เรื่องราวดี ๆ เมื่อเทคโนโลยีสร้างโอกาสใหม่ให้เด็กและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล
“เทคโนโลยี” เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ ภาพที่เกิดขึ้นในความคิดของใครหลาย ๆ คน มักจะเป็นความสะดวกสบายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นชินของคนเมืองในยุคปัจจุบัน และคนส่วนใหญ่ก็มีความคาดหวัง ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างชาวบ้านและเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่บนดอย บนภูเขา การมีเทคโนโลยีเข้ามาถึงนั้น เป็นมากกว่าความสะดวกสบายและความทันสมัย เทคโนโลยียังเข้ามาช่วยเติมเต็มความฝันของเด็ก ๆ และคนในชุมชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ๆ ได้จริง เหมือนอย่างเช่น ชุมชนและนักเรียนในโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นั่นเอง
ด้วยเจตนารมย์ของกลุ่มทรูที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ การขยายเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G จึงกว้างไกลและครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย รวมถึงในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เมื่อทรูเข้าไปติดตั้งเครือข่าย True 5G ที่บ้านป่าซางนาเงิน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชุมชนก็ได้เกิดขึ้น และมีเรื่องราวดี ๆ ที่ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ อยากถ่ายทอดให้ฟัง
พลิกโฉมการสื่อสารจากจดหมายสู่วิดีโอคอล ดึงเทคโนโลยีเปิดโลกการเรียนการสอนที่ทันสมัยและได้ผลจริง
ก่อนการเข้ามาของเครือข่าย True 5G คุณสุธิดาพร ไทยเหนือ หรือครูแอ๊ว รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ได้เล่าถึงการติดต่อสื่อสาร ในยุคดั้งเดิมว่าเป็นใช้การสื่อสารโดยฝากจดหมายถึงกัน แต่หลังจากมีเครือข่ายTrue 5G เข้ามา การติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปมาก แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็สามารถคุยแบบเห็นหน้ากันได้แล้ว
นอกจากนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการศึกษาให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ครูแอ๊วเล่าด้วยความภูมิใจว่า แต่เดิมที่โรงเรียนขาดแคลนครูสอนภาษาอังกฤษ เมื่อเครือข่าย True 5G เข้ามา การเรียนการสอนก็สะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนมาใช้เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา เพื่อนำเนื้อหาภาษาอังกฤษมากมายมาสอนให้กับนักเรียนได้
อีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ที่ครูแอ๊วเล่าสู่กันฟังก็คือ เมื่อก่อนการเรียนการสอนทำได้เพียงถ่ายทอดโดยการเล่าอย่างเรื่องการนั่งสมาธิ ซึ่งนักเรียนอาจจะไม่เห็นภาพ จึงไม่สนุกกับการเรียนเท่าที่ควร เมื่อใช้เครือข่าย True 5G จึงได้เปลี่ยนวิธีการสอนเรื่องสมาธิ โดยให้นักเรียนดูคลิปการนั่งสมาธิจาก YouTube ให้ได้เห็นภาพจนเกิดความเข้าใจ และทำตามได้ถูกต้อง เมื่อนักเรียนเข้าใจ ก็สนุก และกระตือรือร้นในการเรียนด้วย
นอกจากนี้ ครูแอ๊วและครูหลาย ๆ คน ได้ร่วมกันจัดตารางการเรียนรู้ จัดระบบวางแผนการใช้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) หรือที่เรียกกันว่า “ห้อง True 5G” ซึ่งเป็นห้องที่มีเทคโนโลยีการสอนและอินเทอร์เน็ตที่เร็ว แรง เด็ก ๆ หรือผู้คนในชุมชนที่มีโอกาสได้มาใช้ห้อง True 5G จะได้สัมผัสกับโลกที่กว้างกว่าเดิม
เทคโนโลยี 5G จุดประกายเติมเต็มความฝันการเป็นนักเต้น K-POP
ด.ญ.มาริษา มาเยอ มีความฝันที่เข้ากับเทรนด์ในยุคนี้มาก ๆ จากการได้เปิดโลกกว้าง รวมถึงยังได้ฝึกฝนตัวเองอย่างจริงจังเพื่อเดินตามความฝันโดยมีเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี เมื่อถามถึงความฝันในอนาคต น้องตอบอย่างหนักแน่นว่า
“โตขึ้นหนูอยากเป็นนักเต้นในวงการ K-POP ที่ประเทศเกาหลีค่ะ จุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูได้รู้จักวงการ K-POP เริ่มจากมีรุ่นพี่ชวนไปเต้น หนูชอบมากค่ะ หลังจากนั้นหนูสนใจเกี่ยวกับวงการนี้ จึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าไปดูใน YouTube Facebook TikTok ว่าวงการ K-POP จริง ๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหนูก็ชอบร้องเพลงด้วยค่ะ ไอดอลของหนูคือ พี่ลิซ่า BLACKPINK ค่ะ”
หลังจากนั้น น้องได้เล่าต่อถึงเส้นทางที่วาดหวังไว้ว่า
“การที่หนูจะตามความฝันได้ ก่อนอื่นหนูต้องเรียนภาษาต่างประเทศก่อนค่ะ แล้วก็ฝึกเต้น โดยหนูจะฝึกเต้นจากการดู YouTube เวลาที่ใช้ฝึกก็อยู่ที่ความยากง่ายของเพลง ถ้าเพลงที่เต้นยากหน่อย ก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แต่อย่างเพลง Pink Venom (เพลงของวง BLACKPINK) ใช้เวลาฝึกครึ่งชั่วโมงค่ะ พอฝึกเสร็จก็จะแบ่งเวลาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่ามีที่ไหนเปิดออดิชัน เมื่อเราพร้อมจะได้เตรียมตัวไปสมัครค่ะ”
