วันนี้ผมจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องนาโนเมตรในซีพียู สำหรับรายละเอียดเชิงลึกผมจะไม่นำมากล่าวมาก เดี๋ยวมันจะยาว แต่ผมจะพาไปทำนายประสิทธิภาพชิป Intel 7nm เทียบกับ AMD 5nm กันดีกว่า
โหนดการผลิตเล็กลง มีข้อดีอย่างไร?
นาโนเมตรที่เล็กลง หมายถึงขนาดของทรานซิสเตอร์ที่จะนำมาวางบนชิป จะมีขนาดเล็กลงด้วย ทำให้ใช้พื้นที่บนชิปน้อยลง อัดทรานซิสเตอร์ได้มากขึ้น และการใช้พลังงานก็น้อยลง เพราะการสูญเสียพลังงานไปกับความร้อนมีน้อยลงด้วย นั่นทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของชิปมีมากขึ้นด้วยครับ
สำหรับจำนวนทรานซิสเตอร์นั้น จะใช้เทอม MTr/mm² หมายถึง ล้านตัวต่อตารางมิลลิเมตร ซึ่งเป็นจำนวนทรานซิสเตอร์ต่อพื้นที่ในชิป ทั้งนี้ Intel ได้ใช้สูตรคำนวณ เพื่อบอกถึงปริมาณทรานซิสเตอร์ ดังนี้
ซึ่งผมจะบอกเลยว่า สูตรนี้ไม่ใช่สูตรมาตรฐานนะครับ เป็นแค่สูตรที่ทาง Intel ใช้คำนวณ เพื่อกำหนดเป้าหมายของความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ในชิป จึงไม่อาจเอาไปเปรียบเทียบกับชิปจากค่ายอื่นได้
Intel 14nm vs. Intel 10nm vs. AMD (GloFo) 12nm vs. AMD (TSMC) 7nm
ตามข้อมูลที่ผมได้มานั้น Intel 14nm จะมีทรานซิสเตอร์อยู่ 43.5 MTr/mm² ในขณะที่ชิปของ AMD ซึ่งผลิตโดย GlobalFoundaries นั้น มีความหนาแน่น 36.7 MTr/mm² นั่นบ่งบอกว่าประสิทธิภาพของ Intel 14nm นั้น ยังไงก็ดีกว่า Ryzen 2000 แน่นอน
ในขณะที่ชิป 7nm ซึ่งผลิตโดย TSMC นั้น จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ HPC ที่มีความหนาแน่นอยู่ที่ 66.7 MTr/mm² ซึ่งตัวนี้นำมาใช้ใน Ryzen 3000 แต่ชิปตัวท็อปนั้น จะมีความหนาแน่นอยู่ที่ 96.5 MTr/mm² ซึ่งอาจจะนำมาใช้ใน Ryzen 4000 (7nm+) นั่นเองครับ
ถึงกระนั้น Ryzen 3000 เอง ก็ยังไม่สามารถเอาชนะ Intel 14nm ได้อย่างขาดลอย อันนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ชิปยังไม่สามารถดันความเร็วแบบ All core ให้สูงได้เท่ากับของ Intel รวมถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในที่ยังสู้ Intel ไม่ได้
ส่วนชิป Intel 10nm ที่ยังมาไม่ถึง ตามรายละเอียดที่ผมทราบมาคือ มันจะมีความหนาแน่นอยู่ที่ 100.8 MTr/mm² นั่นหมายความว่า ความแรงของมันคงพุ่งทะลุ Ryzen 3000 ไปไกลเลยทีเดียว
Intel 7nm vs. AMD (TSMC) 5nm
เอาล่ะ เรามาเข้าเรื่องของวันนี้เลยดีกว่า Intel ได้ออกมาประกาศว่า ชิป 7nm จะมีความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์มากกว่าชิป 10nm ถึง 2 เท่า เพราะฉะนั้น มันจะมีจำนวนทรานซิสเตอร์อยู่ที่ 201.6 MTr/mm² เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน TSMC เอง ก็เคยมีข่าวว่า ชิป 5nm จะสามารถเพิ่มความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับชิป 7nm หากลองคำนวณจากชิป 7nm รุ่นท็อป (96.5 MTr/mm²) จะได้จำนวนทรานซิสเตอร์อยู่ที่ 173.7 MTr/mm² ครับ
สรุปรวมตรงนี้เลยนะครับ ตามการคาดการณ์จากข่าวของ Intel ซีพียู 7nm น่าจะเปิดตัวได้ทันภายในปี 2021 ซึ่งไปตรงกับตารางเวลาของ Ryzen 5nm พอดี ถ้าไม่มีกำหนดการเปลี่ยนแปลง ถึงตอนนั้นซีพียูของ Intel จะได้กลับมาทวงความเหนือชั้นอีกครั้งอย่างแน่นอน (แอดคำนวณจากปัจจัยเรื่องความหนวแน่นของทรานซิสเตอร์อย่างเดียวนะครับ)
อย่างไรก็ตาม ข่าวก็ยังเป็นข่าว คงต้องรอให้มีรายละเอียดเปิดเผยมาให้มากกว่านี้อีกหน่อย เพราะอย่างน้อยหากมันยังไม่เปิดตัว ก็สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techcenturion
You must be logged in to post a comment.