สวัสดีครับเพื่อนๆ สำหรับวันนี้มีบทความที่นาสนใจอย่างเรื่องซีพียูรหัส X และ รหัส K ของ Intel วันนี้เพิ่งมีเวลาได้เขียน ดังนั้น เราจะมาดูกันว่าซีพียูทั้ง 2 ตระกูลนี้ มีความแตกต่างไปจากรุ่นปกติอย่างไรบ้าง
Intel Core X Series – ซีพียูระดับ Extreme เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง
สำหรับซีพียู Intel Core X นี้ จะถูกเรียกว่ากลุ่ม High-end desktop (HEDT) ซึ่งหมายถึงซีพียูเดสก์ทอประดับไฮเอนด์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ซีพียูระดับ Enthusiastic แน่นอนว่ามันต้องแตกต่างไปจากซีพียูทั่วไปครับ
ที่บอกว่าซีพียูสำหรับทำงานนี้ ไม่ได้หมายความว่าซีพียูรุ่นอื่นทำงานไม่ดีนะครับ เพียงแต่ซีพียู Intel Core X นี้ จะมีข้อได้เปรียบบางอย่าง ที่ช่วยให้การประมวลผลชิ้นงานต่างๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะงานหนักๆ อย่างการตัดต่อวิดีโอ หรือการทำกราฟฟิกแอนิเมชั่น
ในส่วนของ Intel Core X ที่จะพูดถึง จะเป็นสถาปัตยกรรม Skylake X นะครับ เนื่องจาก Kaby Lake X นั้น ทาง Intel ได้กำหนดให้อยู่ในสถานะสิ้นอายุการพัฒนาแล้ว เอาล่ะ เรามาดูกันว่า ซีพียูในกลุ่มนี้ จะมีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง
แกนประมวลผลเยอะขึ้น งานเสร็จไวขึ้น
ในส่วนนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างแรก ของซีพียู Intel Core X เลยก็ว่าได้ ถ้าใครที่เป็นแฟน Intel น่าจะพอทราบดีกว่า ก่อนที่จะมีซีพียู Coffee lake นั้น ซีพียูระดับท็อปสุดในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป จะมีแกนประมวลผลเพียง 4 Cores/ 8 Threads เท่านั้น ซึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอในการทำงานขนาดใหญ่ได้
Intel จึงได้ให้กำเนิดซีพียูซีรี่ส์ X นี้ขึ้นมา โดยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของแกนประมวลผลที่มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น Intel Core i7-7800X ที่เปิดตัวมาในราคาที่ใกล้เคียงกับ Intel Core i7-7700K ก็มีแกนประมวลผล 6 Cores/12 Threads เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ซีพียู Core X ได้คะแนนไปในเรื่องแกนประมวลผล และหลายๆ คนน่าจะทราบกันดีว่า ในการเรนเดอร์วิดีโอ หรืองานกราฟฟิกต่างๆ ซีพียูที่มีแกนประมวลผลเยอะกว่า จะช่วยให้งานเสร็จได้เร็วขึ้นด้วย
รองรับแรมแบบ Quad channel และมี PCIe lane ที่มากกว่า
อันนี้เป็นอีกหนึ่งข้อดี สำหรับสายทำงานแบบฮาร์ดคอร์นะครับ เนื่องจากซีพียู Core X นี้ จะรองรับการทำงานร่วมกับแรมแบบ Quad channel สูงสุด 128 GB ทำให้เราสามารถทำงานหนักๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมี PCIe lane ที่มากกว่าซีพียูทั่วไป จึงทำให้สามารถทำงานร่วมกับการ์ดจอได้มากกว่า 1 ตัวได้อย่างสบาย (ถ้าบอร์ดมีหลายสล็อตให้ใส่นะ) หรือจะเป็นอุปกรณ์ I/O อื่นๆ ก็จะสามารถเพิ่มลงในบอร์ดได้มากขึ้นด้วยครับ
มาพร้อมชุดคำสั่ง AVX-512
อันนี้อาจจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยหน่อยนะครับ ผมจะขอกล่าวคร่าวๆ ละกัน สำหรับชุดคำสั่ง AVX-512 ที่มีเพิ่มมาใน Intel Core X จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณเวกเตอร์ 512 บิต ที่ช่วยให้การทำงานทางวิทยาศาสตร์, การสร้างแบบจำลอง 3 มิติ, การประมวลผลภาพและเสียง/วิดีโอ และอื่นๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
รองรับการ Overclock
แน่นอนว่าซีพียูระดับนี้ จะต้องมีความสามารถในการปลดล็อกตัวคูณได้ด้วย สำหรับใครที่ต้องการรีดประสิทธิภาพของ Core X ให้มากขึ้น ก็สามารถทำการ Overclock ซีพียูได้ ดันกันให้สุดๆ ไปเลยครับ
Intel Core i รหัส K – ปลดล็อกอย่างอิสระ เพื่อประสิทธิภาพในการเล่นเกมที่ดีขึ้น
