ยุคนี้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความสะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก แม้เราจะรู้สึกว่ามันยังเร็วไม่ทันใจ แต่เด็ก ๆ จะรู้ไหมนะว่าก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คุณพ่อคุณแม่ของเขาใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วเพียง 56 Kbps เท่านั้น!!
และวันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งที่การเล่นอินเทอร์เน็ต ต้องเชื่อมต่อผ่านโมเด็มและสายโทรศัพท์บ้าน พร้อมเสียงการเชื่อมต่ออันแสบแก้วหู และความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้กลายเป็นคนใจเย็น
โมเด็ม (Modem) คืออะไร
หากกล่าวแบบง่ายที่สุด โมเด็มคืออุปกรณ์ที่ใช้รับส่งข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ในกรณีของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบ้าน จะต้องมีโมเด็มอย่างน้อย 2 เส้นทาง คือโมเด็มจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เชื่อมต่อไปยังโมเด็มของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์บ้าน
ทั้งนี้ข้อมูลที่เดินทางผ่านสายโทรศัพท์บ้านได้นั้น จะต้องเป็นข้อมูลประเภทอะนาล็อกเท่านั้น แต่ข้อมูลที่คอมพิวเตอร์จะรับรู้ได้ต้องอยู่ในรูปดิจิตอลเท่านั้น ซึ่งเจ้าโมเด็มนี้เองจะเป็นรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นอะนาล็อกจากสายโทรศัพท์บ้าน มาแปลงเป็นข้อมูลแบบดิจิตอลให้คุณใช้งานนั่นเองครับ
โมเด็มตัวแรกสุดที่ถูกคิดค้นขึ้นมีความเร็วเพียง 300 บิตต่อวินาที จนภายหลังในปี 1996 สามารถพัฒนาให้มีความเร็ว 56 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่สายโทรศัพท์บ้านสามารถทำได้ครับ เพราะฉะนั้น โมเด็มจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในต้นยุค 2000 เพื่อเปิดประตูสู่โลกอินเทอร์เน็ต
วิธีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยโมเด็ม
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยโมเด็มเราเรียกว่า Dial-up network สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือสายโทรศัพท์บ้าน เพื่อเป็นเส้นทางในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปยังโมเด็มของผู้ให้บริการ ส่วนบ้านใครที่ไม่มีโทรศัพท์บ้าน นั่นเท่ากับว่าเขาจะไม่มีสายโทรศัพท์และใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ด้วย
นอกจากนี้ ความโกลาหลมักจะเกิดขึ้น หากมีคนโทรเข้ามาที่โทรศัพท์บ้านในระหว่างเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพราะมันอาจทำให้อินเทอร์เน็ตหลุด บางทีหน้าเว็บยังโหลดไม่เสร็จเน็ตก็หลุดไปแล้ว ต้องเสียเวลามานั่งโหลดใหม่
ถัดมาคือชั่วโมงอินเทอร์เน็ต เอ๊ะ!! เรามีการซื้อขายอินเทอร์เน็ตเป็นชั่วโมงกันด้วยเหรอ? ใช้แล้วครับ ในยุคโมเด็ม 56K การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะต้องซื้อบัตรเติมชั่วโมงอินเทอร์เน็ต (หรืออาจจะซื้อแบบรายวันมาก็ได้ เล่นไม่จำกัดภายในวันที่กำหนด) ส่วนสำคัญภายในบัตรเติมชั่วโมง คือรหัสเข้าใช้อินเทอร์เน็ต ดูภาพประกอบจากด้านล่างนี้เลยครับ
จะเห็นได้ว่าในหน้าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Dial-up จะประกอบด้วย Username ซึ่งจะต้องใช้ชื่อตามที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกำหนดไว้ (มีเขียนบอกไว้ในบัตรเติมชั่วโมง) ตามมาด้วย Password ซึ่งเราต้องขูดคล้ายการขูดชิงโชคจากบัตรเติมชั่วโมง และสุดท้ายคือช่อง Dial ให้เราใส่เบอร์โทรของโมเด็มจากผู้ให้บริการที่อยู่ใกล้จังหวัดเรามากที่สุด
วิธีการเชื่อมต่อมีดังนี้
