หากพูดถึงการ์ดจอในยุคนี้คงหนีไม่พ้นค่ายดังอย่าง NVIDIA และ AMD (ATi) หรืออาจะรวม Intel เข้าเป็นหนึ่งในนั้น แต่ในช่วงปี 1990 จนถึงต้นยุค 2000 นั้น มีค่ายการ์ดจอเกิดขึ้นหลายขั้ว แต่หนึ่งในแบรนด์ที่คนอายุราว 25 ปีขึ้นไปน่าจะรู้จัก คือการ์ดจอจากค่าย S3 Graphics
สำหรับบทความ Extreme History วันนี้ แอดขอติดกระแสอันร้อนแรงของการ์ดจอสักหน่อย โดยจะเป็นเรื่องของการ์ดจอค่าย “เหลือง” ที่เคยโลดแล่นก่อนจะพ่ายแพ้ไปในสมรภูมิการตลาดอันโหดร้ายครับ
การ์ดจอค่ายเหลือง ราคาคุ้มค่า
S3 Inc. ก่อตั้งโดย Dado Banatao และ Ronald Yara ในปี 1989 โดยมีเป้าหมายเน้นชิปประมวลผลกราฟฟิกที่มีประสิทธิภาพดีใช้ได้ ในราคาที่ถูกกว่าค่ายดังอย่าง NVIDIA, ATi หรือ 3dfx ในเวลานั้น
2 ปีหลังการก่อตั้ง บริษัทก็ได้คลอดการ์ดจอตัวแรกออกมารู้จักกันในชื่อ S3 Carrera ช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผลงาน 2D ไม่ว่าจะเป็น Line drawing, rectangle filling และ raster operations เพื่อแบ่งเบาภาระงานของซีพียู นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้จับมือกับผู้ผลิต เช่น Diamond Multimedia และ Orchid Technology เพื่อนำชิปกราฟฟิกตัวนี้ไปขายภายใต้แบรนด์ของผู้ผลิตเอง (เหมือน NVIDIA ให้ ASUS นำชิปกราฟฟิกไปผลิตเป็นการ์ดจอขายนั่นเอง)
สเปกของ S3 Carrera นั้น มีแรม 1 MB แสดงผลบนความละเอียดสูงสุด 1280 x 1024 ในภาพ 16 สี (16 สีจริง ๆ นะ) ซึ่งประสิทธิภาพของมันทำออกมาได้ดี ถึงจะไม่ใช่การ์ดจอที่แรงที่สุดในเวลานั้น แต่ก็อยู่ในจุดที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการ์ดจอ ATi March 64 ที่มีราคาสูงถึง 899 ดอลลาร์ ในขณะที่ S3 Carrera มีราคาเพียง 499 ดอลลาร์เท่านั้น
จากนั้นการ์ดซีรีย์ถัดไปคือ Vision Series ในปี 1994 ได้ใช้แรม EDO 4MB พร้อมรองรับไฟล์วิดีโอ MPEG แล้วพัฒนาต่อเป็นซีรีย์ Trio ที่ได้มีการรวมชิปเป็นชิ้นเดียว (จะเห็นภาพเปรียบเทียบระหว่าง Vision ที่มีชิป S3 สองตัวและ Trio ที่มีชิป S3 อยู่ตัวเดียว) แม้จะไม่ใช่การ์ดที่แรงที่สุดในตลาด แต่ก็ทำให้ชื่อเสียงของ S3 Graphics เป็นที่รู้จัก จนค่ายคอนโซลเกมอย่าง Sony Playstation และ Sega ให้ความสนใจกับชิปกราฟฟิกน้องใหม่นี้
แม้ว่าทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี ทว่า เมื่อโลกก้าวสู่ยุค 3D ทำให้การ์ดจอค่ายเหลืองเริ่มระส่ำระส่ายแล้วล่ะครับ
ก้าวสู่ยุค 3D
ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลง ซอฟต์แวร์เกมพัฒนาไปไกลมาก แถมยังมีทั้ง OpenGL และ DirectX เกิดขึ้นอีก การ์ดจอทุกค่ายจึงต้องปรับตัวตาม เช่นเดียวกับ S3 Graphics ก็ได้นำการ์ดในซีรีย์ Trio มาเพิ่มความสามารถในการประมวลผล 3D พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นซีรีย์ Virge
แต่ปรากฏว่า S3 Graphics ดันพัฒนา API ของตัวเองที่มีชื่อว่า S3d แถมไม่ออกไดรเวอร์รองรับ API อย่าง OpenGL ด้วย ซึ่งช่วงแรกมันก็ไม่แย่เท่าไร แต่พอหลัง ๆ ที่การ์ดจอค่ายอื่นหันไปใช้ OpenGL กันหมด ทำให้ไม่มีใครใช้ S3d สุดท้ายก็ต้องหันกลับไปซบ OpenGL
