สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมก็มีบทความสุขภาพสำหรับเหล่าเกมเมอร์มาให้อ่านอีกแล้วนะครับ ส่วนบทความที่ผมเคยเขียนไว้ ตอนท้ายผมจะแปะลิ้งค์ไว้ให้นะครับ
ตอนแรกผมกำลังคิดอยู่ว่า มีโรคอะไรอีกนะ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ จนกะรทั่งเมื่อวานได้เปิดหนังสือเจอโรคนี้ขึ้นมา ซึ่งทุกคนน่าจะรู้จักกันดีในชื่อ “นิ้วล็อค” หรือ “Trigger Finger” นั่นเองครับ ถ้าอย่างนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนิ้วล็อคนี้ดีกว่า ว่ามันมีอาการอย่างไร และจะมีวิธีการในการรักษาหรือป้องกันอย่างไรบ้าง
อาการของโรคที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดบริเวณโคนนิ้ว หรือข้อนิ้วมือ ยิ่งกดจะยิ่งปวดมาก ในระยะแรกนี้จะยังไม่มีการติดของนิ้วเมื่องอเข้าหรือยืดออกนะครับ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้
Anatomy
เอาล่ะ เรามาดูอนาโตมีของนิ้วมือกันนิดนึง เพื่อที่จะได้เข้าใจมากขึ้นนะครับ กล้ามเนื้อที่ควบคุมนิ้วมือ จะอยู่ที่บริเวณแขนส่วนปลาย (ถ้าอยากรู้ว่าเอ็นที่ควบคุมนิ้ว มาจากแขนจริงหรือไม่ ให้เราหงายหน้าแขน ยืดแขน และแบมือ จากนั้นกระดกนิ้วชี้ขึ้น สังเกตที่ข้อมือ จะมีการยุบตัวของผิวหนังบริเวณข้อมือครับ)
กล้ามเนื้อเหล่านี้จะส่งเอ็น (Tendon) ทอดไปตามกระดูกนิ้วมือ จากนั้นก็จะปลอกหุ้มเอ็น (Tendo sheath) หุ้มที่เอ็นเหล่านั้น ในแต่ละตำแหน่งเป็นช่วงๆ ไปครับ
ปัญหาอยู่ที่เอ็น และปลอกหุ้มเอ็นนี่แหละ
การเกิดโรค “นิ้วล็อค”
ในกรณีที่มีการใช้งานนิ้วมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ข้อความบนแป้นคีย์บอร์ด, การหยิบจับอุปกรณ์ในการทำสวน, เล่นดนตรี เช่น กีต้าร์ เป็นต้น แม้กระทั่งดีเจหมุนแผ่นหรือกดเครื่องเสียงสังเคราะห์ จะทำให้เส้นเอ็นหรือ/และปลอกหุ้มเอ็นในบางบริเวณ เกิดการอักเสบและบวมขึ้น
เมื่อมีการงอนิ้วอีกครั้ง เส้นเอ็นตำแหน่งที่บวม จะไม่สามารถลอดผ่านปลอกหุ้มเอ็นได้ หรือในกรณีที่เอ็นปกติ แต่ปลอกหุ้มมันอักเสบและบวม ช่องที่จะให้เส้นเอ็นผ่านมันก็จะแคบลง ทำให้การงอนิ้วทำได้ลำบาก เราจึงเกิดอาการนิ้วล็อคนั่นเองคัรบ
การรักษา
ในช่วงแรกที่เราพบว่ามีอาการปวดที่ข้อนิ้ว หรือบริเวณโคนนิ้ว โดยหาสาเหตุไม่ได้ และสงสัยว่าอาจมีอาการดังกล่าว อาจเข้ารับการตรวจโดยแพทย์
หรือถ้าไม่สะดวก ให้หยุดใช้งานมือไปสักพักก่อนนะครับ (ก็ควรจะหยุดทั้ง 2 ข้างนั่นล่ะ) แล้วแช่มือลงในน้ำอุ่น จะช่วยบรรเทาอาการปวด และอักเสบของเส้นเอ็นด้วย นอกจากนี้ การรับประทานยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ก็ช่วยลดปวดและอักเสบได้เช่นกัน แต่อย่าลืมปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาล่ะ (ยาพาราก็ใช้แก้ปวดได้นะครับ)
ในกรณที่เป็นมากขึ้น ร่วมกับมีอาการบวม อาจมีการใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ซึ่งอาจช่วยได้แค่ชั่วคราว ส่วนใกนรณีที่เป็นมาก แพทย์อาจดำเนินการผ่าตัดให้ครับ
การป้องกัน
สำหรับเหล่าเกมเมอร์มีพฤติกรรมที่มีการเหยียดงอนิ้วบ่อยครั้ง (ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่) ถือว่ามีโอกาสเกิดโรคได้ ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ลดความถี่ในการใช้งานนิ้วมือนั่นเอง แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรจะหาเวลาพัก เมื่อมีอาการปวดอาจแช่มือด้วยน้ำอุ่น เพื่อลดอาการอักเสบได้ด้วยนะครับ
สุดท้าย ถ้าเราไม่แน่ใจจริงๆ ให้คุณหมอตรวจให้จะดีที่สุดนะครับ
สำหรับบทความสุขภาพในครั้งนี้ ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้นะครับ ส่วนใครที่อยากอ่านบทความสุขภาพที่ผมเคยเขียนมาแล้ว เข้าไปอ่านได้จากลิ้งค์ข้างล่างนี้เลยนะครับ
[เรื่องน่ารู้] แสงสีฟ้า (Blue Light) และผลกระทบต่อดวงตา ที่เหล่าเกมเมอร์ทุกคนควรรู้
[เรื่องน่ารู้] Carpal Tunnel Syndrome โรคการกดทับเส้นประสาท ที่เหล่าเกมเมอร์ควรระวัง!
หากเพื่อนๆ คนไหน สงสัย, ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออยากได้ข้อมูลโรคอะไร ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเหล่าเกมเมอร์ ก็เขียนมาบอกกันได้ที่คอมเมนต์ได้เลยนะครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/trigger-finger
http://www.assh.org/handcare/hand-arm-conditions/trigger-finger
You must be logged in to post a comment.