สำหรับซีพียูที่เป็นเมนหลักในงานนี้ คือ ซีพียู Ryzen 6000 Series สำหรับโน้ตบุ๊ก ซึ่งเปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมใหม่ ที่สำคัญคือการ์ดจอออนบอร์ดที่เปลี่ยนมาเป็น RDNA 2 แล้ว จะเป็นอย่างไรไปดูกันเลยครับ
ซีพียูที่เปิดตัวออกมานั้น มีดังนี้ ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปดูฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในลำดับถัดไปครับ
ซีพียูสถาปัตยกรรม Zen 3+ 6nm
สำหรับสถาปัตยกรรมใหม่ที่ใช้ในซีพียู Ryzen 6000 Series ในโน้ตบุ๊ก คือ Zen 3+ ซึ่งโครงสร้างภายในยังคงคล้าย ๆ กับ Zen 3 ใน 5000 Series แต่มีการเปลี่ยนโหนดการผลิตเป็น 6nm ทำให้มีความแรงมากขึ้น ในขณะที่ใช้พลังงานใกล้เคียงกับของเดิมครับ
ประสิทธิภาพในการประมวลผลของซีพียูนั้น มีแกนประมวลผลสูงสุด 8 Cores/16 Threads เท่า ๆ เดิม แต่ได้ความแรงเพิ่มขึ้น โดย Multi-thread แรงขึ้น 1.3 เท่าตัว ส่วน Single-thread เพิ่มขึ้นเล็กน้อยครับ
แต่นอกเหนือจากความแรงแล้ว ประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานทำได้ดีมากขึ้น ล่าสุดการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างเช่น Netflix ใช้พลังงานลดลงถึง 40% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าดูหนังแบบไม่ชาร์จแบตก็จะดูได้นานขึ้นแล้วครับ
การ์ดจอออนบอร์ด RDNA 2 โคตรแรง
ใช่แล้วครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ AMD เปลี่ยนมาใช้การ์ดจอออนบอร์ดสถาปัตยกรรมใหม่ นั่นคือ RDNA 2 แบบเดียวกับการ์ดจอ Radeon RX 6000 Series ในปัจจุบัน โดยแกนประมวลผลของชิปกราฟิกจะสูงสุดอยู่ที่ 12 CU ในซีพียูรุ่นท็อปครับ
ส่วนประสิทธิภาพนั้น ดูจากกราฟเอาเลยครับ งานนี้แรงกว่าการ์ดจอแยกระดับ Entry อย่าง NVIDIA MX450 แล้วครับ
และถ้ามีการผสมผสานกับฟีเจอร์ FidelityFX Super Resolution จะช่วยให้เราสามารถเล่นเกมบนความละเอียดสูง ๆ ได้ดีขึ้นโดยไม่สูญเสียเฟรมเรตครับ
AMD 3D V-cache สุดยอดแห่งเทคโนโลยี
และสุดยอดเทคโนโลยีที่ AMD เคยโชว์ในรอบที่แล้ว นั่นคือ 3D V-cache เป็นการวางแคชแบบสามมิติเหนือแกนประมวลผล ทำให้ทุกแกนสามารถเข้าถึงแคชได้อย่างรวดเร็ว และ AMD จึงขอชิมลางด้วย Ryzen 7 5800X3D
Ryzen 7 5800X3D มาพร้อมแกนประมวลผล 8 Cores/16 Threads ความเร็ว 3.4/4.5 GHz พร้อมด้วยแคช 32 MB แบบ 2D และ 64 MB แบบ 3D มีค่า TDP 105W
ประสิทธิภาพในการเล่นเกมนั้น ดูตามกราฟเลยครับ ตีตื้น Intel Core i9-12900K เป็นที่เรียบร้อย แถมยังแรงกว่า Ryzen 9 5900X อีกด้วย !!
Zen 4 ยุคใหม่มาถึงแล้ว
สำหรับข้อมูลในส่วนนี้ยังมีไม่มาก แต่แน่นอนว่าจะต้องใช้เทคโนโลยี 3D V-cache ด้วย รวมถึงการเปลี่ยนซ็อกเก็ตเป็น AM5 เป็นแบบ LGA คือมีขาอยู่ที่ซ็อกเก็ตแล้ว เราก็จะไม่ต้องเจอเหตุการณ์ที่ขาซีพียูหักงออีกต่อไป
You must be logged in to post a comment.