เชื่อว่าผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา น่าจะรู้จักสุดยอดคีย์บอร์ดอย่าง IBM Model M กันเป็นอย่างดี ด้วยเสียงคลิกอันเป็นเอกลักษณ์ ฟังระรื่นหูอย่างที่คีย์บอร์ดรุ่นใหม่ไม่สามารถทดแทนได้ คีย์บอร์ดนี้จึงขึ้นแท่นคีย์บอร์ดในตำนานที่มีราคาโคตรแพงในปัจจุบันเลยครับ
และแน่นอนในบทความ Extreme History วันนี้ ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับคีย์บอร์ด IBM Model M ให้มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าเสียงคลิกของมันจะทำให้หลายคนเข้าใจว่ามันคือต้นฉบับของคีย์บอร์ด Mechanical แต่แท้จริงแล้วมันไม่ใช่คีย์บอร์ดแบบ Mechanical !! เอาล่ะสำหรับเรื่องราวในวันนี้จะเป็นอย่างไร ไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยครับ
คีย์บอร์ดยุคเริ่มต้นของ IBM
ตรงนี้ผมจะขอกล่าวโดยย่อเพื่อไม่ให้เนื้อหาเยอะเกินไป เริ่มต้นกันที่คีย์บอร์ดแบบฉบับของ IBM กันก่อน คีย์บอร์ด Model F แบบ PC/XT เป็นแบบแรกที่ IBM ทำขึ้น ซึ่งถ้าดูจากภาพทางด้านล่างแล้ว มันคงแปลกตาไม่น้อยกับคีย์ฟังก์ชันที่ยกมาอยู่ทางด้านซ้ายมือ และปุ่มตัวเลขที่ชิดติดกับคีย์ตัวอักษรหลัก ซึ่ง Model F PC/XT นี้ทำขึ้นในปี 1981 มีคีย์อยู่ทั้งหมด 83 คีย์
จากนั้นจึงมีการปรับปรุงให้ดูน่าใช้งานมากขึ้นเป็น Model F PC/AT โดยแยกคีย์ตัวเลขออกจากคีย์ตัวอักษร แต่ปุ่มฟังก์ชันยังคงเรียงกันเป็นแถวยาวอยู่ที่ฝั่งซ้ายมือเหมือนเดิมครับ คีย์บอร์ดรุ่นนี้ทำขึ้นในปี 1984 มีทั้งหมด 84 คีย์ เพิ่มคีย์ SysRq (System Request) ขึ้นมาอีก 1 คีย์
หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงอีกครั้ง โดยใช้ชื่อรุ่นว่า IBM Enhanced Keyboard แต่รู้จักกันในชื่อของ Model M รุ่นรหัส 1386303 ถูกนำมาใช้กับเครื่องเทอร์มินัล IBM 3161 ซึ่งได้ถูกปรับปรุงจนมีหน้าตาคล้ายกับคีย์บอร์ดยุคปัจจุบัน (ขาดแต่เพียงคีย์ Windows) ทว่า เนื่องจากมันใช้กับเครื่องเทอร์มินัล มันจึงขาดไฟแสดงสถานะของ Num Lock, Caps Lock และ Scroll Lock เพราะมันจะไปแสดงสถานะที่จอเทอร์มินัลแทนนั่นเอง
Model M สุดยอดคีย์บอร์ด
จนกระทั่ง IBM เปิดตัวไปในปี 1987 (พ.ศ. 2530) IBM จึงได้นำ IBM Enhanced Keyboard มาปรับปรุงใหม่อีกนิด โดยเปลี่ยนจากพอร์ตเชื่อมต่อเดิมที่ใช้เป็นพอร์ตแบบ 5-pin DIN เป็น 6-pin mini-DIN ที่รู้จักกันในชื่อพอร์ต PS/2 (ถูกเรียกตามชื่อคอมพิวเตอร์ที่มันเปิดตัวมาพร้อม ๆ กันไปเลย) และได้กลายมาเป็นรากฐานให้คีย์บอร์ดในยุคปัจจุบันสืบไป
Model M ไม่ใช่ Mechanical keyboard?
