[Extreme History] “เป่าตลับ” วิธีแก้ปัญหาเกมเปิดไม่ติดของเด็กยุค 90s แต่มันช่วยได้จริงเหรอ ?

ต้องบอกว่าในยุค 90s และต้นปี 2000 เด็ก, วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ในเวลานั้น น่าจะมีคอนโซลของ Nintendo เป็นของตนเอง หรือน่าจะเคยเล่นผ่านมือผ่านตากันมาบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นความเชื่อกันจนถึงทุกวันนี้คือ “ถ้าเกมเปิดไม่ติด ให้เป่าตลับ”

จากนั้นใส่ตลับเกมกลับเข้าไปที่เครื่อง ถ้ายังไม่ติดให้ทำซ้ำ กระบวนการนี้แทบจะเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ จากทั่วทุกมุมโลก คำถามคือ เป่าตลับ ช่วยได้จริงเหรอ วันนี้เรามาย้อนเวลาหาคำตอบกันในบทความซีรีย์ Extreme History ครับ

Nintendo NES

สำหรับข้อมูลที่ผมนำมาอ้างอิง มันเป็นบทความจากต่างประเทศ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลับเกมของเครื่อง Nintendo NES ทั้งนี้ในบ้านเราอาจจะไม่ชินกับเครื่องนี้สักเท่าไร เพราะมันเป็นคอนโซลที่ขายฝั่งอเมริกา (ในบ้านเราน่าจะเป็นพวก Famicom นะครับ) โดยกลไกการทำงานของเครื่องมันจะแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยสักเล็กน้อย แต่ก็พอที่จะนำมาใช้อธิบายได้

Famicom

ทีนี้เรามาดูกลไกการทำงานของเครื่อง NES กันสักเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากทาง Nintendo ต้องการออกแบบตัวเครื่องให้มีความทันสมัย และไม่ซ้ำกับคู่แข่งอย่าง Atari จึงเปลี่ยนรูปแบบการใส่ตลับเกม จากเดิมที่ใส่โดยการกดลงบนแผงที่อยู่บนตัวเครื่อง กลายเป็นใส่เข้าไปในเครื่องเหมือนเครื่องเล่นเทปวิดีโอหรือพวกเทปคลาสเซ็ตต์อะไรประมาณนั้น

วิธีการใส่ตลับของ NES คือผู้เล่นต้องเปิดฝาบริเวณด้านหน้า จากนั้นใส่ตลับเกมลงปในช่องว่างขนาดใหญ่ กดลงไปเล็กน้อย จากนั้นปิดฝาลง ตัวเครื่องจะดึงเอาตัวตลับเข้าไปใส่ตรงแผงวงจรให้เองโดยอัตโนมัติ กลไกนี้เราเรียกว่า Zero Insertion Force (ZIF) แปลง่าย ๆ คือ การใส่อุปกรณ์ลงไปแบบไม่ต้องออกแรง

 

ปัญหามันอยู่ตรงกลไก ZIF นี่แหละ เพราะถ้านำไปใช้ในเครื่องเล่นวิดีโอมันไม่ค่อยมีปัญหาหรอก เนื่องจากพอใส่วิดีโอลงไปแล้วตัวเครื่องไม่จำเป็นต้องยัดวิดีโอลงบนวงจร เพียงแต่เปิดส่วนครอบแผ่นแม่เหล็กของวิดีโอออกให้สัมผัสกับหัวอ่านก็เป็นอันเสร็จสิ้น ทว่า เครื่อง NES มันต้องอาศัยแผงวงจรภายในเครื่องที่สามารถเด้งตัวขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้รับเข้ากับแผงวงจรในตลับอีกที พอใช้งานไปนาน ๆ ชิ้นสปริงที่ทำหน้าที่เด้งแผงวงจรในเครื่องก็เริ่มเสื่อมสภาพ การสัมผัสของแผงวงจรในตลับและในเครื่องทำได้ไม่ดี เราจึงเปิดเกมไม่ได้นั่นเองครับ

จริง ๆ เมื่อเทียบกับเครื่องที่ขายในโซนเอเชีย ซึ่งเป็นเครื่อง Famicom ผู้เล่นจะสามารถใส่ตลับเกมลงที่แผงวงจรด้านบนได้เลย แล้วออกแรงกดให้ตลับเกมเข้ารับกับแผงวงจร เท่านี้ก็เล่นเกมได้แล้ว การออกแบบของ Famicom ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานตลับเกมแบบนี้ ในขณะที่ NES เลือกใช้กลไกที่ไม่มีแรงกดจากภายนอก โอกาสในการสัมผัสกันของวงจรจึงลดลงได้

เกมเปิดไม่ติด แล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง ? ผมก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนต้นคิดไอเดียนี้ขึ้น แต่มีอยู่ว่า ถ้าเกมเปิดไม่ติดหรือเล่นแล้วมีปัญหา ให้ถอดตลับเกมออกมาแล้ว “เป่าลม” จากปากของเราอัดเข้าไปในร่องเปิดของตัวตลับ ซึ่งเป็นจุดที่มีแผงวงจรอยู่ เพราะเชื่อว่าเศษฝุ่นที่เกาะอยู่ตามแผงวงจรในตลับจะขัดขวางการสัมผัสกับแผงวงจรของตัวเครื่อง และถ้ายังเล่นไม่ได้อีก ให้ทำซ้ำเรื่อย ๆ จนกว่าจะเปิดติด

