วันนี้เรามาวิชาการกันสักเล็กน้อยนะครับ ด้วยช่วงนี้ COVID-19 ยังคงระบาดอย่างหนัก ทำให้บางคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอาจจะต้องตรวจหาเชื้อในร่างกายด้วยตนเองผ่านชุดตรวจ Rapid Test ซึ่งแอดก็มีคำแนะนำดี ๆ ในการใช้งาน และชนิดของ Rapid Test เพื่อน ๆ จะได้หาซื้อมาใช้ได้ถูกต้องนะครับ
สำหรับชุดตรวจ Rapid Test จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือแบบ Rapid Antigen Test และแบบ Rapid Antibody Test ถ้าให้เรียกแบบง่าย ๆ เลยมันคือ ชุดตรวจหาเชื้อ และชุดตรวจภูมิคุ้มกันตามลำดับครับ
Rapid Antibody Test
Rapid Antibody Test คือชุดตรวจภูมิคุ้มกัน ตามชื่อเลยนะครับ มันใช้ตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือดต่อ COVID-19 (ดังนั้น เราจะต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดลงไปในหลุมบนชุดตรวจ) ถึงแม้มันจะให้ผลบวกซึ่งแปลว่ามีภูมิคุ้มกัน แต่ภูมิคุ้มกันสามารถขึ้นได้ทั้งตอนที่ติดเชื้อ และหลังจากรักษาหายแล้ว ดังนั้น ทาง CDC จึงไม่แนะนำให้ใช้ชุดตรวจภูมิคุ้มกันในการวินิจฉัยโรค
จากภาพเป็นชุดตรวจภูมิคุ้มกันของพี่นพ Extreme IT (ชุดทางขวามือ) ซึ่งเป็นการตรวจหลังจากรักษา COVID-19 จนหายดีแล้ว จะเห็นได้ว่าในตำแหน่ง IgG ซึ่งเป็นแอนติบอดีชนิดที่สร้างขึ้นในการตอบสนองต่อการติดเชื้อ จะขึ้นแถบค่อนข้างชัดเจนกว่า IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่จะสร้างขึ้นในช่วงแรกของการติดเชื้อแล้วลดลงในภายหลัง ดังนั้น จะเห็นว่าแม้เราจะรักษาจนหายดีแล้ว ชุดตรวจภูมิคุ้มกันก็ยังให้ผลบวก จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการคัดกรอง COVID-19
Rapid Antigen Test
Rapid Antigen Test คือชุดตรวจหาเชื้อ (Antigen-แอนติเจน) ในร่างกาย ผลลัพธ์ที่ได้จากชุดตรวจนี้จะพอบอกได้ว่าคุณน่าจะมีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือไม่ ที่ผมใช้คำว่าน่าจะเพราะถึงจะได้ผลบวกก็ตาม คุณก็อาจจะต้องคอนเฟิร์มด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยกระบวนการ RT-PCR หรือทำการติดตามการตรวจหาเชื้อด้วย Rapid Test ซ้ำ เพื่อยืนยันว่ามันไม่ใช่ผลบวกลวง (False Positive)
สำหรับชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ผมได้มานั้นมีราคาชุดละ 690 บาท (แพงมากกกก) ในเซตจะประกอบด้วย แป้นรายงานผล, ไม้ Swab และสารละลายบัฟเฟอร์ (เรียงจากซ้ายไปขวา)
วิธีการตรวจหาเชื้อโดยการ Swab ทำได้ด้วยกัน 2 วิธี คือ Nasal Swab และ Nasopharyngeal Swab อันนี้ต้องอ่านชุดตรวจให้ดีว่าเป็นแบบไหน ถ้าไม้ Swab ยาวหน่อย จะเป็นแบบ Nasopharyngeal Swab แต่ถ้าไม้สั้นจะเป็นแบบ Nasal Swab ซึ่งชุดตรวจที่ผมซื้อมานั้นเป็นแบบ Nasal Swab ครับ