ถูกต้องแล้วครับ แม้เสียงคลิกในการกดบนแป้นพิมพ์จะฟังดูแล้วเหมือนกับคีย์บอร์ด Mechanical ในปัจจุบันก็ตาม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด หากเปิดดูเอกสารสิทธิบัตรการออกแบบโครงสร้างของคีย์บอร์ดแล้ว จะพบว่าคีย์บอร์ด Model M ใช้กลไกการกดแป้นที่เรียกว่า Buckling spring torsional snap actuator หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Buckling spring switches ครับ
เมื่อแกะคีย์แคปออกมาดู จะพบว่ามีแท่งสปริงอยู่ภายในหลุม ซึ่งสปริงนี้ทำหน้าที่กดคานให้สัมผัสกับเมมเบรน (Membrane) และเมื่อปล่อยนิ้ว สปริงจะคืนตัวส่งผลให้คานกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมครับ
เห็นคำว่าเมมเบรนแล้วใช่ไหมครับ นั่นแหละที่ผมบอกว่ามันไม่ใช่คีย์บอร์ด Mechanical ถึงแม้เสียงของมันจะมีความคล้ายคีย์บอร์ด Mechanical ในปัจจุบันก็ตาม อันเนื่องมาจาก Buckling spring switches แต่การแตะสัมผัสของคานยังคงเป็นการแตะลงบนเมมเบรน เพื่อให้เกิด output จากการกดคีย์ ดังนั้น คีย์บอร์ด Model M จึงมี Key rollover หรือการกดคีย์พร้อมกันได้ไม่เกิน 2-3 คีย์ในครั้งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในคีย์บอร์ดแบบ Rubber dome ในปัจจุบัน
เสียงคลิกอันน่าจดจำ และตำนานที่จะอยู่กับเราตลอดไป
เสียงคลิกจากการกดคีย์ของ IBM Model M ทำให้หลายคนรู้สึกผ่อนคลาย (แถมในยุคนี้ยังเหมาะจะเอามาทำ ASMR ด้วยนะผมว่า) โดยเฉพาะกับการพิมพ์เอกสารต่าง ๆ คงจะเพลิดเพลินน่าดู ทั้งนี้ เนื่องจากกลไกแบบ Buckling spring switches จะมีระยะเวลาในการกด, การออกคำสั่ง และการคืนตัวที่นานกว่า มันจึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้เล่นเกมแบบจริงจังเกมมิ่งสักเท่าไรนะ
สำหรับคีย์บอร์ด Model M นับว่าเป็นยุคสุดท้ายที่ IBM พัฒนาขึ้น ก่อนจะขายแผนกคีย์บอร์ดให้กับบริษัท Lexmark ซึ่งได้นำไปปรับปรุงให้คีย์บอร์ดมีน้ำหนักเบามากขึ้น และเปลี่ยนใช้กลไกแบบ Rubber dome แทน !!
แต่เพื่อรื้อฟื้นคีย์บอร์ด Model M แท้ ๆ ขึ้นมา ทีมงานดั้งเดิมของ IBM และ Lexmark ได้รวบรวมกันซื้อสิทธิบัตรการผลิตคีย์บอร์ด Buckling spring switches มาจาก IBM ต้นขั้ว แล้วทำคีย์บอร์ดคล้าย IBM Model M ต้นฉบับอีกครั้งภายใตแบรนด์ Unicomp ซึ่งต้องบอกว่าเสียงและการกดนั้นคล้ายคลึงกับ Model M มาก แถมยังมีสีสันให้เลือกหลายแบบอีกด้วยนะ
และนี่คือเรื่องราวของคีย์บอร์ดในตำนาน IBM Model M ซึ่งครั้งหนึ่งผมเองก็เคยเข้าใจว่ามันคือ Mechanical keyboard แต่ถึงแม้มันจะไม่ใช่ก็ตาม เชื่อว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลาย ๆ คนก็คงยกให้คีย์บอร์ดนี้ คือ สุดยอดคีย์บอร์ดที่อยากจะจับจองเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน
You must be logged in to post a comment.