- เสียบสายโทรศัพท์บ้านเข้าช่องด้านหลังคอมพิวเตอร์ (ช่องของโมเด็ม)
- กรอกข้อมูล Username, Password และเบอร์ Dial ในหน้าต่าง Dial-up
- กด Dial โมเด็มของเราจะ “โทร” ไปหาโมเด็มของผู้ให้บริการ ตามเบอร์ที่กรอกไว้
- เมื่อโทรติดจะมีเสียงการเชื่อมต่อที่คุ้นหูดังขึ้น เสียงจะหยุดเมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้ว
- เมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้ว จะแสดงความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ได้ ผมเคยได้สูงสุด 46 Kbps และเคยได้ต่ำสุด 28 Kbps
สำหรับใครที่ไม่เคยได้ยินเสียงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Dial-up นะครับ ผมแปะลิ้งก์ไว้ให้ทางด้านล่าง ซึ่งเคยมีคนให้ข้อมูลไว้ว่าเสียงเหล่านี้มีความหมาย และบ่งบอกถึงสถานะต่าง ๆ ในการ “โทร” หากันของโมเด็มทั้งสองฝั่ง
ความรู้สึกในการใช้งานและการเสื่อมความนิยม
ต้องบอกว่าอินเทอร์เน็ต 56K นี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนกลายเป็นคนที่ใจเย็นมากขึ้น เนื่องจากว่าความเร็วเพียง 56 Kbps ช้ากว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นล้านเท่า (เทียบกับความเร็ว 1 Gbps) คงไม่ต้องสาธยายความช้าของมันให้มากความ ผมยังจำได้แม่นว่าแผ่นไดรเวอร์เครื่องปริ้นต์หาย จำเป็นต้องดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ต ผมจึงต้องเปิดคอมทิ้งไว้ทั้งคืน และภาวนาไม่ให้เน็ตหลุด
นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญคือราคาของบัตรอินเทอร์เน็ต สมัยแรก ๆ อาจจะมีการซื้อแบบรายเดือนด้วย แต่ส่วนใหญ่ผมจะได้ใช้แบบรายชั่วโมงและรายวัน ผมเคยเก็บรวบรวมเงินจากค่าขนมจำนวน 179 บาท เพื่อมาซื้อบัตรอินเทอร์เน็ตยี่ห้อหนึ่งที่ใช้งานได้ 7 วัน แล้วไม่ใช่แค่นั้นนะครับ เมื่อคุณต่ออินเทอร์เน็ตแล้ว เท่ากับว่าคุณกำลังโทรหาใครบ้างคน (ก็คือการโทรหาผู้ให้บริการด้วยโมเด็มนี่แหละ) มันก็จะมีค่าบริการจากการเชื่อมต่อแต่ละครั้งแปะมาในบิลค่าโทรศัพท์บ้านรายเดือนด้วย
ช่วงหลัง ๆ พี่สาวผมได้แนะนำให้รู้จักอินเทอร์เน็ตฟรีของ TOT ต่อครั้งละ 3 บาท และจะหลุดทุก ๆ 2 ชั่วโมง ช่วยลดค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบัตรอินเทอร์เน็ตได้พอสมควร ใช้แล้วติดใจมาก ต่ออินเทอร์เน็ตทั้งวัน หลุดทีก็ต่อใหม่วนไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยโดนแม่ด่าทีหลังตอนบิลค่าโทรศัพท์มาถึงที่บ้าน
ด้วยการมาถึงของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง ADSL ช่วงนั้นแม้ความเร็วมันจะเริ่มต้นที่ 512 Kbps แต่มันก็เร็วกว่าการใช้โมเด็มเกือบร้อยเท่าแล้ว หลัง ๆ คนจึงหันไปใช้ ADSL กันมากขึ้น ตามมาด้านอินเทอร์เน็ตแบบสายเคเบิล และตามมาด้านสายไฟเบอร์ออปติก แม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต 3G จากโทรศัพท์มือถือยังเร็วกว่าการใช้โมเด็มแล้ว เพียงไม่กี่ปีหลังการคิดค้นโมเด็ม 56K มันก็เสื่อมความนิยมลงในที่สุด
ปัจจุบันน่าจะไม่มีใครที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็มกันแล้ว ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า และเสถียรกว่าเข้ามาทนแทน คงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำของเสียง Dial-up ที่ได้ยินเมื่อไรก็จะรู้ทันทีว่าบ้านนั้นกำลังต่ออินเทอร์เน็ตอยู่
เพื่อน ๆ คนไหนทันใช้อินเทอร์เน็ตแบบโมเด็ม ก็ลองบอกเล่าประสบการณ์กันได้นะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.highspeedinternetdeals.com/dial-up-internet-service-history.html
You must be logged in to post a comment.