การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้สหรัฐอเมริากำลังประสบปัญหาอย่างหนักในหลาย ๆ ด้าน แม้กระทั่งระบบไอทีของแต่ละมลรัฐยังอยู่ในสภาวะวิกฤต ยกตัวอย่างเช่นข่าวในเช้านี้เลยครับ
รัฐบาลมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ขอความร่วมมือผู้มีความรู้ด้านภาษาโคบอล (COBOL) ให้เข้ามาช่วยจัดการระบบสวัสดิการรัฐในช่วงนี้ เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวนมากจนทำให้ระบบล่มอยู่บ่อยครั้งนั่นเองครับ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1960 เมนเฟรมส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ นิยมใช้ภาษาโคบอลในการพัฒนาเพื่อใช้งานใน Infrastructure หลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นระบบของรัฐบาล, ธนาคาร หรือสนามบิน ซึ่งมันก็ทำงานมาด้วยดีโดยตลอด
ทว่า พอเกิดการระบาดของ COVID-19 อย่างหนักหน่วงจนสหรัฐฯ มียอดแซงเป็นอับดับหนึ่ง ทำให้โหลดของภาระงานเพิ่มขึ้นถึง 1,600% เมนเฟรมที่สร้างขึ้นในปี 1980 จึงรับไม่ไหว แถมนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญภาษาโคบอลก็ร่อยหรอเต็มที (คือคนในองค์กรที่รู้ภาษานี้คงล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว)
ถามว่าภาระงานที่เมนเฟรมต้องทำมันเยอะแค่ไหน ? ทางรัฐบาลของมลรัฐแถลงว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนมาขอรับเงินสวัสดิการไปแล้วกว่า 362,000 ราย แถมจ่ายออกไปได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
ภาษาโคบอลเองจะจัดว่าเป็นภาษาที่ตายแล้วก็ย่อมได้ มหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่ไม่มีการสอนภาษานี้กันในชั้นเรียนแล้ว แถมค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมันก็แพงแสนแพง ตกชั่วละ 55-85 ดอลลาร์เลยทีเดียว (1,800-2,800 บาท) แน่นอนว่ามันต้องทำทั้งวันทั้งคืน เงินที่จะจ่ายประชาชนยังมีจำกัด ดังนั้น รัฐบาลจึงขออาสาสมัครจิตอาสาเข้ามาจัดการกับระบบให้นั่นเองครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tom’s Hardware
You must be logged in to post a comment.