แต่ด้วยความที่ไดรเวอร์มันไม่ได้ถูกตระเตรียมไว้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพออกมาไม่ดีเท่าไร บางการประมวลผลทำได้ดีกว่าซีพียูแค่เล็กน้อยเท่านั้น (พอกันกับ 3dfx ที่ทำ API ของตนเองแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน อ่านเพิ่มเติมไปจาก ลิ้งก์นี้ เลยครับ) ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของยุค 3D ยังมีค่ายเกมไม่น้อยที่ยึดกับภาพ 2D อยู่ ทำให้ S3 Virge ยังมียอดขายค่อนข้างดีครับ
และเมื่อเทียบกับการ์ดจอจากค่ายอื่น ๆ NVIDIA NV1 แม้จะมีประสิทธิภาพดีกว่า แต่ก็ยังมีราคาแพงมากในเวลานั้น ส่วน ATi 3D Rage เองก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีไปกว่า S3 Virge ดังนั้น มันจึงเป็นมุมมองที่ค่อนข้างใหม่สำหรับค่ายสีเหลือง และไม่ได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเท่าที่ควร (ถึงจะมีการ์ดจอรุ่นใหม่เปิดตัวออกมาอีกเรื่อย ๆ แต่ประสิทธิภาพของ 2D ยังโดดเด่นกว่าอยู่ดี)
ปัญหาด้านการผลิตและไดรเวอร์
ปัญหาที่แท้จริงเริ่มต้นในยุคของการ์ดจอซีรีย์ Savage3D เนื่องจากชิปกราฟฟิกถูกผลิตขึ้นบนโหนด 250 นาโนเมตร แต่มันยังเป็นโหนดแบบใหม่และควบคุมคุณภาพยาก ทำให้ผลิตได้น้อย มีคุณภาพต่ำ ถึงขนาดที่ว่าผู้ผลิตการ์ดจอแบรนด์ต่าง ๆ ไม่อยากเอาชิปกราฟฟิกตัวนี้ไปใช้สักเท่าไร
นอกจากนี้ไดรเวอร์ของมันยังทำงานกับเกม 3D ไม่ค่อยสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับ NVIDIA Riva TNT หรือ 3dfx Voodoo 2 แล้ว เรียกได้ว่าต่างกันลิบลับ (ดูจากกราฟด้านล่าง) แถมผู้ผลิตยังไม่สามารถขายตัดราคาลงได้อีก เพราะชิปมีให้น้อยถ้าตัดราคาเพื่อแข่งขันคงได้ขาดทุนกับการ์ดจอตัวนี้แน่ ๆ
จากนั้นการพัฒนาก็ทิ้งห่างไปร่วมปี ในระหว่างนี้ก็มีการแก้ปัญหาต่างให้กับ Savage3D ก่อนที่จะออกการ์ด Savage4 ซึ่งความแรงแทบจะไม่แตกต่างไปจากการ์ดจอตัวเก่าของค่ายอื่นที่เปิดตัวไปเมื่อปีก่อน ทำให้ทั้ง NVIDIA, Matrox, ATi และ 3dfx ยิ่งทิ้งห่างออกไปอีก
โชคยังเข้าข้างนิดนึง เนื่องจากเกมฮิตในสมัยนั้นอย่าง Quake III และ Unreal Tournament สามารถเข้ากันได้ดีกับ Savage4 เพราะมีระบบ Lossy texture compression system เพิ่มความสวยงามให้ภาพโดยที่ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ ทำให้ยังมีคนให้ความสนใจอยู่ในระดับหนึ่ง
S3 ใช้เงินมากมายในการเข้าซื้อบริษัท Number Nine เพื่อเข้าถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้านกราฟฟิก และในปี 2000 ก็ได้เข้าซื้อ Diamond Multimedia ใช่แล้วครับ !! บริษัทที่ผลิตการ์ดจอให้ S3 เพื่อขยายแบรนด์ของตนเองให้มากขึ้น (คล้ายกับกรณีของ 3dfx อีกแล้วล่ะสิ)
และในปี 2000 การ์ดจอ Savage 2000 ได้ถือกำเนิดขึ้น นับเป็นการ์ดจอตัวแรกของค่ายที่รองรับ Direct3D 7.0 ในช่วงนั้นระบบที่เรียกว่า Hardware Transform and Lighting (TnL) กำลังมาแรง ซึ่งเป็นระบบที่ใช้การ์ดจอประมวลผลเรขาคณิตแทนซีพียูทั้งหมด แต่นั่นแหละครับ Savage 2000 ดันไม่รองรับ TnL ตอนช่วงแรก ต้องรอไดรเวอร์อัปเดตกันอีกทีถึงจะรองรับ
