หลังจากที่เพื่อนๆ ได้รู้จัก Power Connector ประเภทต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เรามารู้จักวิธีการเลือกซื้อ Power Supply หรือ PSU มาใช้งานกันบ้างดีกว่า
อุปกรณ์นี้มีความสำคัญกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรามาก เพราะมันเป็นแหล่งจ่ายพลังงานหลักของเครื่อง ถ้า PSU ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟได้มากพอ เครื่องคอมพิวเตอร์อาจทำงานได้ไม่ดี หรือดับไปเองดื้อๆ ก็มีนะครับ
สำหรับวิธีการเลือกซื้อ ผมได้นำมาทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งเป็นวิธีการดูที่เพียงพอต่อการเลือกมาใช้งานแล้วครับ จะมีอะไรบ้าง มาดูพร้อมๆ กันเลยครับ
1. เลือกกำลังไฟให้เพียงพอต่อการใช้งาน
ข้อแรกนี้สำคัญมากเลยครับ เพราะมันเป็นการบอกความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PSU หน่วยที่ใช้บอกจะเป็นหน่วยวัตต์ (Watt) และวิธีการเลือกซื้อ PSU นั้น เราจะต้องคำนวณพลังงานที่ต้องใช้ของอุปกรณ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงดูว่า PSU ตัวไหนสามารถจ่ายไฟได้เพียงพอต่อความต้องการครับ
ทีนี้ผมขอบอกนิดนึงว่า ค่า TDP (Thermal design power) นั้น ไม่ใช่ค่าที่บอกว่าอุปกรณ์ของเรากินไฟไปเท่าไรนะ แต่มันคือค่าที่บอกถึงปริมาณความร้อนที่อุปกรณ์ชิ้นนั้นสร้างขึ้นมา ซึ่งค่า TDP นี้ จะเอาไปใช้ในการเลือกซื้อส่วนระบายความร้อน ถ้าเราพูดถึงซีพียู เราจะนำค่า TDP ไปใช้ในการเลือกซื้อฮีตซิงค์นะครับ
** เพราะฉะนั้น TDP ≠ Power consumption นะจ๊ะ **
แล้วเราจะคำนวณไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้อย่างไร? เปิดอินเทอร์เน็ตเลยครับ ผมแนะนำให้เข้าไปคำนวณการใช้พลังงานจากเว็บไซต์นี้
http://www.coolermaster.com/power-supply-calculator/
จากนั้นเราก็เลือกอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ แล้วเว็บไซต์จะบอกปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด เราก็นำค่านี้ไปใช้ในการเลือกซื้อ PSU ได้เลยครับ
2. ซื้อเผื่อไว้ดีไหม
ซื้อเผื่อในที่นี้หมายถึงว่า ถ้าคอมพิวเตอร์เราใช้ไฟทั้งสิ้น 400 W ซื้อ PSU สัก 1200 W จะดีไหม? คำตอบคือ ได้ เพราะ PSU จะจ่ายไฟให้ตามที่เราใช้ครับ ดังนั้น ซื้อเผื่อไม่มีปัญหา เผื่อไว้สำหรับการอัพเกรดในอนาคตได้ด้วยครับ เว้นเสียแต่ว่า ถ้าซื้อเครื่องที่วัตต์สูงๆ อาจติดปัญหาเรื่องราคาที่สูงขึ้นครับ
แต่ถ้าเกิดซื้อ PSU มาพอดีๆ เลยล่ะ? เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์เราใช้ไฟ 380 W ซื้อ PSU มาสัก 400 W อย่างนี้จะดีไหม? ทางทฤษฎีมันน่าจะตอบว่า ได้ แต่ผมไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะมีโอกาสที่อุปกรณ์ในเครื่องของเราจะใช้พลังงานเกินกว่าปกติอย่างน้อย 5% ดังนั้น เครื่องอาจจ่ายไฟไม่พอความต้องการ ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพครับ หรือเครื่องอาจดับเองได้เลยก็มี
สำหรับข้อแนะนำในการซื้อ สำหรับคนที่อยากซื้อ PSU มาเผื่อนะครับ การใช้งานที่อยู่ในช่วงโหลด 50% จะเป็นช่วงที่ประหยัดไฟที่สุด สมมุติว่า คอมพิวเตอร์ใช้ไฟประมาณ 400 W การซื้อ PSU 800 W จะทำให้ประหยัดค่าไฟที่สุด แถมยังได้ไฟที่เสถียรด้วย แต่ถ้างบไม่พอ อาจเลือก PSU ที่สูงกว่าไฟคอมพิวเตอร์สัก 100 W (ในที่นี้คือ 400+100 = 500 W) ก็ได้ครับ