จริง ๆ แล้ว การที่ น้องมาริษา จะค้นหาตัวเองเจอ และทำตามความฝันนั้นไม่ง่ายเลย หากไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต True 5G น้องเล่าว่า ก่อนที่ True 5G จะเข้ามา ตอนฝนตกลำบากมาก ต้องพยายามเดินหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่พอมี เครือข่าย True 5G เข้ามา ทำให้หาข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังเรียนเต้นได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย
เปิดโลกความรู้ เชื่อมต่อความร่วมมือ เพื่อสืบสานและพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น
คุณศุภชัย บำรุง หรือครูทิ้ง ครูจากมูลนิธิ Teach For Thailand ในโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ได้ใช้เทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้ และเกิดความร่วมมือกับคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อสืบสานและพัฒนาองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นของตัวเอง ผ่านโครงการยุ้มมาฉ่า
ครูทิ้งเล่าว่า ที่บ้านป่าซางนาเงินมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างบ้านสมัยใหม่ที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชุมชนมีไม้ไผ่เยอะมาก แต่อายุของไม้ไผ่ไม่ได้ยืนยาวพอที่จะนำมาสร้างบ้าน ดังนั้นครูทิ้งจึงช่วยแก้ปัญหานี้ ด้วยการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตว่า จะทำอย่างไรหากต้องการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ได้ถาวร รวมถึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ จึงได้เจอกับ Bamboosaurus Studio ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการออกแบบอาคารต่าง ๆ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะไม้ไผ่ บุคลากรในบริษัท Bamboosaurus Studio เป็นนักศึกษาที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้นำความรู้มาช่วยสานต่อและทำงานร่วมกับโรงเรียน และชุมชนบ้านป่าซางนาเงิน
Bamboosaurus Studio และผู้คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยมีอินเทอร์เน็ต True 5G เชื่อมโยงการประชุมร่วมกันผ่านแพลตฟอร์ม True VRoom นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกลุ่มไลน์เพื่อพูดคุยกันโดยมีการดึงกลุ่มการตลาดต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อที่จะได้สอบถามข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัด Workshop Online เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของไม้ไผ่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เรื่องของการทำบ้านไม้ไผ่ที่แข็งแรงทนทานแล้ว ยังสามารถต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงชุมชนได้อีกในอนาคต
สุดท้ายนี้ครูทิ้งได้เผยว่า “โครงการยุ้มมาฉ่า จะมาถึงจุดนี้ไม่ได้ หากไม่มีอุปกรณ์ รวมถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต True 5G ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพราะว่าผมอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล เรื่องการติดต่อสื่อสารกับคนข้างนอกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ต่อการพัฒนาโครงการนี้ครับ”
ด้าน คุณชัยณรงค์ อยู่ลึ ผู้ที่อยู่ในชุมชนป่าซางนาเงิน ได้เล่าถึงการมาร่วมโครงการยุ้มมาฉ่ากับทางโรงเรียนว่า เขามีโอกาสไปดูงานที่เชียงราย และเกิดแรงบันดาลใจอยากจะกลับไปสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่เพราะในท้องถิ่นมีไม้ไผ่เยอะ อีกทั้งแต่เดิมในหมู่บ้านก็เป็นบ้านไม้ไผ่ แต่เพราะปัญหาที่ไม้ไผ่อยู่ไม่ทน ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเป็นบ้านแบบสมัยใหม่ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประจวบเหมาะกับครูทิ้งติดต่อกับบริษัท Bamboosaurus Studio จึงได้พูดคุยกันเรื่องการยืดอายุของไม้ไผ่ เกิดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนป่าซางนาเงิน ที่สำคัญคือนักเรียนก็ได้มาเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงร่วมกัน เพื่อเก็บความรู้ไว้สร้างงานสร้างอาชีพในอนาคต
คุณชัยณรงค์ รักในเรื่องราวของไม้ไผ่มาก และหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ เขาเล่าว่า “พอเครือข่าย True 5G เข้ามา ผมสามารถเสิร์ชหาข้อมูลจาก Google เกี่ยวกับเรื่องไม้ไผ่ได้ง่ายมาก รวมถึงหาแบบบ้านใน YouTube สะดวกรวดเร็วมาก ๆ ครับ”
คำบอกเล่าของคุณครู นักเรียน และผู้คนในชุมชนบ้านป่าซางนาเงิน จังหวัดเชียงราย สะท้อนเรื่องราวดี ๆ ของคนไทย ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ก็ยังมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ ไม่แพ้คนในเมือง ดังความตั้งใจของ True 5G ที่พร้อมนำเทคโนโลยี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างแท้จริง
You must be logged in to post a comment.