หายกันไปนานนะครับกับบทความในซีรีย์ Extreme History สำหรับวันนี้ผมก็มีเรื่องน่าสนใจมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันเช่นเคย คิดว่าเพื่อน ๆ น่าจะรู้จักพอร์ต USB กันใช่ไหมครับ บางคนน่าจะเกิดมาแล้วก็เจอเข้ากับพอร์ตนี้อยู่บนคอมพิวเตอร์เลย ซึ่งเจ้าพอร์ต USB นี้เองที่เป็นประเด็นของเรื่อง “USB พอร์ตระดับตำนาน ถูกสร้างเพราะผมงอนเจ้านายเก่า”
เรื่องราวมันมีอยู่ว่าย้อนกลับไปในยุค 90 คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปและแล็ปท็อปเริ่มได้รับความนิยมในผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น ลำพังคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปเครื่องเดียวในช่วงเวลานั้นมันก็คงเก็บข้อมูลได้ไม่เพียงพอนัก บางทีคุณอาจจะต้องหากล่องอ่าน Floppy Disk มาต่อเสริม หรือพิมพ์งานผ่านแป้นคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊กมันก็ไม่สะดวกเอาเสียเลย อยากจะต่อคีย์บอร์ดแยกออกมา ถ้าเป็นยุคนี้พอร์ตแรกที่เราจะนึกถึงเลย คือ พอร์ต USB แต่ในช่วงเวลานั้นมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดครับ
พอร์ตเชื่อมต่อในต้นยุค 90 มีให้เลือกหลากหลายมาก อย่างถ้าจะเชื่อมต่อ External floppy drive ต้องใช้พอร์ต Parallel หรือถ้าจะเชื่อมต่อคีย์บอร์ดเก่า ๆ ก็อาจจะเป็น AT connector 5-pin หรือ PS/2 6-pin แถมพอร์ตพวกนี้บางอันใหญ่เป้ง กินพื้นที่แทบจะครึ่งหนึ่งในส่วนที่จัดวางพอร์ตทั้งหมด สำหรับคอมแบบเดสก์ทอปอาจจะไม่ค่อยเจอปัญหาเพราะเครื่องใหญ่หน่อย แต่ถ้าเป็นแล็ปท็อปที่มีพื้นที่น้อย ๆ ผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องตัดบางพอร์ตออกไป ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์บางอย่างที่ต้องใช้พอร์ตเฉพาะเข้ากับเครื่องได้
นอกจากนี้ พอร์ตเชื่อมต่อในยุคนั้นบางชนิดไม่มีระบบจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ภายนอก เวลาเราจะใช้งานนอกจากจะต่อพอร์ตแล้ว ยังยังต้องต่อไฟให้กับอุปกรณ์เสริมด้วย ยิ่งเพิ่มความไม่สะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องใช้งานร่วมกับแล็ปท็อป
พอร์ตผมไม่พอจริง ๆ ครับเจ้านาย
เรื่องนี้ทำให้ Ajay Bhatt วิศวกรหนุ่ม (ในขณะนั้น) ปวดหัวตามไปด้วย เขามักประสบปัญหาพอร์ตเชื่อมต่อในแล็ปท็อปมีไม่เพียงพอ แถมยังขาดบางพอร์ตที่จำเป็นกับงานของเขาไปด้วย จนกระทั่งช่วงปี 1990 เขาปิ๊งไอเดียว่า “ถ้าอย่างนั้นเราน่าจะทำพอร์ตสากลให้กลายเป็นมาตรฐานในทุกอุปกรณ์ไปเลย จะได้ตัดปัญหาเรื่องจำนวนพอร์ตไม่เพียงพอ”
ขณะนั้น Bhatt ทำงานให้กับทาง Wang Laboratories (ปัจจุบันถูกฟ้องล้มละลายและรวมเข้ากับบริษัทอื่น) เขาได้เสนอแนวคิดนี้ให้กับเจ้านายโดยบอกว่า อยากพัฒนาพอร์ตเชื่อมต่อสากลแบบ Plug-and-play (เชื่อมต่อปุ๊บ ใช้ได้ปั๊บ) แน่นอนว่าเจ้านายของเขาไม่สนใจไอเดียนี้ Bhatt เลยงอนเจ้านายของตนเอง (เอ้ย!! ไม่ใช่ ๆ)
Bhatt อยากทำให้ฝันของเขาเป็นจริง จึงได้บอกลาเจ้านายเก่าแล้วอ้าแขนเข้าสู่รั้วบ้านพี่ใหญ่ใจดีสีฟ้า Intel ซึ่งบริษัทใหม่กลับสนใจในไอเดียของเขาและต้องการสร้างพอร์ตสากลนี้ขึ้นมาเช่นกัน โดยในปี 1992 เขาได้เข้าร่วมงานประชุม Jones Farm Conference Center พร้อมกับวิศวกรจากบริษัท Compaq, Digital Equipment Corp. (DEC), IBM, Intel, Microsoft, NEC และ Nortel เพื่อเป็นพันธมิตรในการสร้างและออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้พอร์ตสากลนี้
