Review: Noctua NH-U12S TR4-SP3 พี่คนกลางที่จะมารับกับความแรง Threadripper
สวัสดีเพื่อนๆ ชาว Extreme PC ทุกคนนะครับ คราวที่แล้วผมได้ทำการรีวิวฮีตซิงค์ Noctua รุ่น NH-U9 TR4-SP3 ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดใน U-series ที่ได้ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาใช้งานตัดต่อแต่ไม่อยากได้เครื่องใหญ่มากนักแต่…ถ้าใครกลัวว่าจะระบายความร้อนได้ไม่จุใจ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับพี่คนกลาง Noctua NH-U12S TR4-SP3 กันดีกว่า เพราะเจ้าตัวนี้จะมีครีบระบายความร้อนทที่เยอะกว่าใหญ่กว่าทำให้สามารถรองรับการระบายความร้อนได้ดีกว่ารุ่นพัดลม 9 ซ.ม. ถึงแม้ว่าจะมีพัดลมเพียงตัวเดียวก็ตามทีและยังได้เรื่องของเสียงรบกวนจากตัวพัดลมอีกด้วยครับ เพราะรอบพัดลมในการทำงานที่ต่ำกว่าพร้อมทั้งมีพัดลมเพียงแค่ตัวเดียวแน่นอนว่ามันต้องให้เสียงในการทำงานที่เงียบลง และเชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆคนน่าจะอยากรู้ว่าถ้าผมติดพัดลมเพิ่มขึนเป็น 2 ตัวเหมือนรุ่นน้องนั้น จะเย็นเพิ่มขึ้นได้สักแค่ไหน เอาเป็นว่าเดียววันนี้เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ
Introduction
สำหรับ Noctua NH-U12S TR4-SP3 จะเป็นฮีตซิงค์ที่ออกแบบมาเพื่อซีพียู AMD Ryzen Threadripper และ AMD Epyc เนื่องจากซีพียูทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีขนาดใหญ่กว่าซีพียูทั่วไป ทำให้ต้องใช้ฮีตซิงค์ที่มีหน้าสัมผัสกว้าง ซึ่ง Noctua NH-U12S TR4-SP3 ตัวนี้ มีหน้าสัมผัสซีพียูกว้างถึง 7 เซนติเมตร สามารถครอบคลุมผิวกระดองซีพียูได้ทั้งหมด จึงช่วยให้การระบายความร้อนทำได้ดียิ่งขึ้นครับ
ในแพคเกจของ Noctua NH-U12S TR4-SP3 จะมีพัดลม NF-F12 PWM premium fan มา 1 ตัว โดยพัดลมจะทำหน้าที่ดูดลมเย็นจากบริเวณหน้าเคส เข้ามายังแผงอะลูมิเนียม เพื่อไล่ความร้อนออกทางพัดลมหลังเคส ด้วยหน้าพัดลมที่กว้างถึง 120 มิลลิเมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนำลมเย็นเข้าระบายความร้อนได้เป็นอย่างดีครับ
ภายในกล่องอุปกรณ์เสริม จะประกอบด้วยไขควง สำหรับขันน็อตที่ฐานฮีตซิงค์, ซิลิโคนคุณภาพสูงจาก Noctua, สาย Low-noise adapter, คลิปหนีบพัดลมเสริม 2 เส้น, แผ่นป้องกันการสั่นสะเทือน และสุดท้าย แผ่นโลโก้น่ารักๆ ของ Noctua นั่นเองครับ
**สำหรับพัดลมเสริม สามารถซื้อมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ในภายหลังนะครับ โดยเลือกพัดลมรุ่นใดก็ได้ในซีรี่ส์ NF-F12 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของฮีตซิงค์ ให้ทำงานระบายความร้อนแบบ Push/Pull โดยพัดลมตัวที่ 2 จะช่วยเป่าลมร้อนออกจากแผงอะลูมิเนียม ให้ออกทางด้านหลังเคสได้เร็วขึ้น**
ถัดมาเรามาดูที่ตัวฮีตซิงค์กันบ้าง Noctua NH-U12S TR4-SP3 รูปทรงของมันไม่ได้แต่ต่างจากรุ่น U9 มากนัก เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อนให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
พัดลม NF-F12 PWM premium fan สามารถถอดแกะได้ โดยการถอนคลิปออกจากแผงอะลูมิเนียม เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบฮีตซิงค์ลงบนเมนบอร์ด จะเห็นได้ว่าพัดลม 1 ตัว จะใช้กำลังไฟสูงสุดเพียง 0.6W และต้องการกระแสไฟนำเข้าสูงสุด 0.05A เพราะฉะนั้นประหยัดไฟหายห่วง
ถัดมาเป็นส่วนสายเชื่อมต่อพลังงานของพัดลม กับแผงเมนบอร์ด ซึ่งเป็นสายที่มีหัวต่อแบบ 4-pin ตามมาตรฐานของเมนบอร์ดทั่วไป และแน่นอนว่ารองรับการใช้งานร่วมกับบอร์ด TR4 ทุกรุ่นเลยครับ
ในตอนติดตั้ง เพื่อนๆ อาจจะแกะพัดลมออกก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการวางลงบนตัวซีพียู เมื่อแกะพัดลมออก เราจะพบกับแผงอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่ระบายความร้อนไปยังพัดลมได้อย่างรวดเร็ว (การทำแผงอะลูมิเนียมเป็นซี่ๆ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการระบายความร้อนครับ ความร้อนจะออกได้เร็วขึ้น)
ถ้าใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีสายโลหะจำนวน 6 เส้น ซ้อนจากใต้แผ่นหน้าสัมผัสซีพียู แทรกขึ้นไปยังแผงอะลูมิเนียม ซึ่งตรงนี้จะเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติในการเป็นตัวนำความร้อนได้ดี จึงทำให้ความร้อนจากซีพียูถูกลำเลียงขึ้นไปยังแผงอะลูมิเนียมได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความสามารถในการระบายความร้อนที่รวดเร็วของอะลูมิเนียม จะช่วยให้ไม่เกิดความร้อนสะสมทั้งในฮีตซิงค์ และที่ตัวซีพียูครับ
นอกจากนี้ยังมีช่องว่างในพื้นที่ระหว่างแผงอะลูมิเนียม กับแผ่นสัมผัสซีพียู ช่วยให้การไหลเวียนของลมภายในเคสเป็นไปได้อย่างราบลื่น เป็นวิธีลดความร้อนได้อีกอย่างหนึ่งครับ
ที่บริเวณฐานของฮีตซิงค์ ยังโครงที่ช่วยค้ำส่วนระบายความร้อนให้ยกสูงขึ้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้อยู่ชิดกับ PCIe ทำให้การเสียบการ์ดจอ หรือต่อ SLI/multi-GPU สะดวกมากยิ่งขึ้น
ต่อมาเป็นส่วนสำคัญของเรา นั่นคือหน้าสัมผัสซีพียูของ Noctua NH-U12S TR4-SP3 ที่มีขนาดใหญ่ สามารถครอบบนกระดองซีพียูได้อย่างแนบสนิท เกลี่ยเนื้อซิลิโคนได้ทั่วทั้งแผ่น ซึ่งรองรับทั้ง Threadripper และ Epyc ครับ เมื่อแกะฮีตซิงค์ออกมา จะเห็นว่าซิลิโคนสามารถอาบได้ทั่วหน้าสัมผัส ซึ่งบ่งบอกว่าฮีตซิงค์ของเราสามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
You must be logged in to post a comment.