สำหรับวันนี้เป็นวันหยุดแอดจึงนำบทความน่าสนใจมาให้อ่าน หลายคนอาจจะเคยสงสัยใช่ไหมว่า ทำไมไดรฟ์หลักบน Windows จึงต้องเริ่มต้นด้วยตัว C ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยครับ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในราว ๆ ปี 1970 ระบบปฏิบัติการ CP/M ของบริษัท Digital Research, Inc และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง รวมถึงนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์จาก IBM ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าระบบปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อน ไม่ได้มีกราฟฟิกสละสลวยให้เราใช้เมาส์คลิก ๆ แค่ 2-3 ทีนะครับ แต่มันจะเป็นหน้าจำดำ ๆ ให้เราพิมพ์คำสั่งเพื่อใช้งานโปรแกรมหรือเรียกไฟล์ต่าง ๆ ขึ้นมา (ถ้าใครเคยเห็น MS-DOS เวลาซื้อโน้ตบุ๊กที่ไม่แถม Windows ก็จะพอนึกออก)
ในครั้งอดีตคอมพิวเตอร์ยังไม่มีพื้นที่จัดเก็บภายใน แม้ว่าฮาร์ดดิสก์จะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1950 แต่มันมีราคาแพงและใหญ่เทอะทะ เวลาที่จะรันโปรแกรมต่าง ๆ เพียงแค่เสียบอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่เรียกว่า ดิสเก็ตต์ (Diskette – อ่านประวัติเรื่องดิสเก็ตต์ได้ที่ ลิ้งก์นี้ เลยครับ) แล้วเปิดคอมให้มันอ่านข้อมูลที่อยู่ในแผ่นแม่เหล็กเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ นั่นล่ะครับ ถึงดิสเก็ตต์จะมีความจุเพียงไม่กี่ MB แต่ขนาดไฟล์และโปรแกรมต่าง ๆ ในยุคนั้นก็มีขนาดอยู่ในหลัก Byte และ Kilobyte (KB) หน่วยความจำภายนอกจึงเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
ทีนี้ปัญหาสำคัญมันจะเกิดขึ้นถ้าเราใส่ดิสเก็ตต์มากกว่า 1 แผ่นเข้าไปในเครื่อง ผู้ใช้จะเริ่มเกิดความสับสนว่าจะเรียกไฟล์ที่สำคัญในดิสเก็ตต์แผ่นที่ 1 ได้อย่างไร หรือจะสลับไปอ่านไฟล์ในแผ่นที่ 2 ได้อย่างไร นั่นจึงทำให้เกิดการใช้ระบบตัวอักษรขึ้นมา โดยยึดเอาตัวอักษรในภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นไดรฟ์แรกที่ใส่ดิสเก็ตต์แผ่นที่ 1 จึงเป็นไดรฟ์ A และไดรฟ์ของดิสเก็ตต์แผ่นที่ 2 จึงเป็นไดรฟ์ B นั่นเองครับ
หลังจากระบบปฏิบัติการ CP/M แล้ว ระบบปฏิบัติการ DOS ของ Microsoft ซึ่งยังอยู่ในรูปของการพิมพ์คำสั่งเพื่อรียกใช้ข้อมูล ได้นำระบบระบุไดรฟ์ด้วยตัวอักษรมาใช้ด้วยเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ก็มีเพียงไดรฟ์ A และ B กันเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งฮาร์ดดิสก์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเก็บข้อมูลมากขึ้น จึงได้มีการระบุตัวอักษรให้กับพื้นที่ตำแหน่งที่ 3 เป็นตัว C นั่นเองครับ
เมื่อเวลาผ่านไปดิสเก็ตต์ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับระบบปฏิบัติการที่พัฒนาใช้พื้นที่จัดเก็บเพิ่มมากขึ้น หน้าที่ทั้งหมดจึงตกเป็นของฮาร์ดดิสก์ ทำให้ไดรฟ์ A (บางเครื่องยังเหลือ B ให้ใช้) ถูกใช้เป็นไดรฟ์สำหรับเสียบดิสเก็ตต์เพื่อเก็บไฟล์ต่าง ๆ ไว้ใช้นอกสถานที่ ไดรฟ์ C จึงกลายเป็นไดรฟ์หลักเป็นต้นมาครับ
คำถามคือถึงแม้ปัจจุบันจะไม่มีดิสเก็ตต์ให้ใช้แล้ว แต่ทำไม Windows ยังคงใช้ไดรฟ์ C เป็นไดรฟ์หลักอยู่ล่ะ?
การใช้ตัวอักษร C อ้างอิงถึงไดรฟ์หลักนั้น สืบเนื่องมาจากเรื่องราวข้างต้น ช่วงที่ฮาร์ดดิสก์เข้ามาแทนที่ดิสเก็ตต์ ไดรฟ์ C ก็กลายมาเป็นจุดในการใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการไปโดยปริยาย มันจึงกลายเป็นความเคยชินที่ว่าต้องเริ่มต้นด้วยไดรฟ์ C แทนที่จะเป็น A และ B อีกทั้ง Microsoft ต้องการให้เกิดความเข้ากันได้ของโปรแกรมต่าง ๆ กับระบบปฏิบัติการ นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่าน DOS มาเป็น Windows เรายังสามารถนำโปรแกรมเก่า ๆ ใน DOS มาใช้งานได้อยู่ เพราะมันใช้ระบบอ้างอิงไดรฟ์แบบตัวอักษรเหมือนกัน พูดง่าย ๆ คือ ก็ปล่อยให้ใช้ไปนั่นแหละ ไม่เสียหาย ถ้าเปลี่ยนแล้วเดี๋ยวมีปัญหาด้าน Compatibility
นอกจากนี้บางคนอาจสงสัยว่าเราสามารถเปลี่ยนตัวอักษรจาก C เป็นอื่น ๆ ได้หรือไม่? คำตอบคือเปลี่ยนได้ครับ จะเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ A-Z แต่อย่าลืมว่าบางทีโปรแกรมที่ติดตั้งบนเครื่องมันไม่ได้ฉลาดพอ คนเกือบทั่วโลกรับรู้ทั่วกันว่าไดรฟ์หลักของคอมพิวเตอร์จะเป็นไดรฟ์ C เพราะฉะนั้นเวลาเขาสร้างโปรแกรมขึ้นมา การเรียกไฟล์ต่าง ๆ บางครั้งจะมุ่งตรงไปที่ไดรฟ์ C อย่างเดียว แล้วถ้าเกิดระบบปฏิบัติการรวมถึงไฟล์สำคัญของโปรแกรมไม่ได้อยู่ในไดรฟ์ C ล่ะก็ ปัญหาก็อาจตามมาในภายหลังได้ครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของระบบตัวอักษรในคอมพิวเตอร์แบบสั้น ๆ นะครับ เพื่อน ๆ มีความเห็นอย่างไรสามารถบอกเล่ากันมาได้ทางคอมเมนต์ แล้วครั้งหน้ามาพบกันใหม่กับบทความในซีรีย์ Extreme History นะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.todayifoundout.com/index.php/2015/04/c-drive-default-windows-based-computers-2/
https://www.howtogeek.com/426852/why-does-windows-still-use-letters-for-drives/
You must be logged in to post a comment.