3. 80 PLUS คืออะไร
ถ้าเปรียบเทียบ PSU มันก็เหมือนหม้อแปลงรูปแบบหนึ่ง ที่นำไฟบ้านซึ่งเป็นไฟกระแสสลับ (AC) ปรับให้เป็นไฟกระแสตรง (DC) ทีนี้โดยปกติแล้ว การแปลงไฟ มีโอกาสที่พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่ง จะสูญเสียไปในรูปแบบของพลังงานความร้อน ด้วยเหตุผลต่างๆ
การได้รับการรับรองมาตรฐาน 80 PLUS จะช่วยยืนยันว่า ไฟบ้านที่ถูกโหลดเข้ามา จะสูญเสียเป็นพลังงานความร้อนเพียง 20% หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไฟบ้านที่จ่ายเข้ามา จะถูกแปลงไปได้ทั้งหมด 80% นั่นเอง
สมมุติว่า PSU 400 W จะต้องจ่ายไฟให้อุปกรณ์ทั้งสิ้น 200 W แต่ถ้า PSU ตัวนี้ ต้องเสียไฟฟ้าไปกับความร้อน ถึง 40% ดังนั้น เพื่อให้สามารถจ่ายไฟครบ 200 W ตามความต้องการของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ PSU จะต้องดึงไฟบ้านมาทั้งสิ้น 280 W (80 W ที่เกินมา เพื่อให้มันเสียไปเป็นพลังงานความร้อน)
ดังนั้น หาก PSU ดังกล่าว ได้รับการรับรองจากมาตรฐาน 80 PLUS มันจะดึงไฟบ้านมาเพียง 240 W เท่านั้น นี่จึงช่วยให้เราประหยัดไฟมากขึ้นนั่นเองครับ
4. ประเภทของ PSU
อีกข้อหนึ่งเป็นออปชันเสริม แล้วแต่เราจะเลือกนะครับ มันคือรูปแบบของ PSU ที่เราจะใช้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้
– Non-Modular: เป็น PSU ที่มีสายเคเบิ้ลทั้งเซตออกมจากเครื่องเลย ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ซึ่ง PSU ประเภทนี้จะมีราคาถูกสุดในทั้ง 3 ประเภท แต่ข้อเสียคือ สายเคเบิลอาจไม่เพียงพอสำหรับการอัพเกรดอุปกรณ์อื่นๆ ในอนาคตครับ
– Semi-Modular: PSU ประเภทนี้ จะมีช่องให้เสียงสายเคเบิลบางประเภทได้ โดยที่สายส่วนใหญ่จะติดมากับตัวเครื่อง สายที่สามารถนำมาติดเพิ่มได้ มักจะเป็นสาย Power Connector ของการ์ดจอ เพื่อทำ SLI หรือ Crossfire (multi-GPU) ครับ
– Full Modular: ประเภทสุดท้าย จะมีราคาเพียงสุดในนี้ เป็น PSU ที่สามารถถอดเปลี่ยนสายเคเบิลได้ทั้งหมดครับ
สำหรับการเลือกซื้อ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งานนะครับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว PSU ที่มีวัตต์สูงๆ หรือใช้ในการเล่นเกมฮาร์ดคอร์ มักจะเป็นประเภท Semi-Modular หรือ Full Modular ครับ ส่วนใครที่ไม่ได้ต้องการจะอัพเกรดอะไรเพิ่มเติมมากนัก ใช้แบบ Non-Modular ก็ตอบโจทย์เพียงพอแล้วครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมคาดหวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยเพื่อนๆ ในการตัดสินใจเลือกซื้อ PSU ได้นะครับ ถ้ามีข้อมูลผิดพลาดตรงไหน ต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะครับ
ครั้งหน้าผมคิดว่าจะนำเรื่องน่ารู้ของ CPU มานำเสนอบ้าง ถ้ายังไงก็อย่าลืมติดตามกันได้ที่ Extreme PC นะครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.deskdecode.com/how-to-buy-perfect-power-supply-unit-psu-for-desktop-computer/
You must be logged in to post a comment.