[HOW TO] มือใหม่หัดประกอบคอมต้องรู้ Windows 11 “Home vs. Pro” เลือกซื้อเวอร์ชันไหนดี

ควรเลือก Windows 11 Home หรือ Windows 11 Pro ดีครับ? นี่คือคำถามที่แอดได้พบเจอมาบ้างในอินบ็อกซ์ ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่ทราบข้อแตกต่างของ Windows สองเวอร์ชันนี้ และคงมีความคิดที่ว่า “Pro มันต้องดีกว่า Home สิ” (แถมยังราคาแพงกว่าด้วย) แต่มันจำเป็นจริง ๆ หรือเปล่า? วันนี้เรามาหาคำตอบกันครับ

สิ่งที่เหมือนกันทั้ง Home และ Pro

ประสิทธิภาพในการเล่นเกม

เนื่องจากแกนกลางของทั้งสองเวอร์ชันยังเป็น Windows 11 เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพในการเล่นเกมไม่ได้ต่าง ๆ เราสามารถติดตั้งเกมต่าง ๆ ได้โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ (ยกเว้นสเปกของคุณไม่ถึง งานนี้ก็คงโทษที่ Windows ไม่ได้แล้วนะ อิอิ)

 

ฟีเจอร์ใหม่บนเดสก์ท็อป

Windows 11 Home และ Pro สามารถใช้งานฟีเจอร์ใหม่บนหน้าเดสก์ท็อปได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเรียงหน้าต่าง Snap Layout (คล้ายการแบ่งจอในไอแพด แต่ทำได้หลากหลายแบบมากขึ้น), การเปิดใช้งานวิดเจ็ตรายงานข่าวต่าง ๆ, การแชตผ่าน Microsoft Team หรือการใช้งานระบบสัมผัส ปากกา และพิมพ์ด้วยเสียง ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ใช้งานได้ไม่แตกต่างกันครับ

 

ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

ทั้งเวอร์ชัน Home และ Pro รองรับระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การใส่รหัสผ่าน, การปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือและใบหน้าผ่าน Windows Hello, โปรแกรมสแกนไวรัสฟรี Windows Defender, ระบบ Firewall รวมถึงการรองรับ TPM 2.0 และ Secure boot ที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยล่าสุดของ Windows 11 ด้วย

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คุณสมบัติพื้นฐานที่ “ชาวเกมเมอร์” ต้องใช้งานนั้น มีเหมือนกันทั้งใน Windows 11 Home และ Pro ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่แตกต่างกันมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ

 

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง Home และ Pro

การรองรับสเปกที่สูงกว่า

Windows 11 Pro จะรองรับสเปกที่สูงกว่า ได้แก่ รองรับซีพียู 2 ซ็อกเก็ต สูงสุด 128 Cores และแรมสูงสุด 2TB ในขณะที่ Windows 11 Home จะรองรับซีพียู 1 ซ็อกเก็ต และแรมสูงสุด 128GB ครับ ทีนี้เราคงต้องกลับไปถามตนเองแล้วล่ะว่าเราจะต้องใช้แรมมากขนาดไหนกันนะ

 

การล็อกอินด้วย Local Account

ปัญหาชวนปวดหัวมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับ Windows 11 Home คือ การบังคับให้ล็อกอินด้วย Microsoft Account และต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเวอร์ชัน Pro จะมี Local Account ที่เฉพาะกับเครื่องใดเครื่องหนึ่งเท่านั้น เป็นการล็อกอินแบบออฟไลน์ได้

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีวิธีลัดในการติดตั้ง Windows 11 Home โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตอยู่นะ เดี๋ยวแอดจะทำบทความแยกมาให้อีกทีหนึ่ง หรือเพื่อน ๆ อาจจะลองหาข้อมูลในเว็บต่าง ๆ ดูก่อนก็ได้ เพราะถ้าสามารถกำจัดความวุ่นวายนี้ออกไปได้ ปัญหาบังคับล็อกอินใน Home ก็จะหมดไปครับ

 

เข้ารหัสด้วย Bitlocker

อันนี้เป็นฟีเจอร์ล็อกดิสก์หน่วยความจำที่มีให้เฉพาะใน Windows 11 Pro เท่านั้น โดยจะมีการเข้ารหัสแบบล้ำลึกด้วยอัลกอริธึม AES ในกรณีที่โน้ตบุ๊กหรือหน่วยความจำถูกขโมยไปแล้วไม่สามารปลดรหัสได้ Windows จะล็อกดิสก์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เข้าถึงข้อมูลทันที

