เรื่องตัวเลขความเร็วในวงการคอมพิวเตอร์มันเป็นของคู่กันนะครับ แต่ในอุปกรณ์บางอย่าง ความเร็วอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป และแรมก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เราไม่สามารถมองได้แค่ตัวเลขของความเร็วหรือบัสแรมเพียงอย่างเดียวครับ
ทำไมเป็นอย่างนั้น ผมจะพาไปหาคำตอบครับ
รายละเอียดของการทดสอบและผลทดสอบขอหยิบยกมาจากเว็บไซต์ Techspot ซึ่งได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของแรม DDR5 ที่บัส 5600MHz, 6000MHz และ 8000MHz เทียบกัน โดยมีค่า Timing แตกต่างกันเล็กน้อย และทดสอบร่วมกับซีพียู Ryzen 9 9950X และเมนบอร์ด X870E
ผลการทดสอบเล่นเกม จะมีอยู่ที่ 2 ความละเอียด คือ 1080p และ 4K ได้ผลลัพธ์ดังนี้ครับ
จะเห็นว่าแรมบัส 8000 CL38 ไม่ได้แรงโดดเด่นไปจากแรมบัส 6000 CL26 มากนัก ในบางการทดสอบยังได้ความแรงพอ ๆ กันด้วยซ้ำ แสดงว่าเราไม่สามารถดูความเร็วของบัสแรมเพียงอย่างเดียวครับ ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของแรม
ทีนี้เรามาดูกันว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อความเร็วแรมบ้าง คำศัพท์ที่เราจะพูดถึงกันมีดังนี้
- บัสแรม = ความเร็วแรมที่เราใช้เรียกกันในหน่วย MHz โดยเกิดจากการเอา Memory Clock ของแรมคูณสอง บางครั้งก็เรียก Data Rate
- Memory Clock = ความเร็วจริงของชิปแรม เนื่องจากมันส่งข้อมูลได้ในสองเท่า ทำให้บัสแรมได้ความเร็วคูณสองของ Memory Clock
- UCLK (Unified Memory Controller Clock) = ความเร็วของ Memory Controller ที่อยู่ในซีพียู
- Ratio = อัตราส่วน โดยจะเป็นสัดส่วนของความเร็ว Memory Clock และ UCLK
- Timing = ค่า Cycle ในการทำงานของแรม ส่วนมากจะพูดถึงค่า CL หรือ CAS Latency
- Latency = ความล่าช้าของแต่ละ Cycle ในการทำงานของแรม วิธีคำนวนเบื้องต้น คือ CL × 2000 ÷ Memory Clock (ในหน่วย MHz)
เราได้คำศัพท์มากันครับแล้วนะครับ มาดูกันต่อไปว่าทำไมเวลาเลือกแรมไม่ควรดูแค่บัสอย่างเดียว โดยใช้กรณีของแรม 8000MHz CL38 และแรม 6000MHz CL26 มาพิจารณา
8000MHz CL38 | 6000MHz CL26 | |
บัสแรม (MHz) | 8000 | 6000 |
Memory Clock (MHz) | 4000 | 3000 |
UCLK (MHz) | 2000 | 3000 |
Ratio | 2:1 | 1:1 |
Timing (CL) | 38 | 26 |
Latency (สูตร CL × 2000 ÷ Memory Clock) | 38 × 2000 ÷ 4000 = 19.00 ns | 26 × 2000 ÷ 3000 = 17.33 ns |
จากตรงนี้จะเห็นว่า Memory Controller ในซีพียู Ryzen 9 9950X มีความเร็วสูงสุดได้เพียง 3000 MHz ซึ่งเป็นค่า UCLK เมื่อเราใช้แรมบัส 6000 ทำให้ Memory Clock ของแรมและ UCLK ของซีพียู มีอัตราส่วนหรือ Ratio = 1:1 จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่แรมบัส 8000 จะมีค่า Memory Clock สูงถึง 4000 MHz ส่วน UCLK มีค่าสูงสุดได้เพียง 3000 MHz และเพื่อความเสถียรทำให้มีการปรับค่า UCLK ลงมาอยู่ที่ 2000 MHz จึงเกิดเป็นอัตราส่วนหรือ Ratio = 2:1 จะเห็นว่ามันเกิดการคอขวดที่ UCLK นั่นเองครับ
ถัดมาคือปัจจัยเรื่อง Latency ด้วยเหตุผลเรื่องของความเสถียร แรมบัส 8000MHz มีค่า CL=38 ทำให้เกิด Latency หรือความหน่วงในการขนส่งข้อมูลจากการคำนวนอยู่ที่ 19 ns ในขณะที่แรมบัส 6000MHz มีค่า CL=26 มี Latency จากการคำนวณต่ำกว่าอยู่ที่ 17.33 ns ในทางทฤษฎีแล้วแรมบัส 6000MHz จึงทำงานได้เร็วกว่านั่นเองครับ
แล้วงานแบบไหนที่เหมาะกับแรมบัสสูง
ในกรณีของการเล่นเกม ส่วนมากจะเน้นที่เรื่องของ Latency ค่อนข้างมาก เนื่องจากมันมีการโหลดข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อยเยอะ และโหลดบ่อยครั้ง ส่งให้มันไม่ต้องอาศัยแบนด์วิดธ์ (บัส) สูง แต่ต้องการความรวดเร็วในการลำเลียงข้อมูล คือต้องมี Latency น้อย ๆ หน่อย
แต่สำหรับงานที่มีขนาดใหญ่ เช่น งานเรนเดอร์ หรืองานด้าน AI อันนี้ต้องอาศัยแบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับบัสที่สูงขึ้นด้วย โดยไม่ค่อยใส่ใจเรื่อง Latency เท่าไรนัก ขอแค่ให้ใน 1 ครั้งของการขนส่งข้อมูล สามารถรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ได้นั่นเองครับ
แต่บางคนอาจจะมองว่าบัส 8000MHz ก็ยังได้ FPS สูงกว่านะ? ใช่แล้ว สูงกว่าจริงในการทดสอบ แต่เมื่อเทียบกับราคาแล้วแรมบัส 6000MHz ที่ CL แน่น ๆ ก็ดูจะตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่ามากกว่า เพราะฉะนั้นในความเห็นของแอด ถ้าจะเล่นเกม เน้นค่า CL ต่ำ ๆ แน่น ๆ ไว้ก่อน จะได้ผลลัพธ์และความเสถียรที่น่าพอใจกว่าครับ
You must be logged in to post a comment.