กลับมาอีกครั้งกับบทความ Extreme History เอามาให้เพื่อน ๆ อ่านแก้เบื่อในวันหยุด ซึ่งเรื่องราวในวันนี้อาจจะไม่ได้ยาวมากนักแต่น่าสนใจแน่นอนสำหรับคนในแวดวงคอมพิวเตอร์ เพราะมันคือ Bug (บั๊ก) คอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลกครับ
บั๊กคอมพิวเตอร์ คืออะไร
บั๊กคอมพิวเตอร์หรือบั๊กซอฟต์แวร์ มักกล่าวถึงจุดผิดพลาดหรือช่องโหว่ ในโปรแกรมหรือฮาร์ดแวร์ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานผิดปกติ หรือได้ผลลัพธ์ไม่ตรงตามต้องการ
ส่วนมากเราจะเจอบั๊กซอฟต์แวร์กันบ่อย ซึ่งอาจเกิดการทำงานของโค้ดที่ไม่สมบูรณ์ หรือตัวโปรแกรมยังไม่ได้รับการพัฒนาโปรแกรมให้ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ได้ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลร้ายแรงจนข้อมูลในคอมได้รับความเสียหายได้เลยทีเดียว
แต่คำว่า Bug แปลว่า แมลง ไม่ใช่เหรอ เหตุใดจึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์หรือระบบได้ เรื่องนี้สามารถย้อนกลับไปในยุคแรก ๆ ของวงการคอมพิวเตอร์กับเครื่องเมนเฟรม Harvard Mark II Aiken Relay Calculator
บั๊กตัวแรก คือ แมลงของจริง !!
บั๊กคอมพิวเตอร์ตัวแรกที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์จริง ๆ คือ แมลง !! โดยได้รับการบันทึกไว้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1947 ลงเวลาไว้เมื่อ 15:45 น. ซึ่งถูกบรรยายไว้ว่าเป็นซากผีเสื้อกลางคืน ปีกกางออกมาได้ยาว 5 เซนติเมตร ถูกพบอยู่ในส่วนของ Relay หมายเลข 70 พาเนล F
เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้เมนเฟรม Harvard Mark II แสดงผลการคำนวณผิดพลาดออกมาเรื่อย ๆ จนทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นพากันหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องทำงานผิดปกติ จนไปพบเจ้าผีเสื้อกลางคืนตัวนี้
นักวิทยาศาสตร์ได้นำแมลงออกมาแปะลงบนสมุด Logbook (ใช่ครับ มันเป็นสมุดจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ ก่อนมี Event viewer) แล้วเขียนบรรยายลงไปว่า First actual case of bug being found หมายถึง เคสแรกที่พบว่าคอมมีปัญหามาจากแมลง
ส่วนสาเหตุที่ผีเสื้อกลางคืนเข้ามาอยู่ในเมนเฟรมได้นั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะคืนก่อนหน้านี้ พนักงานทำงานกะดึกเปิดหน้าต่างอาคารทิ้งไว้ ผีเสื้อกลางคืนจึงตามเข้ามาในอาคารตามแสงที่มาจากเครื่องเมนเฟรม แต่พอเข้าไปอยู่แล้วอาจจะออกไปได้, โดนความร้อน หรือโดนไฟฟ้าช็อต ทำให้มันกลายเป็นแมลงอบแห้งอยู่ในพาเนลเมนเฟรมนั่นเองครับ
หลังจากที่นำแมลงออกไปเรียบร้อย Harvard Mark II ก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ นี่จึงกลายเป็นบั๊กตัวแรกที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ และกลายเป็นคำที่ถูกเรียกมาจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering
You must be logged in to post a comment.