์ดจอ น้ำที่ผ่านบล็อกจะนำพาของเหลวไปยังพัดลมที่ติดแผงระบายความร้อน เพื่อนำความร้อนออกจากน้ำ สุดท้ายน้ำที่เย็นขึ้นก็จะกลับเข้าไปอยู่ในแทงก์ตามเดิมครับ
สำหรับระบบระบายความร้อน Water Block นี้ จะมีราคาสูงกว่าประเภทอื่น เนื่องจากเราจะต้องหาอุปกรณ์เสริมมาติดตั้งเอง ดังนั้น ระบบนี้จึงนิยมใช้กับการ์ดจอระดับเทพๆ ครับ
บทความในวันนี้ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้นะครับ ถ้ามีรายละเอียดผิดตกบกพร่องตรงไหน ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะ แล้วก็ขอฝากบทความชุด “เรื่องน่ารู้ของการ์ดจอ” ด้วยนะครับ จะพยายามนำเนื้อหาสาระมาให้ได้อ่านกันนะครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Graphicscardhub
You must be logged in to post a comment.