[เรื่องน่ารู้] เมื่อข้อมูลสำคัญยิ่งชีพ – รู้จักอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบต่างๆ ทั้ง HDD, SATA SSD และ M.2 SSD พร้อมข้อดี-ข้อเสียในการใช้งาน
บทความเกี่ยวกับซีพียู การ์ดจอ แรม และมอนิเตอร์ก็มีไปแล้ว วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอย่างมาก คือ Hard Disk นั่นเอง แล้วเดี๋ยวจะพาไปรู้จักอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบอื่นๆ ด้วยครับ
Hard Disk drive (HDD)
เรามาเริ่มกันที่อุปกรณ์เก็บข้อมูลรุ่นใหญ่อย่าง HDD กันก่อนเลยนะครับ (ขอใช้ตัวย่อนะ) HDD ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2499 (บางแหล่งข่าวก็ว่าปี 2500) โดย HDD ในสมัยนั้น มีขนาดใหญ่กว่าตู้เย็น ข้างในมีจานแม่เหล็กขนาด 24 นิ้ว จำนวน 50 แผ่น รวมแล้วมีความจุเพียง 4 MB เท่านั้น แถมค่าเช่าเพื่อใช้งานก็มีราคาสูงถึง 35,000 ดอลลาร์/ปี เลยทีเดียว
IBM 305 RAMAC – HDD เครื่องแรกของโลก
ต่อมา HDD จึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ราคาของมันจึงถูกลงอย่างมาก และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ HDD สามารถอ่านเขียนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และรองรับข้อมูลจำนวนมากได้
สมัยก่อน HDD มีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ IDE ซึ่งเป็นพอร์ตแบบขนาน ความเร็วในการส่งข้อมูลทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความหนาของสายเชื่อมต่อ และการพัฒนาเป็นไปได้ยากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาพอร์ต Serial ATA หรือ SATA ขึ้น ทำให้สายเชื่อมต่อมีขนาดเล็ก และสามารถเพิ่มความเร็วในการเข้าเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นครับ โดย SATA 3.0 รุ่นล่าสุด สามารถอ่านเขียนข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 6 Gb/s
ในส่วนการทำงานของ HDD นั้น จะมีส่วนประกอบสำคัญคือจานแม่เหล็ก และหัวอ่าน ในส่วนของจานแม่เหล็กจะถูกแบ่งพื้นที่เป็น Track และในแต่ละ Track จะมีพื้นที่ย่อยๆ เรียก Sector ซึ่งข้อมูลต่างๆ อาจกระจัดกระจายอยู่ใน Sector ใดก็ได้ตลอดทั้ง HDD
เพราะฉะนั้น ความเร็วในการนำเข้าและส่งออกข้อมูลใน Sector จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเร็วในการทำงานของ HDD เมื่อได้รับคำสั่งให้นำข้อมูลออกมา จานหมุนจะต้องหมุนไปยัง Track ที่มีข้อมูล จากนั้นหัวอ่านจะอ่านข้อมูลจาก Sector ใน Track ซึ่งกระบวนการนี้จะมีการทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น ถ้า HDD สามารถหมุนได้เร็ว ก็จะเข้าถึงข้อมูลในแต่ละ Track/Sector ได้เร็ว ซึ่งการหมุนของจานแม่เหล็ก จะวัดเป็นรอบต่อนาที (rpm) โดยทั่วไป HDD ของเดสก์ทอปจะหมุนด้วยความเร็ว 7200 rpm ส่วนของโน้ตบุ๊คจะอยู่ที่ 5400 rpm ครับ
นอกจากนี้ ความเร็วของการส่งข้อมูลของ HHD ก็มีความสำคัญ เพราะข้อมูลจะต้องผ่านจากจานแม่เหล็ก ไปยังหัวอ่าน ไปยังส่วน Controller ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงซีพียู เราจะเห็นได้ว่า ข้อมูลจะต้องผ่านหลายเส้นทางกว่าจะถูกนำไปประมวลผล นี่จึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของ HDD
แต่ HDD ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย เนื่องจากมีราคาถูก แถมได้ความจุมาก จึงเหมาะที่จะนำมาใช้งานได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปครับ
SATA Solid State Drive (SATA SSD)
อย่างที่ผมได้บอกไปข้างต้นว่า ข้อจำกัดความเร็วของ HDD จะอยู่ที่การหาข้อมูลและการส่งข้อมูลไปประมวลผล ดังนั้น จึงได้มีการคิดค้นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบใหม่ขึ้น โดยใช้หน่วยความจำแบบ Flash นั่นเอง
นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของ Solid State Drive (SSD) โดยมีการนำชิปหน่วยความจำมาวางต่อกันบนแผงวงจร พร้อมด้วยชิปควบคุมอีก 1 ชิ้น ก็จะได้ SSD ขึ้นมา 1 แผง มองดูแล้วจะคล้ายกับชิปแรม เพียงแต่ว่าชิปของ SSD จะสามารถเก็บข้อมูลได้ตลอด โดยไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้า (ส่วนแรม ถ้าปิดเครื่องข้อมูลจะหายทันที)
จะเห็นได้ว่าบน SSD จะไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว การส่งข้อมูลจะออกมาจากชิปหน่วยความจำ เข้าไปยังส่วน Controller ก่อนที่จะถูกเรียบเรียงไปประมวลผลที่ซีพียู เมื่อมันไม่มีจานให้หมุนหาตำแหน่ง Track ไม่มีหัวอ่าน ไม่มีชิ้นส่วนใดที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งข้อมูล SSD จึงทำงานได้เร็วกว่า HDD หลายเท่าเลยครับ
สำหรับข้อเสียของ SSD นะครับ อย่างแรกคือราคาแพง สมมุติถ้าเพื่อนๆ ซื้อ HDD 1 TB ในราคา 2000 บาท ราคานี้อาจซื้อ SSD ได้ความจุเพียง 120 GB เท่านั้นเอง
แต่เท่านี้ยังไม่หมดนะครับ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับอายุการใช้งานมาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้ผมขอตอบเลยว่า SSD มีแนวโน้มที่จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่า HDD (สมมุติว่าวางตั้งแล้วให้อ่านเขียนข้อมูลธรรมดา ไม่มีการกระทบกระเทือนจากภายนอกใดๆ นะครับ) ซึ่งมันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการประจุไฟเข้าไปในชิปของ SSD แต่ผมจะยังไม่ขอพูดถึงรายละเอียดในจุดนี้ คาดว่าในบทความหน้า ผมจะได้นำเสนอให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ ติดตามกันด้วยนะ
เอาล่ะ ทีนี้แม้ว่า SSD จะมีข้อดีในเรื่องของความเร็ว แต่ข้อจำกัดของมันอยู่ที่สาย SATA เนื่องจาก SSD ที่ถูกทำออกมาในช่วงแรก (จะมีลักษณะเหมือนกล่องที่บรรจุแผง SSD ไว้ภายใน ผมเรียกว่า SSD แบบกระปุก) จะใช้พอร์ตเชื่อมต่อผ่านสาย SATA ซึ่งมันก็รองรับความเร็วที่เพิ่มขึ้นได้ดีนะ แต่มันยังไม่ทำให้ SSD ทำงานได้เร็วพอ จึงได้มีการคิดค้นพอร์ตแบบอื่นที่ช่วยให้การส่งข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น
M.2 SSD
M.2 เป็นสล็อตเชื่อมต่อแบบใหม่ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุปกรณ์เก็บข้อมูลมากขึ้น โดยพอร์ตนี้ จะสามารถทำงานเชื่อมต่อไปยังเส้นทางของ SATA, PCIe หรือ USB ก็ได้ เพียงแค่เสียงอุปกรณ์ของเราลงไปยังสล็อตดังกล่าว
ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนา SSD ที่ใช้สล็อต M.2 ขึ้น ขนาดของ SSD ประเภทนี้ จะเล็กกระทัดรัด ประหยัดเนื้อที่อย่างมากเลย (มันเล็กพอสมควรเลย ตอนแรกผมไม่คิดว่ามันจะเล็กขนาดนั้น) การใช้งานก็เพียงแค่เสียบ SSD ลงไปบนสล็อต M.2 บนเมนบอร์ด ขันน็อตที่ปลายด้านหนึ่งให้แน่นพอประมาณ จากนั้นก็เปิดคอมใช้งานได้เลย
ทีนี้ ก็มีปัญหาอยู่อีกว่า M.2 ในปัจจุบัน มันมีอยู่ 2 เส้นทาง สายหนึ่งจะใช้เส้นทางของ SATA ส่วนอีกสายใช้เส้นทางของ PCIe x4 ซึ่งแบบแรก จะทำให้ความเร็วของ M.2 SSD แทบจะไม่แตกต่างไปจาก SATA SSD แบบกระปุกสี่เหลี่ยมเลย แต่ถ้าเป็นสายที่ใช้เส้น PCIe มันจะเร็วกว่า SATA SSD หลายเท่า ดูได้จากกราฟทางด้านล่างเลยครับ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องซื้อ M.2 SSD แบบไหน? อ่านจากคู่มือเมนบอร์ดเลยครับ ว่าบอร์ดเรารองรับแบบไหน แล้วไปที่ร้านขายอุปกรณ์ บอกพนักงานในร้านได้เลยว่าจะใช้ M.2 SSD แบบ SATA หรือ PCIe
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเรื่องหัวพินของ SSD ทั้ง 2 ประเภท มันจะมีรอยบากคนละทางครับ รวมถึงจำนวนรอยบากที่มีไม่เท่ากันด้วย
ควรเลือกใช้แบบไหน?
