ในสมัยก่อนชิปกราฟฟิกหรือการ์ดจอไม่ได้มีแค่ค่าย NVIDIA หรือ ATI (AMD ปัจจุบัน) แต่ยังมีอีกหลายเจ้าที่ทำการ์ดจอออกมาแข่งกัน และการ์ดจอที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้แบรนด์ 3dfx นั่นเองครับ
จุดเริ่มต้นอันสวยงาม
ในอดีตวงการเกมคอมพิวเตอร์มักออกแบบให้อยู่ในรูปแบบ 2D เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความสามารถของการประมวลผล 3D ของชิปกราฟฟิกยังไม่แรงพอ แถมการเล่นเกม 3D โดยใช้ซีพียูก็ให้ภาพที่ไม่สวยงามและได้เฟรมเรตต่ำ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1994 แบรนด์ 3dfx ได้ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรก พร้อมส่งการ์ดจอ Voodoo 1 ออกมาในวันที่ 5 สิงหาคม 1996
สำหรับสเปคของการ์ดจอ Voodoo 1 จะมีความเร็วอยู่ที่ 50MHz และแรม 4MB ซึ่งในตอนนั้นถือว่าแรงมาก ๆ เลยนะครับ เมื่อเทียบประสิทธิภาพในการเล่นเกม Quake บนความละเอียด 320×200 pixel การ์ดจอ Voodoo 1 สามารถทำเฟรมเรตได้สูงถึง 70 fps เมื่อเทียบกับการใช้ซีพียู Pentium 200 MMX ที่ทำเฟรมเรตได้ราว 40 fps เท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้การ์ดจอเพื่อประมวลผล 3D สำหรับการเล่นเกมครับ
แต่เบื้องหลังที่ทำให้ Voodoo 1 ประสบความสำเร็จคือ GLide – API ของ 3dfx ถอดแบบมาจาก OpenGL (คล้ายกับ Mantle ของ Apple) ที่ทางผู้พัฒนาได้ปรับแต่งให้มันเข้ากันได้ดีกับการ์ดจอ Voodoo โดยเฉพาะ ดังนั้นหากผู้พัฒนาเกมค่ายไหนเลือก GLide ไปใช้ เกมนั้นจะเข้ากันได้ดีกับการ์ดจอ Voodoo อย่างมากขนาดที่ว่าประสิทธิภาพทิ้งห่างจากการ์ดจอค่ายอื่น ๆ ไปเลยทีเดียว
เน้น 3D มากไปหรือเปล่า
ทว่า จุดอ่อนสำคัญของการ์ดจอ Voodoo ยุคแรก ๆ คือการรองรับเกม 2D นี่แหละ ด้วยความที่การ์ดมันเน้นเฉพาะการประมวลผล 3D เท่านั้น ! เพราะฉะนั้นหากผู้ใช้ต้องการเล่นเกม 2D อย่างราบลื่น จะต้องซื้อการ์ด 2D มาต่อแยกอีกสล็อตหนึ่งแล้วเชื่อมด้วยสายส่งสัญญาณ ทำให้การประมวลผลเกม 2D ไม่ได้มีประสิทธิภาพโดดเด่น เพราะมันเกิดความล่าช้าในการประมวลผลจากการส่งข้อมูลผ่านสายสัญญาณนั่นเองครับ
ถึงกระนั้นทาง 3dfx ก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการออกการ์ดจอ Voodoo Rush ที่ประกอบด้วยชิป 3D และ 2D อยู่ในแผงวงจรเดียวกัน แต่ ! ประสิทธิภาพของมันดันแย่กว่า Voodoo 1 เสียอีก เนื่องจากว่าชิป 3D และ 2D ดันแชร์แบนด์วิดธ์กัน ส่งผลให้ความแรงลดลงราว 10-20% เจ้า Voodoo Rush จึงถูกแทนที่ด้วย Voodoo 2 อย่างรวดเร็ว
กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง
การ์ดรุ่นถัดมา Voodoo 2 แม้ชิป 3D และ 2D ยังคงแยกกันเช่นเดิม แต่ถูกเพิ่มประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีกว่า Voodoo Rush แต่สิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการการ์ดจอและเกมอีกครั้ง คือชิปประมวลผลตัวที่ 3 – Multitexturing ช่วยให้การเล่นเกมที่รองรับ Multitexturing ดีขึ้นถึง 4 เท่า
สเปคของ Voodoo 2 ตัวชิป 3D มีความเร็วอยู่ที่ 90 MHz พร้อมแรมชนิด EDO 12MB จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถในการเชื่อมต่อแบบ SLI โดยนำการ์ดจอ 2 ตัวมาใช้งานพร้อมกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมให้แรงขึ้น พร้อมรองรับการแสดงผลที่ความละเอียด 1024×768 ด้วย
แต่ด้วยราคาและประสิทธิภาพของ Voodoo 1 และ Voodoo 2 เน้นเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานระดับฮาร์ดคอร์ ทาง 3dfx จึงต้องการเพิ่มไลน์สินค้าสำหรับผู้ใช้ระดับเมนสตรีม ด้วยการเปิดตัวการ์ดจอ Voodoo Banshee ในปลายปี 1998 โดยเป็นการ์ดที่ปรับลดสเปคจาก Voodoo 2 ให้เหลือชิป Multitexturing เพียง 1 unit แต่ก็ถูกเพิ่มความแรงให้กับชิป 3D กลายเป็น 100 MHz
