สำหรับประเด็นที่มีการถกเถียงในช่วงที่ผ่านมา คือเรื่องการทำ XMP ในแรมจะเท่ากับการ Overclock หรือไม่ วันนี้ผมจะพาไปหาคำตอบของเรื่องนี้กันนะครับ
ปกติแล้วแรมจะมีส่วนที่เรียกว่า Serial presence detect (SPD) ซึ่งมันทำหน้าที่เก็บข้อมูลโปรไฟล์ต่าง ๆ ของแรม โดยจะระบุไว้ตามมาตรฐานของ JEDEC เพื่อให้ไบออสสามารถอ่านค่าและนำไปใช้ในการตั้งค่าแรมได้โดยอัตโนมัติ
ทว่า ในการตั้งค่าตาม SPD บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่ค่าที่แรงที่สุด จริง ๆ แล้วชิปแรมอาจมีความสามารถในการเพิ่ม Bus ให้สูงขึ้น หรือกด Timing ให้ต่ำลงเพื่อการใช้งานในด้านอื่น ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของ XMP ครับ
Extreme Memory Profile (XMP) เป็นฟีเจอร์ที่พัฒนาโดย Intel มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนสเปคของแรม โดยเฉพาะ Bus และ Timing ให้มีความแรงมากกว่าหรือดีกว่าสเปคที่ระบุจาก JEDEC SPD ครับ
ซึ่งการทำ XMP จะมีประโยชน์มากในการปรับเปลี่ยนความแรงของชิปแรม จากข้อมูลบนเว็บไซต์ WikiChip กล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญไว้ ดังนี้
Multiple SPD profiles – สร้างโปรไฟล์สำหรับการนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น โปรไฟล์เพื่อการเล่นเกมจะเน้นค่า Timing ที่ต่ำกว่าค่ากำหนดของ JEDEC
Memory vendor specific SPD fields – ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างโปรไฟล์ของตัวเองได้ตามความสามารถของชิปแรม
Easy Over-clocking (มือใหม่) – ให้ผู้ใช้สามารถเลือกโปรไฟล์ที่มีความเร็วสูงขึ้น และมีการตั้งค่าอย่างเหมาะสมอัตโนมัติ
Advanced Overclocking (ชำนาญ) – ให้ผู้ใช้สามารถสร้างโปรไฟล์ของตนเอง จากการปรับแต่งค่าตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับ JEDEC SPD
Fail-safe default boot – กลับคืนค่าเดิมของ SPD ได้ หากมีการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสม
แต่คำถามคือการปรับ XMP แรม มันเท่ากับการ Overclock หรือไม่ ?
ตรงนี้ต้องแบ่งคำตอบออกเป็น 2 ส่วนนะครับ คือส่วนของชิปแรม และวงจรควบคุมในซีพียู เนื่องจากว่าการปรับค่าของชิปแรมใด ๆ นั้น จะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของวงจรควบคุมแรมในตัวซีพียูด้วย ดังนั้น คำว่า Overclock จะต้องพูดถึงสองสิ่งนี้
ชิปแรม
จากภาพก่อนหน้านี้ที่เราได้ดูไปแล้วเอามารีรันอีกที อย่างที่ผมบอกไปนะว่าค่ามาตรฐาน คือค่าจาก JEDEC SPD ดังนั้นการปรับเปลี่ยนค่าของชิปแรมไปเป็นตัวเลขใดก็ตามที่ไม่ใช่ค่าตาม SPD สูงสุด นั่นเท่ากับการ Overclock
แสดงว่าถ้าดูจากภาพ ไม่ว่าผู้ใช้จะปรับจาก JEDEC #5 เป็น #7 ก็ไม่ใช่การ Overclock แม้กระทั่งการเปิด XMP เพียงอย่างเดียว แล้วให้ไบออสทำงานแบบออโต้ ก็ไม่เท่ากับ Overclock (เพราะสุดท้ายมันจะเลือกจาก JEDEC SPD สูงสุดที่ใช้ได้)
อย่างไรก็ตาม ในชิปแรมยังมีการตั้งค่าในส่วนที่เป็นโปรไฟล์ XMP สูงสุด ซึ่งอาจเกิดจากค่า XMP ที่สามารถเลือกได้จากไบออส หรือค่าโปรไฟล์ที่ผู้ผลิตสร้างไว้ให้ ซึ่งมันอาจเป็นการ Overclock จริง แต่การตั้งค่าเหล่านี้ผู้ผลิตสามารถยอมรับได้ให้ผู้ใช้ปรับใช้ค่าดังกล่าว ดังนั้น แม้จะเป็นการ Overclock แต่ก็ไม่อาจทำให้หมดประกันได้นะครับ (ขึ้นกับผู้ผลิตนะครับ)
ซีพียู
เอาหละอันนี้เรื่องใหญ่ จากการสอบถามไปยัง Intel Thailand ผมได้คำตอบมาดังนี้
การใช้ XMP จะทำให้ CPU หมดการรับประกัน เนื่องจากตัวควบคุมหน่วยความจำ (memory controller) อยู่ในตัว CPU เมื่อมีการใช้ XMP Profile จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงค่าไฟ (voltage) ซึ่งอยู่ภายใน CPU ดังนั้น จะทำให้ CPU หมดการรับประกันครับ
โอ้ว !! ช็อกไปเลย อันนี้ผมเองก็เพิ่งทราบ ตามรายละเอียดด้านบนคือ สมมุติว่าประกอบคอมครั้งแรกไบออสอ่านค่าแรมตาม JEDEC #5 แต่คุณอยากให้แรมเร็วขึ้นโดยการเปิด XMP แล้วเลือกตามโปรไฟล์ของ JEDEC #7 (ซึ่งตัวแรมจะไม่หมดประกัน และไม่ถือเป็นการ Overclock) มันทำให้ความถี่และแรงดันไฟของหน่วยควบคุมแรมในซีพียูเกิดการเปลี่ยนแปลงไป นั่นเท่ากับว่าคุณ Overclock ซีพียู !!
อนึ่ง การ Overclock ในปัจจุบันหมายถึงการปรับเพิ่มความเร็วให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใด ๆ ก็ตาม จากค่ามาตรฐานของมันนะครับ ดังนั้น แม้คุณจะปรับค่า Timing แค่ตัวเดียวในชิปแรม แต่ถ้ามันไม่อยู่ใน JEDEC SPD ก็เท่ากับว่าคุณได้ Overclock มันแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลที่ผมได้ค้นหามาทั้งหมด ผิดพลาดตรงไหนสามารถแจ้งเข้ามาได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก WikiChip และ Intel Thailand
You must be logged in to post a comment.