เวลาที่เราเลือกซื้อการ์ดจอเนี่ย เราอาจเคยได้ยินใครบางคนบอกว่า “ซื้อการ์ดที่มันมี CUDA Core เยอะๆ สิ” หรือไม่ก็ “Stream Processor ยิ่งเยอะยิ่งดีนะ” ถ้าใครยังงงๆ กับคำพวกนี้อยู่ล่ะก็ วันนี้เราจะมาค้นหาคำตอบแบบง่ายๆ กันนะครับ
ข้อมูลส่วนหนึ่งผมนำมาจากคุณ Akshat Verma ซึ่งได้นำเสนอความรู้พื้นฐานของการ์ดจอ ผมเห็นว่าน่าสนใจดีเลยนำมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน และวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ Stream Processor และ CUDA Core กันนะครับ
Stream Processor และ CUDA Core เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของชิปประมวลผลภาพ โดยมีหน้าที่ในการประมวลผลเหมือนกับซีพียูเลยล่ะครับ ผมขอเรียกรวมๆ ว่า Processor Core ละกัน แต่ทั้งนี้เราคงเห็นว่าซีพียูมันมีแค่ 2 Core บ้าง 4 Core บ้าง ทำไมการ์ดจอมันมีเป็นร้อยเป็นพัน
นั่นเป็นเพราะว่า Processor Core ในการ์ดจอมันช้ากว่าซีพียูยังไงล่ะ แล้วมันก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำงานแบบ Multi-tasking ด้วย ผู้ผลิตชิปประมวลผลภาพเลยจับยัดใส่ให้เยอะๆ เข้าไว้ เพื่อจะได้ช่วยกันประมวลผลนั่นเอง ดังนั้น การ์ดจอที่มี Processor Core เยอะๆ มันเลยมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีกว่า แรงกว่านั่นเอง
แล้ว Stream Processor และ CUDA Core มันคืออะไร? มันก็คือ Processor Core ทั้งคู่นั่นแหละ เพียงแต่ว่า CUDA Core จะเป็นชื่อที่ Nvidia ใช้ ส่วน Stream Processor จะเป็นของทางฝั่ง AMD แม้จะเป็น Processor Core เหมือนกัน มันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่เยอะเลยครับ
ความแตกต่างของ Stream Processor และ CUDA Core ก็เหมือนกับซีพียูที่อยู่ต่างค่ายกัน การประมวลผลของ Processor Core จะเกิดขึ้นบนสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน มีการเรียกใช้คำสั่งต่างกัน โครงสร้างภายในต่างกัน ทำให้มันมีประสิทธิภาพต่างกัน ไม่อาจเทียบกันได้ครับ
และนั่นทำให้ Stream Processor ไม่เท่ากับ CUDA Core
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จากวิดีโอช่อง Testing Games จาก YouTube ได้แสดงให้เห็นผล Benchmark ของ AMD RX 560 ที่มี Stream Processor 1024 หน่วย บนสัญญาณนาฬิกา 1175 MHz และ Nvidia GTX 1050 Ti ที่มี CUDA Core 768 หน่วย บนสัญญาณนาฬิกา 1290 MHz (พยายามหาที่มีค่าใกล้เคียงกันที่สุดมาให้นะครับ) ทั้งคู่มีแรม 4 GB บัส 128 บิต
ผลที่ได้พบว่า GTX 1050 Ti ให้คะแนนสูงกว่า RX 560 ในทุกเกม ทั้งที่ RX 560 มี Steam Processor มากกว่าถึง 300 หน่วย อย่างไรก็ตาม ราคาของ RX 560 จะถูกกว่า GTX 1050 Ti อยู่ประมาณ 1,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อการ์ดจอมาใช้นะครับ
ก่อนจบบทความนี้ ยังไงผมก็ขอฝากบทความชุด เรื่องน่ารู้ของการ์ดจอ ไว้ด้วยนะครับ บทความนี้เป็นบทความแรกของชุดนี้นะครับ อย่าลืมติดตามบทความต่อๆ ไปกันด้วยนะ ผมจะนำเนื้อหาสาระน่ารู้มานำเสนออีกเรื่อยๆ
ส่วนใครที่กำลังรอบทความประวัติการ์ดจอ AMD อดใจรอกันนิดนึง เดี๋ยววันนี้สอบเสร็จแล้วจะมาจัดการให้ตามคำเรียกร้องนะครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://graphicscardhub.com
You must be logged in to post a comment.