เหล่าเกมเมอร์มือใหม่เวลาไลฟ์สตรีมเกม อาจจะเคยได้ยินคำแนะนำมาว่า “เลือก Quick Sync เวลาสตรีมสิ” แล้วเจ้า Quick Sync มันดีอย่างอะไร ทำไมถึงควรเลือกใช้ วันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้กันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก Intel กล่าวไว้ว่า Intel Quick Sync Video เป็นการใช้ความสามารถในการประมวลผลสื่อเฉพาะของเทคโนโลยีกราฟิก Intel เพื่อถอดรหัสและเข้ารหัสวิดีโออย่างรวดเร็ว ทำให้ซีพียูสามารถทำงานอื่นให้เสร็จและมีการตอบสนองของระบบที่ดีขึ้น
นั่นหมายความว่า จากเดิมที่มักมีการใช้ซีพียูในการเรนเดอร์วิดีโอ, แปลงไฟล์วิดีโอ หรือไลฟ์สตรีม เมื่อเปิดใช้งาน Intel Quick Sync ก็จะเป็นการสลับไปใช้หน่วยประมวลผลเฉพาะที่มีอยู่ในชิปกราฟิกออนบอร์ด Intel HD graphics แทนการใช้หน่วยประมวลผลหลักของซีพียู เป็นการลดภาระการทำงานของซีพียู และช่วยให้เราทำงานอย่างอื่นได้ราบลื่นขึ้นด้วย
พัฒนาการของ Intel Quick Sync
เทคโนโลยี Quick Sync มีมาตั้งแต่สมัยซีพียูสถาปัตยกรรม Sandy Bridge (Gen 2) และได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังจำได้ว่าในสมัยซีพียู Intel Ivy Bridge Gen 3 ทางเว็บไซต์ AnandTech เคยทดสอบคุณภาพของวิดีโอที่ได้จาก Quick Sync เทียบกับวิดีโอที่ได้จาก NVENC ของการ์ดจอ GTX 680 ปรากฏว่าได้คุณภาพวิดีโอใกล้เคียงกัน ในขณะที่ Quick Sync สามารถประมวลผลได้เร็วกว่าในความละเอียดระดับหนึ่งครับ
และล่าสุดในปี 2020 พบว่าเทคโนโลยี Quick Sync Version 8 รองรับการถอดรหัสไฟล์ VP9 12-bit & 12-bit 4:4:4 และ HEVC 12-bit 4:2:0/4:2:2/4:4:4 อีกทั้งยังรองรับการถอดรหัสไฟล์วิดีโอรูปแบบใหม่ AV1 ด้วย และเนื่องจากมันเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของชิปกราฟิกออนบอร์ด ในซีพียู Intel เท่านั้น
ผู้ใช้ซีพียู Intel จะสามารถใช้งาน Quick Sync ได้ (ในรุ่นที่มีชิปกราฟิกออนบอร์ด)
Quick Sync มีประโยชน์ต่อเหล่าเกมเมอร์อย่างไร
สำหรับประโยชน์ของ Quick Sync ในการเล่นเกม หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของการไลฟ์สตรีมเกมเสียมากกว่า โปรแกรมไลฟ์สตรีมในปัจจุบันอย่าง OBS Studio หรือ Streamlabs OBS ก็มีตัวเลือก Quick Sync ให้ใช้งานด้วย
โดยปกติแล้วการไลฟ์สตรีมในโปรแกรมข้างต้น มักจะเลือกค่าเริ่มต้นเป็น x264 (Software) ซึ่งจะมีการใช้ซีพียูในการเข้าและถอดรหัสวิดีโอ ตรงจุดนี้หากเล่นเกมแล้วไลฟ์สตรีมไปด้วย จะกระทบต่อ FPS ในระหว่างการเล่นได้ และอาจทำให้เกมรวมถึงคลิปไลฟ์สตรีมเกิดอาการกระตุกได้ด้วยครับ
แต่เมื่อเลือกใช้ Quick Sync ในการไลฟ์สตรีม หน่วยประมวลผลในชิปกราฟิกจะทำหน้าที่เข้าและถอดรหัสวิดีโอแทน ซีพียูจึงสามารถทุ่มเทกำลังทั้งหมดให้กับการเล่นเกม เพราะฉะนั้นคุณก็จะสามารถใช้ซีพียูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยมอบหน้าที่การไลฟ์สตรีมให้กับ Quick Sync และไม่กระทบต่อ FPS ในเกมด้วย
ซีพียู Intel รุ่นใดบ้างที่มี Quick Sync
ซีพียูเดสก์ทอป Intel Core ตั้งแต่สถาปัตยกรรม Sandy Bridge Gen 2 ที่มีชิปกราฟิก Intel HD Graphics มาจนถึงรุ่นล่าสุด 10th Generation Intel Core ทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นที่ลงท้ายด้วยรหัส F จะมีชิปกราฟิกออนบอร์ดในซีพียู ล้วนแล้วแต่รองรับ Quick Sync ด้วยครับ
นอกจากนี้คุณสามารถตรวจสอบซีพียู Intel ที่รองรับเทคโนโลยี Quick Sync ได้จาก ลิ้งก์นี้ เลยครับ
ตัวอย่างสเปก 10th Generation Intel Core เพื่อการไลฟ์สตรีมเกมด้วย Quick Sync
งประมาณ 25,xxx บาท
CPU | INTEL Core i5-10400 |
MB | ASUS Prime H410M-K |
GPU | ASUS Strix RX 5500 XT OC 8GB / INNO3DGTX 1660 SUPER Twin X2 OC RGB 6GB |
RAM | KINGSTON HyperX FURY DDR4 16GB (8GBx2) 2666 Black |
Storage | Western Digital Blue 500GB 3D NAND |
PSU | Thermaltake TR2 550W |
Case | CUBIC Armor Plus Black |
Cooler | แถมในกล่อง |
หากเพื่อน ๆ คนไหน อยากดูสเปกในช่วงราคาอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่ ลิ้งก์นี้ เลยครับ
และนี่คือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเทคโนโลยี Quick Sync หวังว่ามันจะเป็นหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจ เพื่อเลือกซื้อซีพียูบนเดสก์ทอปหรือโน้ตบุ๊ก ที่ตรงตามความต้องการของเพื่อน ๆ นะครับ
You must be logged in to post a comment.