Voodoo Banshee ได้ชื่อว่ามีความคุ้มค่าในการใช้งานเพื่อกราฟฟิก 3D/2D โดยเฉพาะ 2D ที่เอาชนะคู่แข่งทุกรายทั้ง Matrox, NVIDIA และ ATi
เข้าสู่ภาวะถดถอย
แต่หลังจากนั้นดูเหมือนเทคโนโลยีเริ่มเข้าสู่ทางตัน ด้วยการเปิดตัวการ์ดจอ Voodoo 3 ในปี 1999 ซึ่งไม่ได้มีความน่าสนใจเหมือนตอน Voodoo 1 และ Voodoo 2 ที่เน้นเทคโนโลยีสดใหม่ในตลาด แต่ Voodoo 3 กลายเป็นการ์ดที่ปรับปรุงจาก Banshee โดยการเพิ่มชิป Multitexturing เข้าไปอีก 1 ตัว (คล้ายใน Voodoo 2) ถึงกระนั้นมันก็มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกนิดหน่อย ได้แก่ ชิปกราฟฟิก 2D 128-bit, ไปป์ไลน์ 32-bit แบบ Dual, แรม 16MB, รองรับภาพที่ความละเอียดสูงสุด 2046×1536 และมีสล็อตทั้ง PCI และ AGP ให้เลือก
ดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใช่ไหมครับ มันก็ใช่สำหรับการ์ดจอ 3dfx แต่ไม่ใช่ของใหม่ในตลาด เพราะคู่แข่งเองก็มีเทคโนโลยีเหล่านี้เหมือนกันครับ ถึงแม้มันจะแรงกว่าคู่แข่งจริง (เพียงนิดเดียว) แต่สิ่งที่สำคัญที่ Voodoo 3 ยังขาดอยู่และดันเป็นจุดสำคัญ คือการรองรับช่วงสี 32-bit นั่นเองครับ
ทั้งนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่า Voodoo 3 ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ 3dfx ถึงจุดจบ แต่มีความเกี่ยวข้องไปถึงการปรับรูปแบบการวางจำหน่ายของบริษัทด้วย
เนื่องจากว่าในช่วงที่ Voodoo 3 วางจำหน่าย 3dfx เข้าซื้อบริษัท STB Technologies ซึ่งเป็นบริษัทผลิตการ์ดจอรายใหญ่ในขณะนั้น (คล้ายกับ ASUS, MSI ที่รับชิปจาก NVIDIA/AMD มาทำการ์ดจอขาย) การเข้าซื้อครั้งนี้ 3dfx เชื่อว่ามันช่วยเพิ่มกำไรให้กับตนเองได้ เป็นต้นว่าผลิตชิปเอง ทำการ์ดจอเอง วางขายเอง รวมถึงส่งการ์ดจอไปขายแบบ OEM แต่กลายเป็นการบีบให้การ์ดจอ 3dfx มีตลาดแคบลงไปอีก
กรณีที่ 2 คือการตัดสินใจของ Sega ในการเลือกใช้การ์ดจอ PowerVR จาก NEC เพื่อผลิตคอนโซลรุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง Sega เคยดีลกับ 3dfx ไว้ว่าจะขอใช้การ์ดจอ Voodoo แต่ไป ๆ มา ๆ ทาง Sega ยกเลิกสัญญาโดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ ทำให้ 3dfx ไม่สามารถทำกำไรจากคอนโซลด้วย ถึงจะไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลให้ 3dfx ล้มละลาย แต่มันก็มีผลกระทบในแง่ของเม็ดเงินที่สูญเสียไปพอสมควรครับ
ประเด็นสุดท้ายคือ Direct3D หาคุณจำได้ในช่วงแรกของการเปิดตัวการ์ดจอ Voodoo ทาง 3dfx ได้นำเสนอ Glide API ให้นักพัฒฯเกมได้เลือกใช้ ซึ่ง API ดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพของการ์ดจอ Voodoo แต่ในเวลาต่อมาความนิยมใน Glide เริ่มลดน้อยลง ประกอบกับการมาถึงของ Ditec3D (DirectX) ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาเกมหันมาสร้างเกมจาก Direct3D จึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของ Voodoo โดยตรง ถึงจะเป็นการ์ดจอที่ออกมาทีหลังคู่แข่งอย่าง NVIDIA และ ATi แต่พอเจอเข้ากับ DirectX แล้วกลายเป็นว่าประสิทธิภาพต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ
Voodoo 4 และ Voodoo 5 การ์ดจอสุดท้ายก่อนการล้มละลาย
การ์ดจอ 2 รุ่นสุดท้ายนี้จะงง ๆ นิดหนึ่ง เพราะ Voodoo 5 ดันเปิดตัวออกมาก่อน โดยมีสาเหตุจากการพัฒนาที่ล่าช้าทำให้ NVIDIA ส่งการ์ดจอ GeForce 256 ที่มีประสิทธิภาพสูงลงมาในตลาด ทำให้ 3dfx ต้องเข็นการ์ดตัวใหม่ออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่า ชิปเดิมที่มีมันยังไม่แรงพอที่จะสู้คู่แข่งได้ จะแก้ปัญหายังไงน่ะเหรอ ? ก็ยัดมันลงสองตัวไปเลย !!