ฟีเจอร์นี้แอดมินเองก็ยังไม่เคยได้ใช้กับเขาสักที (เพราะเราเน้นทำงานกับเล่นเกมแค่นั้น) เคยแต่ได้รับอินบ็อกซ์จากลูกเพจเข้ามาว่า ซื้อคอมมือสองแล้วมี Bitlocker ล็อกดิสก์ไว้ ซึ่งอันนี้ขอออกตัวก่อนเลยว่า แก้ไม่เป็นเหมือนกันจ้า

 

Group Policy

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ขาดหายไป และมีให้เฉพาะใน Windows 11 Pro เช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้แอดต้องการเข้าไปปิด Auto Update Windows เพื่อป้องกันไม่ให้มันอัปเดตไดรเวอร์อัตโนมัติ โดยการจะสั่งปิดนั้นต้องเข้าไปจัดการใน Group Policy หรือใช้คำสั่ง gpedit.msc ใน Run แต่ปรากฏว่าไม่สามารถสั่งเปิดได้ใน Windows 11 Home ครับ

ทั้งนี้ ถึงมันจะไม่ได้มีมาให้ตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนใน Windows 11 Pro แต่เราสามารถสั่งเปิดการใช้งานในเวอร์ชัน Home ผ่าน Command prompt ได้เหมือนกัน ซึ่งมีหลายขั้นตอนแนะนำว่าให้ลองเปิดหาข้อมูลในเวบต่างประเทศดูนะครับ อิอิ

 

การใช้งาน Hyper-V และ Sandbox

สำหรับสายเปิดบ็อตใน Bluestacks หรือรันระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ผ่าน VMWare จะต้องรู้จัก Hyper-V หรือ Virtualization อย่างแน่นอน แม้เราจะสามารถสั่งเปิดใช้งานในไบออสได้ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของการทำงานบน Windows จึงแนะนำให้เข้าไปเปิด Hyper-V ใน Windows ด้วย

แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้สงวนไว้เป็นค่าเริ่มต้นใน Windows 11 Pro เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า Home จะใช้ไม่ได้นะ แค่ต้องเข้าไปจัดการอีกเล็กน้อยเหมือนกรณีของ Group policy ครับ เท่านี้ก็จะได้ Hyper-V ในเวอร์ชัน Home แล้ว (ซึ่งแอดก็ได้ลองเปิดใช้งานแล้วเช่นกันครับ)

ส่วน Sandbox เป็นฟีเจอร์ใหม่ใน Windows 10 ที่เราสามารถรันโปรแกรมแยกจากระบบหลัก เพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากภายนอก รวมถึงการแฮกต่าง ๆ ด้วย ซึ่งมันจะเป็นค่าเริ่มต้นมาให้ใน Windows 11 Pro แต่สำหรับเวอร์ชัน Home จะต้องติดตั้งเพิ่มเองเช่นเดียวกับ Hyper-V ครับ

 

Remote Desktop Connection

จริง ๆ ข้อนี้ผมไม่อยากนับรวมสักเท่าไร เพราะเราสามารถใช้งานโปรแกรมอื่น ๆ แทนได้ สำหรับ Remote Desktop Connection เป็นฟีเจอร์ให้เราทำหน้าที่เป็นโฮสต์เข้าไปจัดการเครื่องคอม Windows ปลายทางได้ เป็นต้นว่าเข้าไปซ่อมคอมให้ลูกค้าผ่าน Remote Desktop Connection นี่แหละ

ซึ่ง Remote Desktop Connection ที่อยู่ในรูปแบบโฮสต์ จะใช้งานได้เฉพาะเวอร์ชัน Pro เท่านั้น ส่วนเวอร์ชัน Home จะเป็นได้แค่เครื่องปลายทางหรือเครื่อง Client แต่ถ้าเราอยากเป็นโฮสต์ก็อาจจะใช้โปรแกรมพวก TeamViewer แทนได้ครับ (อันนี้แอดใช้บ่อย เวลาเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกเพจ)

 

