เรื่องนี้ต้องย้อนวัยกันพอสมควร สำหรับปุ่ม Turbo บนเครื่อง PC รุ่นเก่า มันมีไว้ทำไม? ช่วยทำให้คอมเร็วขึ้นอย่างนั้นเหรอ? วันนี้เรามาหาคำตอบพร้อมกันครับ
เพราะเครื่องเลียนแบบมันเร็วกว่า
คอมต้นตำรับเครื่องแรกของ IBM เปิดตัวในเดือนสิงหาคม ปี 1981 (2524) ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Intel 8088 ที่วิ่งด้วยความเร็ว 4.77 MHz จากนั้นไม่นาน Compaq ก็ได้ผลิตคอมที่สามารถรัน MS-DOS ได้เหมือนเครื่องของ IBM ในเวลาถัดมาครับ
เหตุที่เท้าความแบบนี้ เพราะสมัยก่อนคอมพิวเตอร์ PC ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ตอนนั้น IBM เป็นเจ้าตลาด ทำให้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ มักจะอิงระบบของ IBM ส่วนเครื่องจากแบรนด์อื่นที่ผลิตขึ้นตามมา สเปคเกือบทั้งหมดก็จะอิงจากเครื่องของ IBM เช่นกัน แต่อาจมีปรับเปลี่ยนเพื่อการแข่งขันไปบ้าง คอมเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า IBM-compatible PC หรือบางคนเรียกว่า PC-clone นั่นเองครับ
ประเด็นมันอยู่ตรงนี้นี่แหละ เพราะความต้องการแข่งขันทำให้คอมจาก Compaq มีการเพิ่มนู่นนี่ในส่วนที่ IBM ขาดหายไป นอกเหนือจากการเพิ่มพอร์ตอื่น ๆ ลงไปแล้ว เพื่อให้มันน่าดึงดูดขึ้น พี่แกเลยเพิ่มความเร็วให้ซีพียูด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ IBM ใช้ 8088 4.77 MHz ทาง Compaq ใช้ 8086 8 MHz ซึ่งเร็วกว่าต้นฉบับเกือบ 2 เท่าเลย และนี่จึงเป็นชนวนปัญหาในเวลาต่อมา
เร็วเกินไป ก็ลดความเร็วลงสิ
อย่างที่ผมบอกว่าซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยอิงจากเครื่อง IBM และการพัฒนาซอฟต์แวร์ในสมัยนั้นก็ไม่ได้ดีอะไรมากนัก ทำให้ตัวซอฟต์แวร์มีบั๊กค่อนข้างเยอะ สิ่งแวดล้อมผิดแผกไปนิดหน่อยก็แฮงก์กันได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้น การนำซอฟต์แวร์ที่ชินกับการทำงานบนซีพียูความเร็ว 4.77 MHz มารันในเครื่องที่ใช้ซีพียู 8 MHz คงใช้งานได้ไม่ราบลื่นเท่าไรนัก (ทั้งค้าง ทั้งเด้งออก จนต้องรีเครื่องใหม่) และที่บ่นกันเยอะคือเรื่องของเกม แทนที่รันบนซีพียูแรง ๆ จะได้เฟรมเรตเพิ่มในความรู้สึกของคนสมัยนี้ ในสมัยนั้นมันคือปัญหาใหญ่เลยล่ะ
ดังนั้น ในช่วงแรก IBM จึงแก้ไขด้วยการออก Accelerator card ให้สามารถสลับระหว่างความเร็วสูงสุด และความเร็ว 4.77 MHz ได้ หรือคอมบางแบรนด์อาจมีการอัปเกรดไบออส ให้รองรับการกดคีย์ลัด อาจจะเป็น Ctrl + ALT + ปุ่มบวก-ลบ เพื่อลดหรือเพิ่มความเร็วของซีพียูครับ
และนี่ทำให้แบรนด์ Eagle ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า “งั้นเราก็ทำปุ่มสำหรับลดความเร็วติดไว้หน้าเครื่องเลยสิ”
Eagle PC Turbo และยุครุ่งเรื่องของปุ่ม Turbo