ใช่แล้วครับ การ์ดจอ Voodoo 5 5500 มาพร้อมกับชิปกราฟฟิก VSA-100 ทั้งหมด 2 ตัวบนแผงวงจรเดียวกัน (ดังนั้น เราจะเห็นว่าบนการ์ดจอจะมี 2 พัดลมวางอยู่ในตำแหน่งของชิปกราฟฟิก) โดยชิปแต่ละตัวมีความเร็ว 166 MHz และแรม 32MB (รวมเป็น 64MB) แน่นอนว่ามันแรงขึ้นครับ สามารถเอาชนะ GeForce 256 ได้ แต่ไม่นาน NVIDIA ก็ปล่อย GeForce 2 GTS และ ATi ปล่อย Radeon DDR ออกมา ซึ่ง Voodoo 5 5500 ไม่สามารถสู้ได้เหมือนเดิมครับ
นอกจากนี้ 3dfx ยังได้ปล่อยการ์ดจอรุ่นเล็กอย่าง Voodoo 4 4500 ที่มีชิป VSA-100 เพียงตัวเดียว จัดว่าเป็นการ์ดจอราคาถูกแข่งกับ GeForce 2 MX
ขณะนี้ 3dfx กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าที่มียอดขายลดลง ประกอบกับโดย NVIDIA ฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตรแล้ว 3dfx แพ้คดีจึงต้องจ่ายเงินค่าปรับ แถมตอนแรกว่าจะได้ส่งการ์ดจอให้กับคอนโซลชื่อดังอย่าง Xbox ได้ใช้งานแล้วแท้ ๆ แต่ Microsoft กลับยกเลิกแล้วใช้การ์ดจอจาก NVIDIA แทน
ในระหว่างนั้น 3dfx ได้เตรียมออกการ์ดจอ Voodoo 5 6000 ที่ใช้ชิป VSA-100 ถึง 4 ตัว พร้อมกับโฆษณาถึงประสิทธิภาพไว้ดิบดี แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ถูกนำออกมาวางจำหน่าย เพราะบริษัทหันไปพัฒนาการ์ดจอ Rampage mว่ากันว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมอีก ส่งผลให้แฟน ๆ ที่รอคอย Voodoo 5 6000 รู้สึกผิดหวังและยิ่งผลักดันให้พวกเขาหันไปใช้การ์ดจอของคู่แข่งมากขึ้นครับ
เมื่อไม่สามารถไปต่อได้จึงต้องหยุดเพียงเท่านี้ NVIDIA ได้เข้าซื้อ 3dfx ในเวลาต่อมา และได้ครอบครองเทคโนโลยี SLI ของบริษัทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นับว่ากลายเป็นแบรนด์ผู้ผลิตชิปกราฟฟิกแห่งประวัติศาสตร์ ที่เคยมอบเทคโนโลยีอันทันสมัยให้กับโลกของเกม 3D ในสมัยนั้นเลยนะครับ และก่อนจากกันไปนะครับ ภาพสุดท้ายนี้คือการ์ดจอ Rampage การ์ดจอที่ 3dfx หวังจะใช้ในการกอบกู้สถานการณ์อันย่ำแย่ของบริษัท แต่ไม่ทันได้เปิดตัวก็ต้องขอวางมือจากตลาดไปในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
You must be logged in to post a comment.