ฟีเจอร์ด้านธุรกิจ

ฟีเจอร์สุดท้ายที่เชื่อว่าผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป รวมถึงเหล่าเกมเมอร์คงไม่ได้ใช้ นั่นคือฟีเจอร์ด้านธุรกิจต่าง ๆ ที่สงวนไว้ใน Windows 11 Pro เท่านั้น เช่น Assigned Access, Dynamic Provisioning, Kiosk Mode, Mobile Device Management หรือการรองรับ Azure cloud เป็นต้น ทั้งหมดนี้บอกเลยว่าแอดก็ไม่เคยใช้สักอัน แต่ก็ยังเล่นเกมได้ตามปกตินะ

 

บทสรุป ซื้อ Home หรือ Pro

สำหรับราคาของ Windows 11 Home เวอร์ชัน FPP กล่องสวย ๆ จะอยู่ที่ 4,690 ส่วน Windows 11 Pro จะอยู่ที่ 6,950 บาท (อิงราคาจากเว็บไซต์ Advice) ซึ่งถ้าคุณเป็นเกมเมอร์ที่ต้องการเพียง Windows ในการรันเกมเฉย ๆ เล่นคนเดียวสบายใจฉัน Windows 11 Home ถือว่าเพียงพอแล้ว แถมยังเหลือเงินอีก 2,000 บาท ไว้ซื้อเกมได้อีกตั้งหลายเกม

แต่ถ้าคุณเป็นสายธุรกิจหรือองค์กร ที่จำเป็นต้องใช้ฟีเจอร์หลากหลายและมีความปลอดภัยสูงขึ้น Windows 11 Pro ก็จะเหมาะกับการใช้งานด้านนี้มากกว่าครับ

เหนือสิ่งอื่นใดอย่าลืมอุดหนุนซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์กันด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Beebom

Related articles

แรมบัสสูง vs. แรม CL แน่น ๆ – จะประกอบคอมเล่นเกม ต้องใช้แรมบัสสูง ๆ จริงหรือไม่?

เรื่องตัวเลขความเร็วในวงการคอมพิวเตอร์มันเป็นของคู่กันนะครับ แต่ในอุปกรณ์บางอย่าง ความเร็วอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป และแรมก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เราไม่สามารถมองได้แค่ตัวเลขของความเร็วหรือบัสแรมเพียงอย่างเดียวครับ ทำไมเป็นอย่างนั้น ผมจะพาไปหาคำตอบครับ รายละเอียดของการทดสอบและผลทดสอบขอหยิบยกมาจากเว็บไซต์ Techspot ซึ่งได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของแรม DDR5 ที่บัส 5600MHz,...

แอลจีเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาใหม่ “เทคโนโลยีที่เข้าใจคุณมากขึ้น” ภายใต้แนวคิด AI ความอัจฉริยะที่มีเสน่ห์

แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (แอลจี) เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีที่เข้าใจคุณมากขึ้น” (Less Artificial, More Human)...

[Extreme History] – ELIZA แชตบ็อตนักบำบัด (จอมปลอม) สร้างขึ้นเพื่อทดสอบจิตใจมนุษย์

จากหัวเรื่องผมไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะ ELIZA ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบจิตใจ (หลอกลวง) มนุษย์ ถึงขนาดทำให้นักจิตบำบัดยังหลงเชื่อว่ามันคือ AI ที่สามารถบำบัดจิตได้จริง...

“realme 14 Series 5G” X “Bacon Time” ผนึกกำลังทีมอีสปอร์ตระดับโลก เปิดตัว Performance Dominator คนใหม่ สัมผัสนวัตกรรมเกมมิ่งโฟนสุดยิ่งใหญ่ 27 มีนาคมนี้ พร้อมกัน!

realme (เรียลมี) แบรนด์เทคโนโลยีเพื่อคนรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ประกาศแผนกลยุทธ์ปี 2568 เดินหน้าสู่การเป็นสมาร์ตโฟนที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านประสิทธิภาพ ดีไซน์ และคุณภาพการใช้งาน ประกาศจับมือ...

ศัพท์การ์ดจอต้องรู้ – TDP, TGP และ TBP ตัวย่อบอกการใช้พลังงาน แต่ละอันคืออะไรกันนะ ??

ไม่ว่าใครที่เข้าวงการคอมพิวเตอร์มาทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ น่าจะคุ้นเคยกับตัวย่อ TDP, TGP และ TBP โดยเฉพาะการ์ดจอ แต่ผมก็เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่าจริง ๆ...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า