หลังจากที่หายไปนานร่วมสัปดาห์ บทความ Extreme History ยังมาพร้อมกับเรื่องราวน่าสนใจเหมือนเดิมนะครับ วันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ย้อนเวลาไปยังสมัยเด็ก ที่อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบพกพายังมีขนาดใหญ่และความจุน้อย หนึ่งในนั้นคือแผ่นดิสเก็ตต์ (Diskette) หรือบางคนเรียกว่าฟลอปปีดิสก์ (Floppy disk) เรามาดูจุดเริ่มต้นของมันพร้อม ๆ กันเลย
โยชิโร นากามัตสึ (Yoshiro Nakamatsu) หนึ่งในนักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานกว่า 3200 ชิ้นตลอดชีวิตของเขา และมีหลายชิ้นที่เคยผ่านมีเรามานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นซีดี, เครื่องเล่นคาราโอเกะ, นาฬิกาดิจิตอล, ถังปั๊มป์ซอส, แท็กซี่มิเตอร์ และที่ขาดไม่ได้คือแผ่นดิสเก็ตต์ จนทำให้เขาถูกโหวตให้เป็นหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ฐานะเดียวกับอะคิมีดีส, ไมเคิล ฟาราเดย์, แมรี คูรี และนิโคลัส เทสลา
โยชิโรได้เผยว่าตนเองได้คิดค้นดิสเก็ตต์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1950 แล้วล่ะ แต่ตอนนี้กำลังมองหาบริษัทที่เขาจะขายสัญญาให้ผลิตอยู่ ในตอนแรกมีบริษัทญี่ปุ่นติดต่อมาขอซื้อสิทธิบัตรถึง 6 แห่ง สุดท้ายเขาได้ขายให้กับทาง IBM และจุดเริ่มต้นของยุคดิสเก็ตต์จึงเริ่มขึ้น
เหตุผลในการเข้าซื้อสิทธิบัตรเพื่อผลิตดิสเก็ตต์ของ IBM มาจากวิศวกรที่พัฒนาเครื่อง RAMAC ต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก และถอดเก็บได้โดยไม่มีข้อมูลเสียหาย จึงมีการเสนอความเห็นนี้เข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งปี 1967 บอสใหญ่สั่งให้ศูนย์พัฒนาหน่วยความจำที่ซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย พัฒนาระบบโหลดไมโครโค้ดสำหรับเครื่องเมนเฟรม System/370 ที่เล็กและราคาไม่แพง (เดิมใช้เทปวิดีโอขนาดเท่าหนังสือเล่มหนา ๆ ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์) งานนี้จึงตกไปอยู่ในมือของเดวิด โนเบิล (David L. Noble) เมื่อได้สิทธิบัติการผลิตดิสเก็ตต์มา จึงได้แผ่นดิสเก็ตต์ตัวจริงเสียงจริงชิ้นแรกขึ้นมา
ดิสเก็ตต์แผ่นแรกฝีมือโนเบิล ถูกเรียกว่า Memory disk มีความจุ 80 กิโลไบต์ ขนาด 8 นิ้ว หนา 1.5 มิลลิเมตร และอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว จะเขียนทับหรือลบไม่ได้ โดยใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านที่ชื่อเล่นว่า มินนาว (Minnow) เป็นรุ่น 23FD ซึ่งขนาดเครื่องใหญ่มากกก
หลังจากนั้นดิสเก็ตต์และเครื่องอ่านมินนาวได้ถูกนำไปใช้ในแผนกอื่นของ IBM อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ข้อมูลภายในจะเป็นแบบอ่านอย่างเดียว แต่มันช่วยให้การส่งต่อชุดคำสั่งเป็นไปอย่างง่ายดาย จนกระทั่งในปี 1970 โนเบิลร่วมกับวิศวกรอีก 25 คนช่วยปรับปรุงแผ่นดิสเกตต์ให้มีความจุมากขึ้น รวมถึงเครื่องมินนาวเองก็ถูกอัปเกรดความเร็วในการอ่านข้อมูล แลเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อิกอร์ (Igor) เครื่องอ่านดิสเก็ตต์รุ่น 33FD จากนั้นก็เป็นรุ่น 43FD และรุ่น 53FD ที่มาพร้อมดิสเกตต์ความจุสูงถึง 1200 กิโลไบต์
ในปี 1972 อลัน ชูการ์ต (Alan Shugart) หัวหน้าของโนเบิล (เขาคือคนที่สั่งโนเบิลให้ไปพัฒนาดิสเก็ตต์ !!) ได้ลาออกจาก IBM ไปทำงานในบริษัท Memorex แล้วออกแผ่นดิสเก็ตต์ความจุ 175 กิโลไบต์ พร้อมเครื่องอ่าน Memorex 650 ตัดหน้า แต่ที่เจ๋งกว่าคือเซตดิสเกตต์และเครื่องอ่านนี้สามารถอ่านและเขียนข้อมูลได้
ตรงนี้อาจมีคนงง ระหว่างแบบอ่านอย่างเดียวกับแบบอ่านและเขียนได้ เอาง่าย ๆ คือกระบวนการนั้นต้องจบลงที่เครื่องเดียว นั่นหมายความว่า แบบอ่านอย่างเดียวจะถูกอัดข้อมูลลงบนแผ่นแม่เหล็กด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แต่การอ่านแผ่นสามารถอ่านด้วยเครื่องอ่านดิสเก็ตต์ ในขณะที่แบบอ่านและเขียนสามารถทำได้ภายในเครื่องอ่านดิสเก็ตต์เลย
หลังจากนั้น ชูการ์ตหันไปตั้งบริษัทของตนเองชื่อว่า Shugart Associates พร้อมส่งดิสเก็ตต์ขนาด 8 นิ้ว ความจุ 800 กิโลไบต์และเครื่องอ่านรุ่นใหม่ลงสู่ตลาดขายปลีก เป็นครั้งแรกที่มีการวางจำหน่ายอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำหรับ PC แต่ไม่นานก็เริ่มมีเสียงลูกค้าบ่นว่า “ดิสเก็ตต์ 8 นิ้วมันใหญ่เกินไป” ชูการ์ตจึงให้วิศวกรออกแบบเสียใหม่ จนได้ดิสเก็ตต์ขนาด 5.25 นิ้ว ความจุ 110 กิโลไบต์ พร้อมเครื่องอ่านรุ่น SA-400 กลายเป็นว่ามันกลายเป็นดิสเก็ตต์ที่ขายดีที่สุดของชูการ์ตเลยทีเดียว เพราะเฉลี่ยแล้วบริษัทสามารถขายเครื่องอ่านพร้อมดิสเก็ตต์ได้ถึง 4,000 ชุดต่อวัน !!
