ช่วงนี้เทรนด์ของ NFT กำลังมาแรง โดยเพาะการขายงานศิลปะหรือไอเทมเกมต่าง ๆ ก็นิยมทำผ่านระบบนี้กันมากขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ NFT ให้มากขึ้น สำหรับมือใหม่หรือใครที่อยากลองหันมาทำรายได้กับแพลตฟอร์มนี้นะครับ
Non-fungible token
Non-fungible token คือคำเต็มของ NFT มีความหมายว่า สินทรัพย์ที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ จำเป็นต้องเป็นของชิ้นนี้ชิ้นเดียวเท่านั้น ในชณะที่ Fungible token จะสามารถหามาทดแทนกันเองได้ อ่านแล้วง้งงง ลองดูคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้นะครับ
ถ้าผมมี 1 bitcoin ผมส่ง 1 bitcoin นี้ให้เพื่อนยืมไปใช้ หลังจากนั้นพอเพื่อนผมจะหาเหรียญมาคืนผม เขาอาจจะไปรวบรวม bitcoin จากไหนก็ไม่รู้ให้ได้ทั้งหมด 1 bitcoin มาคืนผม ซึ่ง bitcoin ที่ไปหาอาจจะเป็นเหรียญที่ออกมาจากพูลในปี 2019 ร่วมกับในปี 2020 ผสมกันไปจนได้ 1 bitcoin
เพราะฉะนั้น bitcoin จะเป็นลักษณะของ Fungible token
แต่อีกเหตุการณ์หนึ่ง สมมุติว่าผมมีการ์ดยูกิโคตรหายาก มีแค่ 5 ใบในโลก และแต่ละใบจะมีโค้ดเป็นของตัวเองเพื่อบอกความเฉพาะเจาะจงของตัวไพ่ว่านี่ใบที่ 1 2 3 4 และ 5 เพราะฉะนั้นมันจะไม่สามารถทดแทนกันได้ ถ้าเพื่อนผมยืนการ์ดหมายเลข 1 ของผมไป แล้วดันทำหาย เขาจะเอาใบที่ 2 3 4 และ 5 มาแทนไม่ได้ เพราะมันคนละใบกัน นั่นหมายความว่าการ์ดแต่ละใบไม่สามารถทดแทนกันได้ แม้จะเป็นของที่เหมือนกันเกือบทั้งหมดก็ตาม
เพราะฉะนั้น การ์ดยูกินี้ จะเป็นลักษณะของ Non-fungible token หรือ NFT นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่บนโลกออนไลน์ โดยจะมีข้อมูลเก็บไว้ในรูปแบบบล็อกเชน Ethereum มีความปลอดภัย มีความจำเพาะเจาะจง และเชื่อถือได้จากการให้หลาย ๆ คนเป็นผู้ตรวจสอบครับ
เรากำลังซื้อขายอะไรกันอยู่นะ
จากข้อมูลในหัวข้อก่อนหน้านี้ที่ได้กล่าวไว้ว่า NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด ดังนั้น มันจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยู่ในรูปดิจิทัล เช่น รูปภาพ, งานศิลป์, เพลง, หรือแม้กระทั่งไอเทมในเกม เป็นต้น แน่นอนครับเราไม่สามารถจับต้องมันได้จริง ๆ ไม่เหมือนการซื้อแหวน, นาฬิกา หรือสมาร์ทโฟนที่เราจับถือกันได้
ในการซื้อขายผลงาน NFT ผู้ขายจะเป็นผู้กำหนดว่านอกจากตัวผลงานแล้ว ผู้ซื้อจะได้รับสิทธิ์อะไรไปครอบครองบ้าง สิทธิ์เหล่านั้นอาจครอบคลุมตั้งแต่สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ, ไฟล์ของผลงาน หรือแม้กระทั่งอำนาจด้านลิขสิทธิ์ของผลงาน NFT ชิ้นนั้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่ผมเคยเห็น การซื้อขายผลงาน NFT มักจะเป็นการซื้อขายแค่ตัวไฟล์ของมันเฉย ๆ ผู้ซื้อมักจะไม่ได้ครอบครองอำนาจด้านลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อเกมจากร้านค้าใน Steam เราซื้อเกมเพื่อรับไฟล์เกมและดาวน์โหลดมาติดตั้งลงบนเครื่องได้ แต่ถ้าถามว่าเราได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นคนที่ถือลิขสิทธิ์ของเกมนั้นหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เราไม่ได้มีสิทธิ์ในการแก้ไขอะไรในตัวเกมนั้นเลย เช่นเดียวกันกับ NFT ส่วนมากผู้ซื้อจะได้รับแค่ไฟล์กลับไป ในขณะที่โค้ดหรือไฟล์ต้นฉบับยังอยู่กับผู้ขาย หรือบางทีเราอาจจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของรูปภาพหนึ่งในตลาด NFT แต่กลับไม่ได้ไฟล์อะไรมาเลยก็เป็นได้ !!
