Frore Systems คุณอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อนี้มาก่อน บริษัทนี้คือผู้ผลิตโมดูลระบายความร้อนให้แก่ชิปประมวลผล แต่เป็นโมดูลแบบใหม่ที่ไม่ทั้งพัดลมฮีตซิ้งก์หรือชุดน้ำใด ๆ หากแต่เป็นการระบายความร้อนแบบ Solid-state และเชื่อว่านี่จะเป็นโมดูลใหม่ที่จะนำมาใช้ในโน้ตบุ๊กแบบบางเบาในอนาคตครับ
โมดูลระบายความร้อน Frore Systems มีอยู่ด้วยกันสองรุ่น ได้แก่ AirJet Mini และ the AirJet Pro ขอเริ่มต้นด้วยวิธีการทำงานของชิประบายความร้อน Solid state เบื้องต้นก่อน
Frore Systems AirJet จะมีลักษณะเป็นแผง หนาเพียง 2.8 มิลลิเมตร แปะอยู่บนชิปประมวลผล (เช่น ซีพียู) เมื่อซีพียูร้อนขึ้น เซนเซอร์ในตัว Frore Systems AirJet จะสั่งการให้เมมเบรนภายในเกิดการ “สั่นสะเทือน” แรงสั่นพ้องนี้จะทำให้อากาศจากภายนอกถูกดึงเข้ามาเสมือนพัดลมที่ดูดลมเข้า
จากนั้น ลมที่เข้ามาจะผ่านลงไปสู่ช่องหรือ Chamber พร้อมปะทะกับแผ่นทองแดงที่ดูดความร้อนจากซีพียูเตรียมไว้แล้ว ลมเหล่านี้จะนำพาความร้อนจากแผ่นทองแดงไหลออกผ่านช่องเปิดที่ปลายด้านหนึ่งในที่สุด แน่นอนว่าเมื่อกลไกระบายความร้อนนี้ไม่มีอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวเหมือนพัดลมฮีตซิ้งก์ มันจึงทำงานได้อย่างเงียบเชียบ
เนื่องจากการสั่นสะเทือนของเมมเบรนมีแอมปลิจูดในระดับไมโครเมตร ส่งผลให้เสียงที่เกิดจากการทำงานมีอยู่เพียง 21-24 เดซิเบลเอ (dBA) ซึ่งเทียบเท่ากับเสียงกระซิบในห้องเงียบเท่านั้น ในขณะที่พัดลมโน้ตบุ๊กจะมีความดังเฉลี่ย 42 เดซิเบลเอ
ส่วนแรงดันอากาศที่สามารถดึงลมเข้ามาได้นั้นมีมากถึง 1750 Pa ในขณะที่พัดลมโน้ตบุ๊กอาจอยู่ในระดับ 140 Pa ทำให้ Frore Systems AirJet กลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อการระบายความร้อนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
คาดว่าในอนาคต Frore Systems AirJet จะถูกนำมาในกับอุปกรณ์ที่มีใช้ชิป ARM หรือคอนโซลเกมพกพาอย่าง Steam Deck (โดยใช้คู่กับ AirJet Mini) ไปจนถึงโน้ตบุ๊ก x86 ที่เน้นความบางเบา (โดยใช้คู่กับ AirJet Prp) อย่างไรก็ตาม เราน่าจะได้เห็นในโน้ตบุ๊ก Intel EVO กันก่อนแน่นอน เพราะนี่เป็นการร่วมพัฒนากับทาง Intel ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก PCWorld
You must be logged in to post a comment.