เดิมเราสามารถจับคู่การ์ดจอและซีพียูได้อย่างอิสระ โดยไม่ได้มีฟีเจอร์เฉพาะอะไรมากนัก แต่หลังจากที่ Intel ทำการ์ดจอแยกของตัวเอง ดูเหมือนจะมีการเพิ่มฟีเจอร์พิเศษให้กับผู้ที่ใช้การ์ดจอและซีพียู Intel ครับ
สำหรับฟีเจอร์พิเศษนี้จะรวมทั้งแพลตฟอร์มเดสก์ทอปและโน้ตบุ๊ก มีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง ดังนี้
Dynamic Power Share
ขอประเดิมด้วยฟีเจอร์แรก ซึ่งออกแบบมาสำหรับแพลตฟอร์มโน้ตบุ๊กเพียงอย่างเดียวนะครับ ฟีเจอร์นี้จะช่วยปรับการใช้พลังงานระหว่างซีพียูและการ์ดจอให้เหมาะสมกับเวิร์กโหลดของงาน เช่น ในขณะเล่นเกมจะถ่ายพลังงานไปที่การ์ดจอเยอะกว่า เป็นต้น
และถ้าใครสงสัยว่าทำไมฟีเจอร์นี้คุ้น ๆ จัง – มันก็คือ AMD SmartShift นั่นเองครับ
Hyper Compute
สำหรับงานด้าน Productivity ฟีเจอร์นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการประมวลผลด้าน AI โดยใช้หน่วยประมวลผลที่อยู่ในการ์ดจอแยกและออนบอร์ดของซีพียู Intel ในแอปที่รองรับ
แอปพลิเคชันชูโรงของฟีเจอร์ Hyper Compute คือ Topaz Video Enhance AI ปรับความคมชัดให้กับวิดีโอเก่า
Hyper Encode
สายตัดต่อวิดีโอต้องชอบแน่นอน เมื่อจับคู่ซีพียู Gen 12 บนเดสก์ทอป และการ์ดจอ Intel Arc (โน้ตบุ๊กก็ใช้ได้นะ) การ์ดจอออนบอร์ดและการ์ดจอแยกจะช่วยกันประมวลผลในด้านการ Encode ไฟล์มัลติมีเดียต่าง ๆ
แอปที่รองรับ เช่น Handbrake, Intel oneAPI และ Blackmagic DaVinci Resolve Studio v17.4.5. เป็นต้น
Stream Assist
ฟีเจอร์สุดท้ายนี้เหล่าเกมเมอร์และแคสเตอร์น่าจะชอบ การซื้อซีพียูและการ์ดจอ Intel จะคุ้มค่ามากขึ้น เพราะการ์ดจอแยกและออนบอร์ดจะช่วยกันประมวลผลระหว่างสตรีมได้ดียิ่งขึ้น
** ถ้าใครเคยใช้ Intel QuickSync ก็จะรู้ว่ามันดีขนาดไหน **
โดยแอปพลิเคชันที่รองรับ ได้แก่ Intel Arc Control, Open Broadcaster Software (OBS), Xsplit และ AVerMedia CamEngine
ส่วนเกมที่จะเปิดใช้งาน Game Highlights ในระหว่างการสตรีมได้ ได้แก่
Call of Duty Online
CrossFire
Counter Strike: Global Offensive
DOTA 2
Fortnite
League of Legends
Rainbow Six Siege
Overwatch
PlayerUnknown’s Battlegrounds
World of Tanks
ในอนาคตเชื่อว่า Intel คงเพิ่มเกมและแอปที่รองรับมากขึ้น เพราะส่วนตัวแอดเชื่อว่า Intel ทำซอฟต์แวร์ได้ค่อนข้างดี เพียงแต่ต้องให้เวลาอีกสักหน่อยสำหรับน้องใหม่ในวงการครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Intel
You must be logged in to post a comment.