S3 ดูเหมือนจะไม่สามารถต่อสู้ในสมรภูมิการ์ดจอ 3D ได้ดีสักเท่าไร โดยภาพรวมของปัญหาน่าจะมาจากไดรเวอร์ที่ทำออกมาไม่ดี ส่งผลให้ประสิทธิภาพทิ้งห่างคู่แข่ง รวมถึงการใช้เงินในปริมาณมากจึงกระทบเป็นห่วงโซ่ ไม่มีเงินที่จะเข้ามาพัฒนาในส่วนของซอฟต์แวร์ ยิ่งทำให้การ์ดจอที่ออกมาทำได้ไม่ดี คนซื้อลดลง กำไรก็ลดลงด้วย
ส่งต่อให้ VIA
3 เดือนหลังจาก S3 Inc เข้าซื้อกิจการของ Diamond Multimedia บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น SONICblue แล้วขายแผนกการ์ดจอให้กับบริษัท VIA ของไต้หวัน โดย SONICblue เปลี่ยนไปผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องเล่นวิดีโอ เครื่องเล่นเพลง MP3 แต่สุดท้ายบริษัทได้ถูกฟ้องล้มละลายในปี 2003 ครับ
แล้ว VIA S3 ล่ะ ?? ยังอยู่ต่อครับ แต่ VIA เล็งเห็นว่าในสมัยนั้นเวลาซื้อเมนบอร์ดมาแล้ว จะต้องไปซื้อการ์ดจอมาเพิ่มเติมอีก ถ้าอย่างนั้นเราก็รวมการ์ดจอเข้าไปในเมนบอร์ดเลยสิ จึงเป็นที่มีของคำว่า ออนบอร์ด ที่คนไทยเรียกติดปาก เพราะเข้าใจว่ามันหมายถึง การ์ดจอติดที่บอร์ด แต่จริง ๆ ต้องเรียกเต็ม ๆ ว่า Motherboard with On-board GPU (คำว่าออนบอร์ดแปลว่า ติดมา ฝังมา ไม่ได้แปลว่าอยู่บนเมนบอร์ดนะจ๊ะ)
แต่นั่นทำให้เทคโนโลยีของ S3 ไม่ค่อยพัฒนาสักเท่าไร เพราะไปหยิบนู่นเติมนี่จากการ์ด Savage 2000 และ Savage4 มาใช้กับการ์ดออนบอร์ด จนเพิ่งมาเข้าใจว่า อ๋อ !! ตอนนี้ตลาดการ์ดจอแยกกำลังบูมนะ คงต้องรีบกลับมาทำตลาดใหม่แล้วล่ะ จึงคลอด S3 Graphics Chrome Series ออกมาในปี 2004 โดยการ์ดตัวแรกใช้ชื่อ DeltaChrome พร้อมรองรับ Direct3D 9.0
เป็นการกลับมาที่ไม่เลวนะครับ การทดสอบบางสำนักพบว่าทำคะแนนสูสีกับ ATI 9600 XT และ NVIDIA 5600 Ultra แต่บางสำนักก็พบว่ามันทำความแรงต่ำกว่าการ์ดจอของค่ายเขียว-แดง ทว่า สิ่งที่เป็นตัวเร่งให้ S3 หายไปจากตลาดคือ VIA ยังคงขลุกอยู่กับ Chrome Series นานถึง 5 ปี แถมมันยังมีปัญหากับการประมวลผลภาพในเกมที่เปิด Anti-Aliasing อีกด้วย
การ์ดจอแยกตัวสุดท้ายคือ S3 Chrome 500 Series กลายเป็นการ์ดระดับล่างที่ขายในราคาไม่ถึง 100 ดอลลาร์ (ยกตัวอย่างเช่น Chrome 530 GT ขายแค่ 55 ดอลลาร์เอง) ซึ่งความแรงของมันแทบไม่ต่างไปจากรุ่นล่างของ NVIDIA และ ATi และนั่นจึงเป็นการปิดตำนานการ์ดจอแยก S3 โดยสมบูรณ์
VIA ยังคงดำเนินการธุรกิจการ์ดจอออนบอร์ดต่อไปจนถึงปี 2011 ก่อนที่จะขายกิจการส่วนนี้ให้กับ HTC ครับ
สุดท้ายจึงเหลือไว้เพียงชื่อ
ผมคิดว่าเสน่ห์ของการประกอบคอมในยุคนั้น คือ ฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย มีหลายแบรนด์ให้เลือกเล่น ประสิทธิภาพก็ว่ากันไปตามราคา ผมเองก็มีโอกาสได้ใช้การ์ดจอ S3 เหมือนกัน แต่เป็นช่วงที่ VIA นำมาทำเป็นออนบอร์ดแล้ว ประสิทธิภาพเรียกได้ว่าเล่นเกมแค่พอถู ๆ ไถ ๆ แต่ก็อยู่มาได้นาน 10 ปี แล้วประสบการณ์การใช้งานการ์ดจอ S3 ของเพื่อน ๆ เป็นอย่างไรบ้าง บอกเล่ากันได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.techspot.com/article/2230-s3-graphics/
You must be logged in to post a comment.