วิธีการทำคือให้เราแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย แล้วสอดไม้ Swab เข้ามาให้อยู่ในแนวเดียวกับโพรงจมูก หากเป็นการตรวจแบบ Nasal Swab ควรทำมุมยกขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้ปลายแตะที่ส่วนของ Mid Turbinate ในจมูก โดยสอดเข้าไปสัก 2 เซนติเมตรจะรู้สึกเหมือนชนอะไรสักอย่าง ให้เราหยุดแล้วหมุนไม้ทวนเข็มและตามเข็มอย่างละ 5 ครั้ง จากนั้นทำที่โพรงจมูกอีกข้างเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยเชื่อว่าการทำ Nasopharyngeal Swab จะได้แอนติเจนของไวรัสมากกว่า ดังนั้น หากเป็นไปได้ให้เก็บตัวอย่างด้วยการทำ Nasopharyngeal Swab ครับ ส่วนวิธีการทำจะคล้าย ๆ กับ Nasal Swab แต่เราไม่ต้องยกมุมของไม้ขึ้นเลย ให้ไม้อยู่ในแนวราบตลอดกับโพรงจมูกแล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปลึก ๆ ราว 5-6 เซนติเมตร จนเรารู้สึกเหมือนชนกับอะไรสักอย่าง ให้เราหยุดแล้วหมุนไม้ทวนเข็มและตามเข็มอย่างละ 5 ครั้ง จากนั้นทำที่โพรงจมูกอีกข้างเช่นเดียวกัน
เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว เปิดขวดบัฟเฟอร์แล้วนำไม้ Swab ไปจุ่ม ผมจะบีบที่ก้นขวดให้ของเหลวมันผสมกับปลายไม้ Swab ได้ดีขึ้น จากนั้นนำฝาจุกมาปิด แล้วหยดบัฟเฟอร์ลงในแป้นอ่านผล รอให้บัฟเฟอร์เคลื่อนไปจนสุดแล้วรออ่านผล (จริง ๆ ควรทิ้งไว้ 15 นาทีเพื่อให้แถบอ่านผลมันชัดเจนขึ้นด้วยครับ)
หากได้ผลบวก จะต้องขึ้นทั้งแถบ T และ C ในขณะที่ผลลบจะขึ้นแค่แถบ C แถบเดียว แต่ในกรณีที่ไม่ขึ้นแถบ C หรือขึ้นแถบ T แต่ไม่ขึ้นแถบ C แสดงว่าชุดตรวจนั้นมีปัญหาควรเปลี่ยนครับ
แนวทางการดำเนินการหลังทราบผล Rapid Antigen Test จากกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 20 กรกฎาคม 2564
กรณีที่ขึ้นผลเป็นบวก (Positive) ให้โทรประสานงาน 1330 กับทาง สปสช. ในทันที และปฏิบัติตนเหมือนผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรงมากสามารถติดต่อขอรับยาและรักษาตนเองอยู่บ้านแบบ Home Isolation ได้ครับ
กรณีที่ขึ้นผลเป็นลบ ต้องพิจารณาก่อนว่าเรามีประวัติที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ หากมีความเสี่ยงสูงควรกักตัวก่อน เพื่อรอการประเมินซ้ำด้วยชุดตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 3-5 วัน และปฏิบัติตนตามหลัก DMHT ส่วนในกรณีที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่มีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตนตามหลัก DMHT
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาการป่วยและมีแนวโน้มว่าอาจเป็น COVID-19 สามารถตรวจหาเชื้อซ้ำได้ทันทีครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์กรมการแพทย์เลยครับ
สุดท้ายขอฝากหลักการปฏิบัติตน DMHT ไว้ดังนี้
D – Distancing รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อป้องกันละอองฟุ้งในขณะพูดคุย
M – Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้าจะให้ดีคือใส่หน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าเพื่อความกระชับและแน่นหนา
H – Hand Washing หมั่นล้างมือด้วยสบู่หากทำได้ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้ง เมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม
T – Testing การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเสมอ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะหรือร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ
You must be logged in to post a comment.