เวลาพัฒนาซีพียูรุ่นใหม่ขึ้นมา มันจะมีค่าหนึ่งที่เรียกว่า IPC ใช้ประเมินความแรงของสถาปัตยกรรมในซีพียูนั้น ยิ่งค่า IPC มากยิ่งบ่งบอกว่าซีพียูแรงขึ้น แต่ดูเหมือนว่าใน Intel Gen 14 “Meteor Lake” ในโน้ตบุ๊กกลับสวนทางกัน
IPC – Instruction per clock หมายถึงปริมาณคำสั่งที่สามารถนำมาประมวลผลได้ ใน 1 รอบ Clock speed ดังนั้น หากซีพียูสามารถประมวลผลคำสั่งคอมพิวเตอร์ใน 1 รอบได้เยอะ แสดงว่าประสิทธิภาพในการประมวลผลมันก็น่าจะเยอะตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้บ่อยที่เวลาค่ายซีพียูพัฒนาสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่ ก็จะโชว์ตัวเลขค่า IPC นี่แหละ เพื่อบอกว่าซีพียูของเราแรงขึ้นจริง ๆ นะ
อย่างไรก็ตาม David Huang ได้นำซีพียู Intel Core Ultra 7 155H มาทดสอบหาค่า IPC ซึ่งซีพียูนี้ใช้สถาปัตยกรรมแบบ Tile ในโค้ดเนม Meteor Lake โดยนับเป็น Gen 14 ในโน้ตบุ๊ก และเป็นต้นแบบให้ซีพียู Gen 15 บนเดสก์ท็อปด้วย
จากการทดสอบด้วย SPECint 2017 ซึ่งเน้นการรีดประสิทธิภาพของซีพียูโดยเฉพาะ พบว่า Intel Core Ultra 7 155H กลับทำคะแนนได้ 8.44 และเมื่อนำมาหารด้วย Clock speed จะได้ IPC เพียง 1.76 ซึ่งน้อยกว่า Core i7-13700H ที่ได้ค่า IPC มากถึง 1.92 ครับ
จากการวิเคราะห์ของ David Huang กล่าวว่า ดูเหมือนใน Meteor Lake นี้ Intel ไม่ได้ใส่ใจเรื่องของ IPC มากนัก แต่ต้องการยกจุดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมแบบใหม่, ชิปกราฟิกที่ยกเอาชิปการ์ดจอแยกมาใส่ และเน้นการประมวลผล AI เรียกง่าย ๆ ว่านี่คือชิปชิมลางของโครงสร้างใหม่ ที่จะเป็นต้นแบบให้ซีพียูรุ่นถัด ๆ ไปครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techpowerup
You must be logged in to post a comment.