สวัสดีครับเพื่อน ๆ วันนี้ผมจะพาไปชมงานเปิดตัวซีพียู Intel รุ่นใหม่ สถาปัตยกรรม 10 นาโนเมตร สำหรับอุปกรณ์กลุ่ม Mobile โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ก เน้นทั้งประสิทธิภาพและการใช้พลังงานที่ดีขึ้นครับ
เริ่มต้นกันที่หน้างานในเยอรมนีก่อนเลยนะครับ ถ้าใครไม่สังเกตป้ายหรือผ้าที่คาดหน้าตึกนี่ คงนึกว่าเป็นตึกสำนักงานเก่า ๆ ที่ปิดตัวลงไปแล้ว แต่แหม…เขาคงอยากเน้นการสัมมนาที่เป็นกันเอง และออกแนวอาร์ต ๆ ตามสไตล์คนรุ่นใหม่หัว IT นั่นแหละครับ
ป้าย Open House หน้างาน ดูแนวดีเหมือนกัน 555+
เข้ามาด้านในอาคาร เห้ย!! ดูอบอุ่น ต้อนรับแบบเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน คล้ายกับมาอยู่รวมกับผู้คนในชมรมเดียวกัน แถมภายในยังตกแต่ดูหรูหราคลาสสิก ตามสไตล์ยุโรปเลยครับ
เอาล่ะไม่พูดพร่ำทำเพลง เราไปดูกันดีกว่าว่า Intel จะนำเสนออะไรบ้าง
Project Athena
ก่อนอื่นเพื่อน ๆ ต้องทำความรู้จักกับ Project Athena ของ Intel เสียก่อน ย้อนกลับไปเมื่อสมัยช่วง Core 2 และ Core i ยุคแรกเริ่ม เราน่าจะเคยได้ยินมาตรฐาน Centrino มาบ้างแล้วนะครับ มันคือการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโน้ตบุ๊ก ตามที่ Intel ตั้งเอาไว้นั่นเอง
เช่นเดียวกันเลยครับ เจ้า Project Athena ก็เป็นการกำหนดมาตรฐานสำหรับโน้ตบุ๊ก โดยจะต้องประกอบไปด้วย…
- Performance: ซีพียู Intel Gen 10 (หรือ Gen 8) Core i5 ขึ้นไป, แรม 8GB ขึ้นไป และ SSD 256GB ขึ้นไป
- Battery ต้องอยู่ทนนาน: ถามว่าทนเท่าไหน ในงานบอกว่าควรจะต้องอยู่ได้สัก 9 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งงานนี้เป็นการโปรโมตซีพียู Gen 10 โดยเฉพาะ เพราะว่ามันประหยัดพลังงานจริง ๆ เมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านมาครับ แถมยังต้องรองรับการชาร์จไวผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 ได้ด้วย
- ตอบโจทย์การใช้งาน: อันนี้จุดที่เน้นคือความบางเบา เพราะโน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์ที่เราใช้พกพาออกนอกสถานที่ ถ้ามันพกพาลำบาก ก็ต้องหลีกเลี่ยงไปซะ
- AI สุดเจ๋ง: อันนี้ก็เป็นการโปรโมตซีพียู Gen 10 โดยเฉพาะเรื่อง Integer scaling ดีขนาดไหนเดี๋ยวเรามาพูดถึงกันอีกทีครับ
Notebook
ทีนี้เรามาดูกันนะครับว่ามีโน้ตบุ๊ก Project Athena จากแบรนด์ไหนบ้างที่มาโชว์ในงาน
HP Envy
MSI Prestige ทั้ง 2 สี
ASUS แต่แบรนด์นี้พิเศษหน่อย เพราะพี่แกโชว์เหนือตอบโจทย์ตาม Athena ด้วยโน้ตบุ๊กบางเบาเพียงแค่ 880 กรัม (ASUS PRO B9450)
Intel Core 10th Generation แรงขนาดไหนล่ะ ดูสิ นี่ขนาด U-series ยังดันได้ถึง 4.51 GHz เลยทีเดียว
