จากหัวเรื่องผมไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะ ELIZA ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบจิตใจ (หลอกลวง) มนุษย์ ถึงขนาดทำให้นักจิตบำบัดยังหลงเชื่อว่ามันคือ AI ที่สามารถบำบัดจิตได้จริง ๆ และเรื่องราวของมันจะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามได้เลยใน Extreme History ครับ
จุดเริ่มต้นของ ELIZA
ELIZA ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1960 โดย Joseph Weizenbaum โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า “การสื่อสารระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร เป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้ง” จากจุดนี้เราก็น่าจะเห็นภาพได้ว่า Weizenbaum ไม่ได้ต้องการสร้าง AI เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์จริง ๆ แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการคุยกับ AI มันไม่ได้ประโยชน์อะไรขนาดนั้น
Weizenbaum ออกแบบให้ ELIZA อยู่ในรูปแบบ Chatbot ฟีลเดียวกับ ChatGPT ที่เราสามารถพิมพ์คำถามอะไรไปก็ได้ แล้วมันก็จะตอบโต้ตามความเหมาะสม
หลายคนงงล่ะสิว่าเทคโนโลยีในยุค 1960 มันถึงขั้นสร้าง AI Chatbot กันได้ด้วยเหรอ? ใช่ครับ มันทำไม่ได้ขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ELIZA ก็ไม่ใช่ Chatbot ที่ฉลาดอะไร หากแต่เป็นสคริปต์ที่เขียนไว้เพื่อดัดแปลงข้อความบางส่วนที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามาให้เท่านั้นเองครับ
สคริปต์ DOCTOR และกลไกการทำงานสุดล้ำ
ELIZA ถูกพัฒนาด้วยสคริปต์ DOCTOR ที่ Weizenbaum คิดค้นขึ้นมา โดยเขาอ้างอิงการออกแบบสคริปต์นี้มาจากแนวทางการบำบัดผู้ป่วยทางจิตแบบ non-directive ของนักจิตวิทยานามว่า Carl Rogers เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เดี๋ยวผมขออธิบายหลักการบำบัดก่อน แล้วเราค่อยคุยกันเรื่องสคริปต์อีกทีครับ
หลักการบำบัดแบบ non-directive จะเป็นการบำบัด จะยึดที่ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก โดย Rogers มองว่าสิ่งที่บำบัดผู้ป่วยได้ดีที่สุด คือ ตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้นคำถามที่ใช้ในการบำบัดนั้น จะเป็นคำถามที่สะท้อนกลับไปให้ผู้ป่วยได้คิดตาม จนผู้ป่วยเริ่มปรับความเข้าใจกับสภาพจิตใจของตนเอง และสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาหรือทางออกได้ด้วยตนเอง
และนี่ก็นำไปสู่การพัฒนาสคริปต์ DOCTOR โดยตัวสคริปต์จะประเมินน้ำหนักของข้อความที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป แล้วนำข้อความที่มีน้ำหนักมากที่สุดในประโยคมาร้อยเรียงใหม่ ให้กลายเป็นคำถามหรือคำตอบที่สะท้อนให้ผู้ใช้ได้คิดตาม ยกตัวอย่างตามภาพด้านล่าง
ELIZA ให้น้ำหนักคำหรือวลีในประโยคต่างกันไป ได้แก่ คำสรรพนามหรือคำนามให้ ในที่นี้คือ I = ฉัน ให้ 1, คำกริยา want to = ต้องการ ให้ 2 และ run away from my parents = หนีไปจากครอบครัวของฉัน ให้ 3
จากนั้นจะนำมาร้อยเรียงใหม่ ด้วยการเปลี่ยนสรรพนาม I เป็น you, นำกริยามาใช้ในการตั้งคำถาม และนำคำสำคัญที่มีน้ำหนักที่สุดมาใช้เป็นคีย์หลักในการตั้งคำถามครับ โดยจะเห็นว่าคีย์หลักจะไม่โดนเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราลองไปถาม ELIZA มันก็จะใช้แพทเทิร์นนี้ไปเรื่อย ๆ
พูดง่าย ๆ คือมันจับคีย์เวิร์ดที่เราป้อนลงไป แล้วถามเรากลับมาอีกทีหนึ่ง หรือในบางกรณีมันจะมีชุดคำที่เตรียมไว้สำหรับคำถามหรือคำทักทายง่าย ๆ ด้วยครับ
การบำบัดกลายเป็นความคลั่งไคล้
หลังจากพัฒนา ELIZA เสร็จแล้ว Weizenbaum ก็ได้มอบหมายงานให้ ELIZA ไปเป็นนักจิตบำบัดปลอม ๆ เพื่อทดสอบเรื่องที่เขาสันนิษฐานไว้ตั้งแต่แรกว่าการสื่อสารของมนุษย์และเครื่องจักรเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น
Weizenbaum ให้อาสาสมัครทดลองพูดคุยกับ ELIZA ผลปรากฏว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่คิดว่า ELIZA สามารถพูดตอบโต้กับพวกเขาได้จริง ๆ และมีจิตใจที่เชื่อมถึงกัน แม้กระทั่งให้นักจิตวิทยาเข้ามานั่งคุยกับ ELIZA ถึงกับยกย่องให้มันคือนักจิตบำบัดที่ควรนำไปให้ผู้ป่วยทางจิตทดลองใช้กันเลยทีเดียว!!
ยังไม่จบแค่นั้นนะครับ Weizenbaum ได้ให้เลขานุการของตนเองลองคุยกับ ELIZA ด้วย ซึ่งปรากฏว่าเธอคลั่งไคล้ ELIZA มาก ใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งคุยกับ Chatbot ที่ไม่เข้าใจถึงอารมณ์มนุษย์ด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือช่วงหลัง ๆ ที่เลขาฯ จะพูดคุยกับ ELIZA เธอได้ขอให้ Weizenbaum ออกจากห้องไปก่อนจนกว่าเธอจะพูดคุยเสร็จ เพราะเธอต้องการความเป็นส่วนตัวในการปรับทุกข์กับ ELIZA
สิ่งนี้ใช้เป็นข้อพิสูจน์ถึงภาวะหลอน (Illusion) ที่ AI มีต่อมนุษย์เป็นครั้งแรก และเกิดเป็นคำศัพท์ที่เรียกว่า ELIZA Effect ซึ่งหมายถึงความเข้าใจผิดที่มนุษย์คิดว่า AI มีความคิดความเข้าใจจริง ๆ (ทั้งที่มันไม่ได้มีความคิดอะไรเลย) และทั้งหมดนี้ก็ตอบโจทย์ข้อสันนิษฐานของ Weizenbaum ที่เขากล่าวไว้ตั้งแต่แรก
สำหรับใครที่อยากลองเล่น ELIZA สามารถเข้าไปลองพูดคุยกับมันได้ที่ ลิงก์นี้ แต่อย่าลืมนะครับว่ามันไม่ได้มีความคิดอะไร แค่สะท้อนคำพูดของเราเท่านั้นเอง
You must be logged in to post a comment.