มันจะมีค่าอะไร หากผลงาน NFT บางชิ้นยังถูกก็อปไปใช้ต่อได้โดยผู้อื่น
อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลงาน NFT ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมีมสาวน้อยแห่งหายนะ Disaster Girl ซึ่งปัจจุบันเรายังคงเห็นมีมนี้เกลื่อนกลาดบนโลกโซเชียล และมีคน Copy & Paste ภาพนี้ไปใช้อยู่เรื่อย ๆ คำถามคือ มันจะมีค่าอะไรต่อคนที่ทุ่มเงินซื้อภาพต้นฉบับไปหลายล้านบาท ทั้งที่คนอื่นก็มีภาพเหมือนกับของเขา
คำตอบคือ มันมีค่าเพราะเรากำหนดค่าให้กับมันครับ หมายความว่า สุดท้ายแล้วภาพที่เป็นต้นฉบับเพียงหนึ่งเดียวของมีม Disaster Girl จะอยู่กับคนที่ซื้อมันไป ต่อให้เราก็อปภาพของมีมนี้มาจากไหนก็ตาม แต่มันก็ไม่มีทางเป็นของชิ้นเดียวกับคนที่ซื้อภาพต้นฉบับ NFT ไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้คือการที่เรากำหนดค่าให้กับมัน ว่าภาพต้นฉบับที่ซื้ออย่างถูกต้องผ่านบล็อกเชน NFT นั้น คือภาพที่ถูกต้อง ไม่มีใครเหมือน และมีมูลค่า ซึ่งมันจะมีมูลค่าเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ทุกคนยังบอกว่ามันมีมูลค่าครับ
เราจะซื้อขาย NFT ได้อย่างไร
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT เกิดขึ้นมากมาย แพลตฟอร์มหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ Opensea.io ภายในเว็บจะมีผลงานมากมายของศิลปินที่ถูกนำมาวางขายในรูปแบบ NFT โดยเฉพาะผลงานศิลปะ ซึ่งการซื้อขายหลัก ๆ จะชำระเป็น ETH ตามมูลค่าที่ผู้ขายกำหนดไว้ หลังจากซื้อไปแล้วเราก็จะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ NFT ชิ้นนั้น “เท่าที่ผู้ขายกำหนดไว้”
ส่วนมากผู้ขายจะนิยมกำหนดให้ผลงาน NFT ชิ้นนั้นมีขายอยู่เพียง 1 ชิ้น เพื่อความน่าสนใจและมูลค่าให้กับตัวผลงาน หลังจากที่ขายไปแล้ว ก็จะไม่มีใครที่มีสิทธิ์ครอบครองผลงานได้เหมือนคนที่ซื้อไปอีกแล้ว
อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าเพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าคนขายคิดไม่ซื่อ นำไฟล์ต้นฉบับพวกนี้ไปขายต่อในแพลตฟอร์มอื่น หรือมีคนก็อปภาพจาก Opensea แล้วไปขายที่อื่นล่ะ?? อันนี้ผมคิดว่าทางแพลตฟอร์มแต่ละแห่งก็คงจะมีวิธีตรวจสอบ เพื่อป้องกันการทำซ้ำของผลงานที่ควรจะมีออกมาในจำนวนจำกัด สำหรับกรณีที่ว่าผู้ขายอาจจะเล่นไม่ซื่อ นำผลงานไปขายที่อื่นด้วย มันก็คงต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของศิลปินแล้วล่ะ ว่าสมควรแล้วหรือที่จะทำเช่นนั้น
ส่วนอีกกรณีที่ว่าอาจมีคนก็อปภาพผลงานที่คุณเพิ่งซื้อไปหมาด ๆ ไปลงขายในเว็บอื่น (อารมณ์ก็อปเป็น .jpg แล้วไปตั้งขายที่เว็บอื่น) จุดนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีกระบวนการจัดการอะไรบ้างนะ มันคงมีระบบที่ช่วยในการตรวจสอบอยู่บ้างล่ะ
NFT จะกลายเป็นการจุดประกายยุคเรเนสซองส์ขึ้นมาอีกครั้ง
ตั้งแต่มีแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล NFT ขึ้นมา ก็ทำให้ตลาดงานศิลปะครึกครื้นมากขึ้นกว่าเดิม ศิลปินสามารถนำผลงานที่สแกนเสร็จแล้วมาตั้งขายได้ในราคาที่สูงลิบ แถมยังสามารถกำหนดได้ว่าอยากจะให้ขายได้ทั้งหมดกี่ชิ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เปรียบเสมือนการกลับมาของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรเนสซองส์ ที่ผู้คนให้ความสนใจกับงานศิลปะมากขึ้น
หากเพื่อน ๆ คนไหนที่มีฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัล หรืออยากมีผลงานดิจิทัลไว้เป็นของตัวเองสักชิ้นหนึ่ง ก็ลองไปหาซื้องาน NFT กันได้จากเว็บไซต์ที่เปิดขายนะครับ หรือถ้าใครเคยซื้อไปแล้ว ลองคอมเมนต์มาบอกกันหน่อยนะว่าซื้ออะไรกันไปบ้าง
You must be logged in to post a comment.