หลังจากที่ AMD โชว์ซีพียูสถาปัตยกรรม Zen 4 ในงาน CES 2022 ที่ผ่านมานะครับ ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปดูว่าแล้วสถาปัตยกรรมนี้ มันจะสามารถสู้ Intel Gen 13/14 ได้อย่างไร มันจะสมน้ำสมเนื้อขนาดไหน ไปดูกันเลยครับ
อย่างที่ทราบกันดีว่า Intel ได้ออกแบบโครงสร้างซีพียูใหม่ เป็นแบบ Hybrid ผสมผสานระหว่าง P-Core คือแกนประมวลผลที่เน้นความแรง และ E-Core คือแกนประมวลผลที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า “แล้ว Ryzen จะเอาอะไรมาสู้” !!
โครงสร้างใหม่ไฉไลกว่าเดิม
จากข่าวลือล่าสุดเผยว่า เทคโนโลยี Zen 4 จะใช้โหนดการผลิต TSMC 5nm ซึ่งมีการออกแบบโครงสร้างภายในใหม่ อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเทคโนโลยี 3D V-cache ที่เพื่อน ๆ น่าจะเคยเห็นกันแล้วว่า เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งแคชก็สามารถทำให้ซีพียูเร็วขึ้นได้แล้ว แต่มันยังมีเรื่องของโครงสร้างภายในแกนประมวลผลอีกด้วย
จากภาพทางด้านบน จะเห็นว่าในซีพียู 16-Core จะมีแกนประมวลผล 8-Core ที่เรียกว่า “Priority Core” อันนี้จะเป็นแกนที่สามารถทำงานได้เต็มค่า TDP ในขณะที่โซนตรงกลางจะเป็นแกน “LTDP” ซึ่งจะทำงานในค่า TDP ที่ต่ำลงหน่อย และเทียบเท่ากับ E-Core ของ Intel ครับ
ความแตกต่างของโครงสร้าง Zen 4 และ Intel Gen 12 คือเรื่องของการออกแบบแกนประมวลผล ใน Intel Gen 12 นั้นจะมีการใช้แกนประมวลผลที่แตกต่างกัน คือ P-Core เป็น Golden Cove ในขณะที่ E-Core เป็น Gracemont
เนื่องจากมันมีความแตกต่างกันของแกนประมวลผล Intel จึงต้องออกแบบ Intel Thread Director เพื่อควบคุมการทำงานของแกนประมวลผลให้สอดคล้องกับงาน แต่สำหรับ Zen 4 แล้ว มันคือ Zen 4 เหมือนกันทั้งหมด จึงไม่ต้องมีการออกแบบตัวควบคุมเพิ่มเติมนั่นเอง
ตรงกลางระหว่างแกน Priority และ LTDP จะมีแคช L2 1MB ที่แชร์กันไว้สำหรับส่งผ่านข้อมูลไปมา ส่วน 3D V-cache 64MB จะแปะไว้อยู่เหนือส่วนของ LTDP Core (แต่แชร์ข้อมูลกับ Priority Core ได้ด้วยนะครับ) ซึ่งคาดว่าจะมีการแปะ 3D V-cache ไว้ในส่วนของ Die แต่ละอัน ถ้า Ryzen Zen 4 ตัวท็อป (Ryzen 9 7950X) มี 2-Die ก็แสดงว่าจะมีแกนประมวลผล 32-Core และมีแคช L3 มากถึง 128 MB เลยทีเดียว
ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร
ในเรื่องของประสิทธิภาพ หลายคนคงสงสัยว่า เอ๊ะ ถ้าใส่ 8-Core แรง ๆ มา ผสมกับ 8-Core ที่ไม่ได้แรงเท่าไร (เมื่อดูจากตัวเลข TDP) แล้วอย่างนี้มันจะสู้กับคู่แข่งได้เหรอ? สำหรับข้อมูลในส่วนนี้ทางแหล่งที่มากล่าวว่า LTDP ทั้งหมด 8-Core นี้ แรงกว่า Ryzen 7 5800X 8-Core เสียอีก !! นั่นแปลว่า Priority Core จะยิ่งแรงกว่านี้อีก
แล้วถ้าหากมีแกนประมวลผลที่แรงและแรงน้อยกว่าอยู่ด้วยกัน เวลาใช้งานปกติที่ไม่ได้ใช้ทุกแกน มันจะเลือกใช้แกนประมวลผลแบบไหนก่อน? ข้อมูลจากแหล่งที่มาเผยว่า ซีพียู Zen 4 จะเลือกใช้แกนประมวลผล Priority Core ก่อนเสมอ (ตามชื่อของมันเลยครับ) และถ้า Priority Core ใช้งานเต็ม 100% แล้ว ก็จะเริ่มขยับไปใช้ LTDP Core เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่าจะเกิดความสับสนใจการเลือกใช้แกนประมวลผล เพราะจะมีการเลือกใช้แกนที่แรงกว่าก่อนเสมอนั่นเองครับ
สำหรับข้อมูลอื่น ๆ เผยว่า Ryzen Zen 4 จะใช้เมนบอร์ด AM5 LGA1718 (มีขาอยู่ที่เมนบอร์ด), รองรับแรม DDR5, มีเลน PCIe 28-lane และมีค่า TDP 105-120W (สูงสุดดันได้ถึง 170W กรณีรุ่นท็อปที่ใช้แกนประมวลผลครบทั้งหมด 100%) ยังไงช่วงปลายปีนี้ไว้รอติดตามการเปิดตัวของซีพียู Ryzen 7000 กันอีกทีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Wccftech
You must be logged in to post a comment.