ในช่วงระดมสมอง วิศวกรต่างเสนอว่าเทคโนโลยีในพอร์ตแบบใดที่ควรจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งพอร์ตที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ได้แก่ Ethernet, Audio jack, Apple GeoPort และ FireWire (IEEE 1394) แต่พอร์ตเหล่านี้ดันไม่ตอบโจทย์ เพราะพวกเขาต้องการพอร์ตที่มีราคาไม่แพง, ใช้งานง่าย, จ่ายพลังงานให้แก่อุปกรณ์เชื่อมต่อได้ และมีแบนด์วิดธ์สูง จนกระทั่งพวกเขาได้โละเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งหมดทิ้ง แล้วสร้างพอร์ตใหม่ขึ้นมาในชื่อ Universal Serial Bus
สำหรับคำว่า Universal มีความหมายว่า สากล บ่งบกถึงการกำหนดให้เป็นมาตรฐานว่าอุปกรณ์ใดที่ใช้พอร์ตนี้จะเชื่อมถึงกันได้เสมอ ถัดมาคือคำว่า Serial เป็นคำเรียกตรงตัวเพราะมันคือพอร์ตแบบอนุกรม มีขนาดเล็กและทำสายได้ยาวถึง 5 เมตร และสุดท้ายคือคำว่า Bus คำนี้ผู้พัฒนาต้องการสื่อให้เห็นว่ามันคืออุปกรณ์ที่นำพาข้อมูลจากจุด A ไปยังจุด B นอกจากนี้ คำว่า Bus ในยุคนั้นยังเป็นคำกล่าวถึงเส้นทางในการขนส่งข้อมูลของคอมพิวเตอร์ด้วย
จุดเด่นของ USB นอกเหนือจากที่มันสามารถจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์เสริมได้แล้ว มันยังสามารถเชื่อมต่อกับฮับเพื่อเพิ่มจำนวนพอร์ตให้มากขึ้นได้ถึง 127 พอร์ต เป็นต้นว่า 1 พอร์ต USB บนโน้ตบุ๊ก เมื่อต่อฮับเข้าไปแล้วก็จะกลายเป็นว่ามีพอร์ตให้เชื่อมทั้งหมด 127 พอร์ตเลยทีเดียว
USB ถือกำเนิด
ในปี 1995 – USB 1.0 ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นพอร์ตที่มีความเร็ว 12 Mbps นับว่าแรงมากในเวลานั้น แต่มันดันแรงเกินไปจนเมาส์และคีย์บอร์ดไม่สามารถทำงานได้ จึงมีการปรับปรุงตัวต้นแบบเล็กน้อยให้รองรับการทำงานที่ความเร็ว 1.5 Mbps ด้วย จึงตัดปัญหานี้ไปในที่สุด
สำหรับ USB 1.0 นั้นเป็นการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ให้โลกรู้เฉย ๆ แล้วตามมาด้วย USB 1.1 ในปี 1996 แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งในปี 1998 นั่นเป็นเพราะในช่วงก่อนหน้านี้ Windows 95 ยังไม่รองรับการทำงานร่วมกับ USB และระบบ Plug and play ต้องรอมาจนถึง Windows 98 นั่นเองครับ
ในงาน COMDEX 1998 มีการโชว์ประสิทธิภาพของ USB ให้ชาวโลกได้เห็น ด้วยการต่อ USB จำนวน 127 พอร์ตผ่านฮับ โดยมี Bill Nye เป็นคนต่อพอร์ตสุดท้าย ก่อนที่จะมีการสั่งพิมพ์เอกสารจากเครื่องปริ้นต์หลายเครื่องที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ตเหล่านี้ แสดงให้เห็นการทำงานของ USB ว่ามันรองรับหลายพอร์ตได้จริง
จนมาถึงทุกวันนี้ Ajay Bhatt ยังคงรู้สึกทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาไม่คิดเลยว่า USB จะอยู่มาได้นานขนาดนี้ มันเหนือความคาดหมายของเขามากเลยทีเดียว “เราสร้างมันขึ้นมาจากข้อจำกัด จำกัดทั้งเรื่องราคา จำกัดทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และมันเคยถูกออกแบบมาเพื่อคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เพื่อสมาร์ทโฟน แล้วดูตอนนี้สิ…”
ก่อนจะจากกันไป จะขอพาเพื่อน ๆ ไปดูคลิปที่ Bill Gates เคยนำเสนอฟีเจอร์ Plug and play ใน Windows 98 ซึ่งมีการเชื่อมต่อเครื่องสแกนเนอร์ผ่านพอร์ต USB แต่ทันทีที่ต่อกลับเกิดจอฟ้า Blue screen of death ขึ้นมากลางเวที !! สุดท้าย Bill Gates เลยต้องพูดแก้เขินไปว่า “นี่แหละ คือสาเหตุที่ทำไมผมถึงไม่รีบเปิดตัว Windows 98 ออกมา”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://spectrum.ieee.org/how-usb-came-to-be
You must be logged in to post a comment.