กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะครับ
สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาว Extreme PC หลังจากที่ห่างหายไปนานเกี่ยวกับบทความสุขภาพ สำหรับชาวเกมเมอร์ วันนี้ผมมีบทความน่าสนใจมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน เป็นเรื่องของ การติดเกม (Game Addiction) ครับ
การติดเกม (Game Addiction)
เกิดจากอะไร?
ในส่วนนี้ ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดลึกมานะครับ เดี๋ยวจะพากันงงเสียก่อน แต่จะพูดถึงเรื่องกลไกของการติดเกมแบบคร่าวๆ
ในสมองของเรานี้ จะมีสารสื่อประสาทประเภทหนึ่ง ชื่อ Dopamine มันเป็นสารที่กระตุ้นให้สมองส่วนต่างๆ ตามเส้นทางที่มันถูกส่งไป ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก และความพึงพอใจ
ทีนี้ภายในสมองมันจะมีส่วนที่เราเรียกว่า Reward system ซึ่งเป็นบริเวณที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความปรารถนา ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีกครั้ง โดยมีเจ้า Dopamine เป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้น
เมื่อสมองถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น ยาเสพติด หรือการพนัน มันจะทำให้ Dopamine ถูกหลั่งออกมามาก จนมันมีการสั่งการให้ปิดการรับ Dopamine (รับได้น้อยลง) เพื่อป้องกันไม่ให้ Dopamine มันเข้าสู่เซลล์ประสาทมากเกินไป
ปัญหามันอยู่ตรงนี้…
เมื่อสิ่งเร้าจากภายนอก ถูกกระตุ้นน้อยลง (ยาเสพติด, การพนัน) จะทำให้ Dopamine ที่เคยหลั่ง “มาก” กลับมาหลั่ง “ปกติ” แต่เพราะ Reward system ลดการรับ Dopamine ทำให้ Dopamine ขนาดเดิมๆ มันไม่เพียงพอต่อการทำงานของเซลล์ประสาท
ผลที่ได้คือ ลงแดง (Withdrawal)
และจากกลไกนี้ จึงมีสมมุติฐานว่า การเล่นเกมน่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
แต่มันจะจริงหรือไม่?
เพื่อตอบคำถามนี้ ผมจึงได้ลองหางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยงานวิจัยนี้ได้มีชื่อว่า Brain activity and desire for internet video game play มีการทดลองให้อาสาสมัครเล่นเกม FPS เป็นเวลา 2 อาทิตย์ แล้วมีการตรวจสารสื่อประสาทในสมองเป็นระยะๆ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลง
พบว่าลักษณะของสมองในอาสาสมัครบางคน มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท พบว่า ความสว่างของพื้นที่ใน Reward system มีน้อยลง! ซึ่งบ่งบอกว่ากำลังเกิดอาการเสพติด แสดงว่าเกมอาจมีความเกี่ยวข้องทำให้เกิดอาการเสพติดได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองที่มีอยู่หลากหลายในปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกมทำให้เกิดอาการเสพติดได้จริงๆ เพียงแต่ “อาจจะมีความเกี่ยวข้อง” ทำให้เกิดการเสพติดนั่นเอง
จัดเป็นความผิดปกติหรือไม่?
จริงๆ ทาง WHO ได้ออกมาประกาศแล้วว่า อาการติดเกม จัดเป็นความผิดปกติประเภทหนึ่ง (Disorder) ซึ่งมันก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวได้ว่าผู้ป่วยมีอาการติดเกม เช่น ไม่สนใจเล่นกิจกรรมอื่นๆ นอกจากเล่นเกม, เมื่อหยุดเล่นเกม จะรู็สึกกระวนกระวาย เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ได้มีบางฝ่ายที่ออกมาโต้แย้ง เพราะพวกเขาเชื่อว่าเกม มันมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
จัดการอย่างไร?
ในจุดนี้ผมไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัด ถึงวิธีการจัดการพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเกม คิดว่าแต่ละคนน่าจะมีแนวทางเป็นของตัวเอง หัวใจสำคัญของมันคือการ “ลด ละ เลิก”
โดยส่วนตัวผมคิดว่า เราอาจจะไม่ต้องเลิกเล่นก็ได้ เพียงแต่มีการจำกัดขอบเขตเวลาของการเล่นเกม ไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และไม่ส่งผลเสียต่อการเรียน เพราะเกมไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพียงแต่ว่าบางครั้งเราอาจจะเล่นมันเกินความพอดีครับ
![](https://www.nexups.com/wp-content/uploads/2018/03/picnic.jpg)
สำหรับผู้ปกครองนะครับ ผมอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า มีเกมหลายๆ เกมที่ช่วยฝึกทักษะของเด็กได้ และเกมไม่ใช่สิ่งไม่ดี ถึงกระนั้น ถ้าเป็นกังวลว่าลูกหลานจะติดเกม หรือเล่นเกมเกินความพอดี ก็ให้ชักชวนพวกเขาออกมาทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัวบ้าง หรืออาจจะกำหนดเวลาในการเล่น (แบบพูดคุยกันดีๆ) ก็ย่อมได้ครับ
ส่งท้าย…
เกม ไม่ใช่ส่งที่เลวร้าย หากรู้จักเล่นอย่างพอดี ยังมีเกมอีกหลายประเภทที่เสริมสร้างการเรียนรู้ของเรา ยกตัวอย่างเช่น เกม MOBA ช่วยเสริมสร้างทักษะทางด้านความคิดได้ ไม่ต่างจากการเล่นหมากรุก ซึ่งในครั้งหน้า ผมจะมานำเสนอบทความเกี่ยวกับ ทักษะการเรียนรู้ที่ได้จากการเล่นเกม อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ สวัสดีครับ
ฝากภาพสุดท้ายไว้ก่อน แล้วเรามาเจอกันอีกในบทความหน้านะครับ ^^
You must be logged in to post a comment.