ซีพียูอีกหนึ่งกลุ่มที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้ ผมขอเรียกมันว่า Core K ละกัน จริงๆ แล้วมันก็คือซีพียูในกลุ่มผู้ใช้งานระดับ Mainstream นั่นแหละ แต่บางครั้ง เราจะเห็นว่ามันมีซีพียู Core i7-8700 และ Core i7-8700K อยู่ด้วย แล้วซีพียู 2 รุ่นนี้มันแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลยครับ
ซีพียูรหัส K นั้น เราจะเรียกว่ามันคือซีพียูกลุ่ม Unlocktable นั่นหมายความว่าเราสามารถปลอดล็อกตัวคูณสัญญาณนาฬิกาของชิปประมวลผลได้ สามารถเร่งความเร็วของสัญญาณนาฬิกา และทำให้ซีพียูทำงานได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ
ในการปลดล็อกตัวคูณนั้น ไม่ได้เป็นการดัน External bus ของเมนบอร์ดนะครับ แต่เป็นการปรับ Multiplier ในตัวซีพียูได้โดยตรง ซึ่งซีพียูรุ่นใหม่ๆ ของ Intel นั้น จะสงวนการปลอดล็อกตัวคูณไว้เฉพาะซีพียูรหัส K เท่านั้น
จากภาพด้านบน เป็นการทดสอบ POVray เราจะเห็นประสิทธิภาพเปรียบเทียบระหว่างซีพียู Intel Core i7-8700K ก่อนและหลังการ Overclock ซึ่งประสิทธิภาพที่ได้ก็เพิ่มขึ้นพอสมควร
นอกจากนี้ ถ้าใครได้ลองเปิดดูสเปคของซีพียูรหัส K เทียบกับรุ่นปกติ จะเห็นว่ามันมี Base clock ที่สูงกว่ารุ่นที่ไม่ใช่รหัส K อย่างเช่นภาพด้านบนครับ เรียกได้ว่าแรงตั้งแต่แกะกล่องเลยทีเดียว
ทีนี้ที่ผมบอกว่ามันเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกม ก็จริงครับ เพื่อถ้าลองดูการทดสอบประสิทธิภาพในการเล่นเกม จะพบว่าเมื่อเรา Overclock ซีพียูไปแล้ว มันมีค่าเฟรมเรตที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถเล่นเกมได้ลื่นขึ้น นี่จึงเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ถูกใจเหล่าเกมเมอร์นั่นเองครับ
1 คน 2 ใจ เลือกอย่างไหนดี ระหว่าง Core X และ Core K
มาถึงส่วนที่หลายๆ คนคงจะหนักใจ ว่าเราจะเลือกใช้ซีพียูตัวไหนดี สิ่งที่ผมอยากให้เพื่อนๆ นำกลับไปพิจารณาก่อนซื้อ มีดังนี้
– จุดประสงค์ในการใช้งาน
ข้อแรกนี้คือส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกใช้ซีพียูรุ่นไหนดี อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น ซีพียู Core X นั้น จะมีแกนประมวลผล และ PCIe lane มากกว่าซีพียูทั่วไปรวมถึงรหัส K อีกทั้งยังรองรับการทำงานร่วมกับแรมแบบ Quad channel
ดังนั้น ใครที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานพวกตัดต่อวิดีโอ, ทำกราฟฟิกแอนิเมชั่น, คำนวณทางวิทยาศาสตร์ หรืองานด้านวิศกรรมและสถาปัตยกรรม การเลือกใช้ซีพียู Core X ก็ดูจะเหมาะกับงานลักษณะนี้มากกว่า
แต่สำหรับใครที่เน้นเล่นเกม หรือใช้ทำงานตัดต่อวิดีโอบ้าง งานกราฟฟิกบ้าง แต่ไม่ได้เป็นโปรเจคยักษ์ใหญ่อะไรมากนัก ก็สามารถเลือกใช้งานซีพียู Intel Core K ได้ จับมา OC รีดประสิทธิภาพให้สุดๆ กันไปเลย
– งบประมาณ
ข้อนี้ก็เป็นจุดสำคัญอีกเช่นกัน เนื่องจากว่า แม้มันจะมีซีพียู Core X ที่ราคาไม่แพงเว่อร์มากนัก แต่ส่วนประกอบอื่นๆ อย่างเช่น เมนบอร์ด ก็ยังถือว่ามีราคาแพงกว่าเมนบอร์ดตระกูล Z ของ Core K ซึ่งผู้ใช้ก็ต้องพิจาณาและคำนวณถึงความเหมาะสมในการนำมาใช้งานให้ดีนะครับ
– ความพึงพอใจ
สุดท้ายก็คงต้องแล้วแต่ใจของผู้ใช้งาน บางคนอาจจะรู้สึกว่า เล่นเกมก็เล่น โปรเจคตัดต่อวิดีโอไม่ใหญ่มาก แต่ก็ทำบ่อย และอยากให้งานเสร็จเร็ว จะเลือก Intel Core X ราคา 60000 มาใช้งานได้ไหม เราจะดูโง่ไหม (แซวนิดๆ)
คำตอบคือ ถ้าเรารู้สึกว่า ซื้อมาใช้งานแล้วมันสบายใจเรา ไม่กระทบตัวเรา จัดมาได้เลยครับไม่ว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ใช้งานได้เหมือนกัน หรือใครจะเน้นตัดต่อวิดีโอมากกว่าเล่นเกม แต่อยากจัดแค่รหัส K มาใช้งาน มันก็ได้เช่นกันครับ ถึงประสิทธิภาพอาจจะไม่เทียบเท่ากับ Core X แต่มันใช้ได้อะ จะเป็นไรไป?
ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้เพื่อนๆ รู้จักซีพียูทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้มากขึ้นนะครับ ใครที่จัดสเปคไหนมาก็เอามาอวดกันได้ใต้โพสต์นี้ได้เลยนะ สวัสดีคร้าบบบ
You must be logged in to post a comment.