อันนี้ต้องพิจารณาหลายอย่างเลยครับ อย่างแรกคืองบประมาณ ถ้าเราต้องการความจุเยอะ ในงบน้อย ก็แนะนำให้ใช้ HDD จะดีกว่านะครับ เพราะในงบที่เท่ากัน SSD จะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของความจุ
แต่ถ้าใครมีงบเยอะหน่อย ก็สามารถอัพเกรดไปใช้ SSD แบบกระปุก (SATA SSD) หรือ M.2 SSD ก็ได้นะครับ ไม่ว่ากัน หรือใครอยากใช้ผสมผสานอย่างเอา SSD มาลง Windows กับโปรแกรมที่ใช้บ่อย แล้วซื้อ HDD มาใช้เก็บข้อมูล ก็โอเคเลยทีเดียว (ของผมก็ใช้ SSD+HDD)
ประสบการณ์ในการใช้ HDD vs. SSD
ก่อนจากกัน ผมขอเล่าความรู้สึกจากการได้ใช้ทั้ง HDD และ SSD นะครับ ตอนแรกผมมี HDD อยู่ 2 ลูก เลยเอามาต่อกัน RAID 0 เพื่อหวังให้เพิ่มความเร็วในการอ่านเขียน ผลก็คือ ความเร็วมันเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เยอะมากอย่างที่คิด (น่าจะช้ากว่า SATA SSD อยู่ประมาณหนึ่งเลยล่ะ)
ทีนี้ก็เลยเกิดความคิดอยากจะลองเอา SSD มาใช้ดู เพราะเคยอ่านในกระทู้บางแห่งบอก ใช้ SSD เปิด Windows แค่ 10 วินาที !! กิเลสเริ่มเกิด ผมเลยติดต่อไปยังพี่แอดมิน ก็เลยได้เจ้า WD Black 250 GB มา 1 ตัว เป็น M.2 SSD (PCIe) ครับ
จากนั้นก็จัดแจงติดตั้งลงไป เอา Windows ลงใน SSD พร้อมด้วยโปรแกรม Adobe ต่างๆ นานาที่ผมต้องใช้ และที่ขาดไม่ได้คือเกม DOTA 2 (อันนี้สำคัญมาก) ส่วนข้อมูลอื่นๆ เก็บไว้ใน HDD
เมื่อได้ลองใช้งาน โอ้ว!! พระเจ้า เปิด Windows เร็วขึ้นเยอะ Photoshop นี่ไม่ต้องค้างหน้าโลโก้ให้เปื่อย แป๊ปเดียวก็ขึ้น Workspace ให้ทำงานกันแล้ว และที่สำคัญคือ มีครั้งหนึ่งที่เน็ตหลุด และ DOTA 2 ของผมมันเด้งออก จากแต่ก่อนที่เคยใช้ HDD แล้วกว่าจะโหลดเกมขึ้นมาได้ เล่นเอาหัวร้อนกันเลยทีเดียว แต่พอใช้ SSD เท่านั้นแหละ เหมือนสวรรค์มาโปรด เกมโหลดขึ้นเร็วมาก สามารถกลับเข้ามาแก้สถานการณ์ได้ทันท่วงทีครับ
ก็เป็นอีกหนึ่งสีสันในการใช้ SSD ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ลองใช้ดูนะครับ แล้วจะรู้สึกเหมือนได้คอมใหม่ ใครที่มีโมเม้นต์แบบนี้ คอมเมนต์มาเล่าสู่กันฟังได้ที่หน้าเพจ Extreme PC ได้เลยนะครับ ในครั้งนี้ผมขอติดเรื่องอายุการใช้งาน SSD ไว้ก่อน ครั้งหน้ามีมาแน่นอน อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.howtogeek.com/320421/what-is-the-m.2-expansion-slot/
https://www.pcmag.com/article2/0,2817,2404258,00.asp
You must be logged in to post a comment.