หลังจากที่โชว์ไปในงาน CES 2022 ล่าสุด AMD ได้ฤกษ์เปิดตัวซีพียูโน้ตบุ๊ก Ryzen 6000 Series อย่างเป็นทางการเสียที จะมีอะไรที่ปรับปรุงขึ้นจากซีรีย์เก่าบ้างไปดูกันเลยครับ
สำหรับ Ryzen 6000 Series Mobile มาพร้อมสถาปัตยกรรม Zen 3+ และชิปกราฟิก RDNA2 นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งที่มีการมูฟออนจาก PCIe 3.0 และชิปกราฟิก Vega สักทีหนึ่ง เพื่อต่อสู้กับ Intel Gen 12
จุดเด่นของการปรับปรุงสถาปัตยกรรมจาก Zen 3 เป็น Zen 3+ นอกเหนือจากความแรงแล้ว ยังเป็นเรื่องของการจัดการพลังงานที่ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ด้วยชิปประมวลผลที่เปลี่ยนจาก TSMC 7nm เป็น 6nm จึงทำให้ Ryzen 6000 เป็นซีพียูที่น่าสนใจเลยทีเดียว
จากกราฟจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบประสิทธิภาพการประมวลผลและกราฟิก Ryzen 6000 ทำออกมาได้ดีกว่า Ryzen 5000 ถึง 2 เท่าครับ ในขณะเดียวกันเมื่อเทียบระหว่าง Intel Core i7-1185G7 TDP 28W ปรากฏว่า Ryzen 7 6800U ที่มีค่า TDP 15W ทำคะแนนออกมาได้ดีกว่าสูงสุด 2.26 เท่า
กราฟถัดมาจะเห็นได้ว่า Ryzen 6000 Series ใช้งานได้ยาวนานขึ้น 8% ในโหมด idle, 12% ในโหมดสแตนด์บาย และเล่นวิดีโอได้ยาวนานขึ้น 17% (อันนี้คือ U-Series นะครับ เพราะมี TDP 15W) หากประเมินเป็นชั่วโมงคือสามารถเล่นวิดีโอได้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง
ถัดมาคือการเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Intel Core i9-12900HK ตรงจุดนี้ผมมองว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เข้าคู่เท่าไร เนื่องจาก Ryzen 9 6900HS ที่นำมาเปรียบเทียบเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน (ทั้งที่จริงควรนำ Ryzen 9 6900HX มาเทียบมากกว่า) แต่จากกราฟก็จะเห็นได้ว่า Ryzen 9 6900HS จัดการพลังงานได้ดีกว่า 2.6 เท่าครับ
การทดสอบสุดท้ายคือสิ่งที่ผมรอดูมากที่สุด คือ การทดสอบชิปกราฟิก Radeon 680M ที่เป็นชิป RDNA2 ผลทดสอบพบว่าที่ TDP 28W ชิป Radeon 680M ใน Ryzen 7 6800U ทำคะแนนออกมาได้ดีกว่า Iris Xe graphics ใน Core i7-1165G7 สูงสุด 2 เท่าเลยทีเดียว (แถมยังมีเคลมว่าแรงกว่า GTX 1650 Max-Q ของ NVIDIA ด้วย)
สำหรับใครที่เตรียมซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ ไว้รอติดตามรีวิวโน้ตบุ๊ก AMD Ryzen 6000 Series ในเพจ Extreme IT ได้เลยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techspot
You must be logged in to post a comment.