สำหรับมาตรฐานดิสเก็ตต์ที่เราเคยเห็นกันในปัจจุบัน คือขนาด 3.5 นิ้ว พัฒนาโดยบริษัท SONY ของญี่ปุ่นในปี 1980 โดยญี่ปุ่นพยายามสร้างมาตรฐานดิสเก็ตต์ขึ้นมาเพื่อสู้กับฝั่งของสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นมี SONY ขายแบบฮาร์ดเซลล์มาก ทั้งการโฆษณาถึงขนาดที่เล็กกว่าทั้งตัวเครื่องอ่านและดิสเก็ตต์, พกพาสะดวกใส่กระเป๋าได้, มีกรอบแข็งหุ้มแผ่นแม่เหล็ก หรือแผ่นโลหะปิดหน้าสัมผัสของแม่เหล็ก ที่สามารถเด้งกลับได้เองหลังอ่านข้อมูลเสร็จแล้ว (ดิสเก็ตต์สมัยก่อนจะไม่มีแผ่นโลหะนี้ทำให้ข้อมูลในจานแม่เหล็กอาจได้รับความเสียหาย) แม้จะมีหลายบริษัททำดิสเก็ตต์ขนาดอื่น ๆ ออกมาขาย แต่สุดท้าย SONY ก็กลายเป็นผู้ครองตลาด พร้อมความจุสูงสุดถึง 1.44 เมกะไบต์
แต่สุดท้ายเทคโนโลยีที่ดีกว่าจะทำให้เทคโนโลยีเก่าต้องหายไป ด้วยการมาถึงของแผ่นซีดี, แฟลชไดรฟ์ หรือกระทั่ง HDD ที่ราคาถูกลง ทำให้ดิสเก็ตต์ถูกลดบทบาทลง จน SONY ประกาศเลือกผลิตแผ่นดิสเก็ตต์ไปในปี 2010 ครับ ผมยังรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้หามาเก็บไว้สัก เชื่อว่าดิสเก็ตต์นี้ยังแฝงความทรงจำดี ๆ มากมายในวัยเด็กของใครหลายคน (และบางคนอาจจะเคยติดตั้งระบบปฏิบัติการรุ่นเก่า อย่าง OS/2 ด้วยดิสเก็ตต์ก็ได้นะ)
ก่อนจะจากกันไปเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับคำถามหนึ่ง ที่เคยมีคนถามเข้ามาในเพจนานแล้วล่ะ น้องคนหนึ่งถามผมว่า “พี่ครับ ทำไมไดรฟ์ถึงเริ่มด้วยตัว C ไม่เริ่มด้วยตัว A” นั่นเป็นเพราะในคอมยุคเก่าที่ยังไม่มี HDD ใช้ จะมีการรันระบบปฏิบัติการ DOS ผ่านดิสเก็ตต์ โดยเครื่องจะสำรองไดรฟ์ A ไว้สำหรับดิสเก็ตต์ที่เป็นระบบปฏิบัติการ และใช้ไดรฟ์ B สำหรับดิสเก็ตต์เก็บข้อมูลหรือโปรแกรมต่าง ๆ หลังจากนั้นที่ HDD เริ่มมีราคาถูกลง พอติดตั้งในคอมที่มีไดรฟ์ดิสเก็ตต์อยู่แล้ว (A/B) เจ้า HDD จึงได้รับตัว C ไปแทน จากนั้นมาไดรฟ์ C จึงกลายเป็นตัวแทนของไดรฟ์ระบบไปโดยปริยาย
ซึ่งจริง ๆ เราสามารถเลือกเปลี่ยนได้นะครับ ทาง Microsoft บอกเองเลยว่าถ้าเครื่องของคุณไม่มีดิสเก็ตต์แล้ว คุณจะสามารถใช้ตัวอักษร A และ B กับไดรฟ์อื่น ๆ ของคุณได้เลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://history-computer.com/ModernComputer/Basis/floppy_disk.html
You must be logged in to post a comment.