Intel เห้ย!! แบรนด์นี้มายังไง หรือว่า Intel จะทำโน้ตบุ๊กแข่งกับเจ้าอื่น ไม่ใช่นะครับ มันคือโน้ตบุ๊ก Prototype ที่ Intel ออกแบบมาให้แบรนด์อื่น ๆ นำไปประยุกต์ และนำเสนอความสามารถในการทำงานของซีพียู Intel รวมถึงการนำไปใช้ร่วมกับ Project Athena
สำหรับตัวแรก มีชื่อว่า Ambient PC ตัวนี้จะคล้ายกับโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่ที่ Touchpad จะมีจอแสดงผล คล้ายกับโน้ตบุ๊กรุ่นหนึ่งของ ASUS แต่ที่เหนือกว่าคือขอบของ Touchpad ลากลงมาอยู่ที่ขอบด้านล่าง เหมือน Galaxy Note จอโค้งรุ่นแรกที่มีด้านหนึ่งโค้งลงมา ใช้แสดงพวกวันที่ รวมถึงสถานะต่าง ๆ ตามที่เราตั้งค่าไว้ครับ
อีกรุ่นหนึ่งที่ผมชอบมากเลยก็คือ Intel Twin Rivers เป็น Notebook tablet จอสัมผัสสองด้าน คลุมด้วยผ้ากำมะหยี่ เปิดพับออกได้เหมือนหนังสือ เวลาอ่านคอมมิคแล้วได้อารมณ์จริง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดไร้สายได้ด้วยครับ
AI สุดเจ๋ง
สำหรับเรื่องที่ผมค้างไว้ตอนต้น คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ Intel พัฒนาลงในชิปกราฟฟิก Gen 11 ในซีพียู Core 10th Generation ที่สามารถคำนวณ Integer scaling (Intel เรียกฟีเจอร์นี้ว่า Retro scaling) สามารถปรับค่าความคมชัดเมื่อเราขยายขนาดของภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ประโยชน์ของมัน นอกจากจะช่วยให้เกมสไตล์ Retro 8-bit มีความสวยงามมากขึ้นเมื่อเล่นในจอใหญ่แล้ว เกมอื่น ๆ ที่มีการปรับสเกล หรือกระทั่งการขยายขนาดภาพ จาก 900 pixel เป็น 4K ใช้ระยะเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ในขณะที่คอมผม ใช้การ์ดจอ Gen 9 ปรับภาพจาก 900 pixel เป็น 1800 pixel ยังใช้ระยะเวลานานเกิน 5 นาทีเลยครับ
แม้จะเป็นฟีเจอร์ที่บางคนอาจจะไม่รู้สึกว้าว แต่ในแง่ของการพัฒนาต่อถือว่าน่าสนใจอย่างมากเลยนะครับ เพราะจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันจอมอนิเตอร์มีความละเอียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เกมบางเกมอาจจะไม่ได้พัฒนาขึ้นให้รองรับกับจอความละเอียดสูงได้ดีมากนัก เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการประมวลผลของตัวซีพียูลง รวมถึงการ์ดจอแยก ทำให้การเล่นเกมราบลื่นมากขึ้นครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับซีพียู Intel Core 10th generation พร้อมการ์ดจอออนบอร์ด Gen 11 จิ๋ว แต่ทรงพลังและประสิทธิภาพสูง งานนี้บอกเลยว่าโน้ตบุ๊กฝั่ง Intel มาแรงแน่นอน
เดี๋ยวในบทความถัดไปผมจะมารีวิวเรื่องโปรแกรมที่เขาใช้ในการขยายรูป เพื่อแสดงความสามารถของ AI ช่วยประมวลผลในการ์ดจอออนบอร์ด Gen 11 นะครับ บอกใบ้ให้นิดนึงว่าชื่อโปรแกรม Gigapixel AI อย่าลืมติดตามกันนะครับ
You must be logged in to post a comment.