แอดชอบเป่าแบบนี้ อัดลมแรง ๆ

เรามาดูความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญกันสักเล็กน้อยนะครับ Frankie Viturello กล่าวว่าการเป่าลมลงไปในตลับเกมอาจจะช่วยไล่ฝุ่นที่เกาะอยู่ได้บ้าง แต่มันไม่ได้ช่วยเพิ่มการสัมผัสของแผงวงจรใด ๆ เลย หากแต่ยิ่งทำให้ตลับเกมมีอายุสั้นลงเรื่อย ๆ ลองนึกดูว่าทุกครั้งที่เราเป่าตลับเกม ไอน้ำ (และน้ำลาย) ปริมาณมากจะเข้าไปในแผงวงจร แล้วตัวแผงวงจรนี้มันมีส่วนประกอบเป็นทองแดง น้ำกับทองแดงร่วมกับออกซิเจนในอากาศมันคือหายนะเลยนะ เพราะมันจะทำให้เกิดคราบสนิมที่กำจัดได้ยาก และในที่สุดตลับเกมนั้นใช้ไม่ได้อย่างถาวร

นอกจากนี้ยังมีการทดลองอีกเล็กน้อย เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแผงวงจรในตลับเกมหลังผ่านการเป่าลมเป็นเวลานาน พบว่าตลับที่ผ่านการเป่ามีคราบสนิมเกิดขึ้นจริง ๆ ครับ และแน่นอนมันเอาไปใช้เล่นเกมไม่ได้แล้วด้วย

ตลับที่เป่าลมทุกวัน

อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า ไอน้ำจากปากเรานี่แหละ ช่วยเพิ่มการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า เพิ่มโอกาสในการเปิดตลับติดได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทาง Viturello บอกว่า มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย จริง ๆ มันน่าจะทำให้ไฟช็อตด้วยซ้ำสิ ถ้ามีน้ำอยู่เยอะขนาดนั้น อืมมม…ก็น่าคิดนะครับ

ตลับที่ไม่เคยผ่านการเป่าลม

อ้าววว ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมบางคนเป่าตลับเกมแล้วมันช่วยให้เปิดติดได้ล่ะ ? จำกฎของการเป่าตลับเกมที่ผมบอกไว้ข้างต้นได้ไหมครับ คือถ้าเป่าแล้วเปิดไม่ติดอีกให้ทำซ้ำได้ แสดงว่าจริง ๆ แล้วโอกาสในการเปิดติดน่าจะเกิดขึ้นแบบสุ่มเสียมากกว่า บางทีถ้าคุณใส่ตลับลงไปครั้งแรกแล้วเปิดไม่ติด พอถอดออกมาใส่ใหม่คุณอาจจะเปิดติดได้ในทันทีโดยไม่ต้องเป่าตลับก่อน

เพราะฉะนั้นคำตอบของปริศนานี้คือ การเป่าตลับไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในเปิดติด เนื่องจากการที่เปิดไม่ติดเป็นเพราะซ็อกเก็ตหลวมหรือสกปรกมาก (สำหรับเครื่อง Famicom) หรือสปริงเริ่มสึกหรอ (สำหรับเครื่อง NES) วิธีการแก้ไขที่เหมาะสมคือถอดตลับออกมาแล้วใส่ใหม่ ถ้าไม่ได้ให้ทำซ้ำ หรือถ้าอยากเป่าลมก็อาจจะใช้เป็นไดร์ลมเย็นหรือ Blower เป่าเบา ๆ น่าจะดีกว่านะครับ

ส่วนตัวผมเอง ตั้งแต่จำความได้ก็คือเป่าตลับมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไหน ๆ หรือแม้กระทั่งตลับเกมบอย บางครั้งเล่นไปแล้วมันเอ๋อ ๆ ผมก็ถอดออกมาเป่าตลอด พอตอนนี้ได้รู้แล้วว่าการเป่าไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากจะทำให้วงจรภายในเสียหายในระยะยาวครับ

แล้วเพื่อน ๆ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเป่าตลับยังไงบ้าง บอกเล่ากันได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.mentalfloss.com/article/12589/did-blowing-nintendo-cartridges-really-help

https://forum.digitpress.com/forum/showthread.php?117240-DP-MYTHBUSTERS-Blowing-in-NES-Cartridges

Related articles

“อุปกรณ์ IoT” “ภัยเงียบที่เสี่ยงคุกคามบ้านคุณ?

ในยุคที่เทคโนโลยี IoT เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น หลอดไฟอัจฉริยะ ลำโพงอัจฉริยะ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน...

MSI ก้าวสู่ยุคใหม่ Next-Level AI PC พร้อมเปิดตัวโน้ตบุ๊กขุมพลัง AMD Ryzen™ AI 300 Series

11 พฤศจิกายน 2567 MSI ประเทศไทย แบรนด์พรีเมียมโน้ตบุ๊กชั้นนำ ประกาศวางจำหน่ายโน้ตบุ๊ก AI ระดับสูงรุ่นใหม่ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผล...

[HOW TO] ใช้กล้องมือถือแทนเว็บแคม ภาพโคตรชัดแถมใช้ฟรี !! ด้วย Camo Studio

อยากได้เว็บแคมกล้องชัด ๆ แบบมือถือที่ใช้ ต้องลองแอปฯ นี้เลยครับ Camo Studio เปลี่ยนกล้องมือถือให้กลายเป็นเว็บแคม อัดคลิปทำคอนเทนต์บนคอมได้ง่าย...

STEELSERIES ยกทัพสินค้าใหม่เอาใจสายเกมเมอร์

เปิดตัว ARCTIS GAMEBUDS™ WIRELESS GAMING EARBUDS หูฟังไร้สายที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการเล่มเกม ดูหนัง ฟังเพลง...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า