ในเดือนกรกฎาคม 1984 บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ Eagle Computer ได้เปิดตัว PC-clone ในซีรีย์ Eagle PC Turbo โดยใช้ซีพียู 8086 8 MHz (แน่นอนว่ามันจะต้องมีปัญหากับการใช้ซอฟต์แวร์ที่เข้ากับ IBM 4.77 MHz) พร้อมฝังปุ่ม Turbo ติดมาให้ที่หน้าเครื่องด้วย
คุณสมบัติของปุ่มนี้ คือการสลับความเร็วซีพียูระหว่าง 8 และ 4.77 MHz ซึ่งจะเห็นได้ว่าแทนที่มันจะทำให้เครื่องเร็วขึ้น หรือบางคนคิดว่าปุ่มนี้มีไว้เพื่อ OC ซีพียู แต่เปล่าเลย มันกลับทำให้เครื่องทำงานช้าลง เพื่อให้เข้ากันได้กับซอฟต์แวร์ที่พัฒนามาสำหรับเครื่อง IBM 4.77 MHz
แล้วทำไมถึงใช้คำว่า Turbo ทั้งที่มันน่าจะหมายถึงการเพิ่มความเร็วนี่นา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะทำให้เข้ากับชื่อของคอมในซีรีย์นั้น อีกอย่างหนึ่งคือ คงไม่มีใครอยากจะกดปุ่มที่เขียนว่า “Slow” บนหน้าเครื่องหรอก ดังนั้นการใช้คำว่า Turbo เพื่อบ่งบอกเป็นนัยว่า “กดฉันสิ แล้วคุณจะใช้งานได้ดีขึ้น” ดูจะเป็นชื่อที่ฉลาดมากกว่า
หลังจากนั้นในช่วงก่อนปี 1990 คอมทุกเครื่องที่วางขายในท้องตลาดล้วนมาพร้อมปุ่ม Turbo แต่หลังจากนั้นเมื่อเข้าเริ่มศักราชใหม่ ต้นปี 1990 ความเร็วของซีพียูพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งคอมของ IBM เองก็มีความเร็วพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 16, 20, 33, 40, 66 MHz และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ร่วมกับการใช้งานซอฟต์แวร์รุ่นเก่าที่ต้องคงความเร็วของซีพียูไว้ในจุดหนึ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใหม่ ทำให้ปุ่ม Turbo หายเข้ากลับเมฆ
สุดท้ายด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไกลขึ้น ซอฟต์แวร์ในยุคหลังสามารถประเมินความเร็วของซีพียู และปรับให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมได้เอง จนกระทั่งในยุคของซีพียู Pentium ในช่วงกลางถึงปลายปี 1990 ปุ่ม Turbo มีให้ใช้น้อยลงอย่างมาก จนสูญพันธุ์ไปในปี 2000 อีกทั้งยังถูกแทนที่ด้วยซอฟต์แวร์ลดความเร็วซีพียู เช่น Mo’Slo หรือ CPUKILLER หากคุณต้องการใช้งานโปรแกรมรุ่นเก่า ๆ อย่างเสถียรครับ
สำหรับปุ่ม Turbo ในปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรีกับชื่อของมัน เพราะไม่ใช่การลดความเร็วซีพียู หากแต่เป็นการเพิ่มความเร็วให้กับซีพียู เพียงแค่คุณกดปุ่ม Turbo ที่เมนบอร์ดระดับ High-end ซีพียูของคุณจะถูก Overclock อัตโนมัติ ได้ความเร็วเพิ่มภายในเสี้ยววินาทีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.howtogeek.com/678617/why-did-the-turbo-button-slow-down-your-pc-in-the-90s/
You must be logged in to post a comment.