เรื่องน่ารู้ของการ์ดจอ: มาดูความแตกต่างของการ์ด Gaming และ Workstation ที่คุณควรรู้!

นอกจากการ์ดจอสำหรับเล่นเกมแล้ว ยังมีการ์ดจออีกประเภทหนึ่ง ที่นิยมนำมาใช้ในทางวิทยาศาสตร์ หรืองานออกแบบต่างๆ ซึ่งการ์ดจอประเภทนี้ จะมีความแตกต่างจากการ์ดจอเล่นเกมทั่วไปที่เราใช้กันอยู่ในตอนนี้ เราเรียกการ์ดจอประเภทนั้นว่า การ์ดจอ Workstation นั่นเองครับ

จากคราวที่แล้ว ผมฝากติดตามบทความเรื่องความแตกต่างระหว่างการ์ดจอ Gaming และการ์ดจอ Workstation ไว้ วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปดูความแตกต่างของการ์ดจอทั้ง 2 ประเภท ว่ามันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ

1. ผู้ผลิต

การ์ดจอจาก AMD และ Nvidia นั้น มีทั้งการ์ด Gaming และ การ์ด Workstation สำหรับการ์ดจอเล่นเกมนั้น จะมีทั้งการ์ดแบบ Reference ที่ทาง AMD/Nvidia ทำออกมาจำหน่ายเอง กับการ์ดแบบ Custom ซึ่งการ์ดประเภทนี้ จะถูกผลิตโดยบริษัทพาร์ทเนอร์ จะนำชิปการ์ดจอมาออกแบบตัวการ์ดเอาเองครับ

ส่วนการ์ด Workstation นั้น มีผู้ผลิตร่วมด้วยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ดจากทาง AMD/Nvidia ทำออกขายเอง ส่วนน้อยจะเป็นการ์ด Custom เท่าที่ผมเห็นคือ Nvidia จะมีการ์ดของ PNY และ Leadtek แต่ทาง AMD จะเป็นผู้ผลิตการ์ด Workstation เองทั้งหมด

นอกจากนี้ เรื่องของการเรียกชื่อการ์ด Workstation ก็จะแตกต่างจากการ์ด Gaming ดังตารางนี้เลยครับ

ผู้ผลิต Gaming Graphics Cards Workstation Graphics Cards
Nvidia GeForce Quadro
AMD Radeon / RX Vega FirePro / Vega

 

2. GPU

สำหรับข้อนี้ไม่ใช่ความแตกต่างกันนะครับ เพราะการ์ดทั้ง 2 ประเภท จะใช้ชิปสถาปัตยกรรมเดียวกันเลย เช่น Nvidia GTX 1080 กับ Nvidia Quadro P5000 ก็จะใช้ชิป Pascal เหมือนกัน (แต่บางครั้งอาจใช้สถาปัตยกรรมต่างกัน โดยเฉพาะการ์ดรุ่นก่อนๆ ครับ)

จริงๆ แล้วเพื่อนๆ จะพบกับการ์ดจออีกตระกูลหนึ่งของ Nvidia นั่นคือ Nvidia Tesla ซึ่งเป็นการ์ดจอที่เน้นในเรื่องการคำนวณโดยเฉพาะ มักใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ครับ ตรงนี้ผมจะขอไม่พูดถึงละกัน แม้ว่าจะมีสถาปัตยกรรมแบบ Pascal แต่ส่วนประกอบปลีกย่อยอื่นๆ จะแตกต่างจากการ์ด Quadro และ Geforce ประมาณหนึ่งครับ เนื่องจากจุดประสงค์ในการใช้งานต่างกัน

 

3. หน่วยความจำ

อันนี้คือข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของการ์ดจอทั้ง 2 ประเภท แม้ว่าการ์ดจอทั้ง 2 จะใช้แรมประเภท GDDR5/5X หรือ HBM แต่แรมที่ใช้บนการ์ด Workstation เราเรียกว่าแรม ECC (Error Correcting Code) ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณสมบัติในการตรวจสอบความถูกต้อง และลดการผิดพลาดในการทำงานของแรม ส่วนนี้ถือว่าสำคัญมากสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์ หรืองานออกแบบ

ส่วนแรมของการ์ด Gaming จะเน้นในเรื่องของความเร็ว ดังนั้นมันจะไม่มี ECC ครับ (ทำให้ราคามันถูกลงด้วย)

 

4. เฟิร์มแวร์ และ ไดรเวอร์

นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การ์ดทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกัน เฟิร์มแวร์หรือไบออส ที่ทำงานร่วมกับการ์ด Workstation จะเน้นในเรื่องของเสถียรภาพและความแม่นยำในประมวลผล ส่วนเฟิร์มแวร์ของการ์ด Gaming นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อประสิทธิภาพและความเร็วให้เหมาะกับการเล่นเกมครับ

ส่วนไดรเวอร์ของการ์ดทั้ง 2 ประเภท จะมีความแตกต่างกันไปด้วย ไดรเวอร์สำหรับการ์ด Workstation ถูกออกแบบมาเพื่อให้รีดประสิทธิภาพของการ์ดจอ ในการทำงานร่วมกับโปรแกรมออกแบบ หรือโปรแกรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น AutoCAD เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการ์ด Gaming จะเน้นการปรับประสิทธิภาพร่วมกับการเล่นเกมครับ

สำหรับตัวผมแล้ว ผมคิดว่าส่วนนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการที่โปรแกรมหรือไดรเวอร์ ออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับการ์ดจอประเภทหนึ่ง แสดงว่าการ์ดตัวนั้น น่าจะสามารถทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์เหล่านั้นได้กว่า ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้การ์ดในกลุ่ม Gaming ทำงานด้านกราฟิกได้ แต่ประสิทธิภาพอาจสู้การ์ด Workstation ไม่ได้ครับ

 

5. การนำไปใช้

แน่นอนว่าเมื่อการ์ดมันอยู่ในตระกูลต่างกัน จุดประสงค์ในการนำไปใช้งานก็ต้องแตกต่างกัน โดยการ์ด Workstation จะเน้นไปทางด้านการประมวลผล ไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อกราฟิก, งานทางด้านโมเดลลิ่ง, การคำนวณ หรืองานแอนิเมชันต่างๆ ที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะด้านครับ

ส่วนการ์ด Gaming จะเน้นในการเล่นเกม เพื่อคอมพิวเตอร์สามารถรันเกมได้อย่างราบลื่นและสวยงาม เน้นการทำงานที่รวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมทางด้านกราฟิกทั่วไปได้ ในกรณีที่เราไม่ต้องการใช้งานการ์ด Workstation ครับ

6. ประสิทธิภาพ

การ์ดจอ Workstation จะเน้นในเรื่องของความเสถียร การประมวลผลหนักๆ ที่ต้องการความแม่นยำสูง โดยใช้งานคู่กับซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน ส่วนการ์ดจอเล่นเกมก็จะเน้นในเรื่องของความเร็วในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถทำการ Overclock เพื่อเร่งประสิทธิภาพของการ์ดจอได้ด้วย

ทั้งนี้ ในการนำการ์ดจอทั้ง 2 กลุ่มมาเปรียบเทียบกันนั้น บางครั้งอาจพบว่า การ์ดจอ Gaming ก็สามารถทำงานในกลุ่มของ Workstation ได้เช่นกัน ในกรณีที่เป็นงานเล็กๆ หรือไม่ต้องการความละเอียดสูงมากนัก แต่เมื่อนำไปใช้ในงานที่ต้องการความละเอียดและแม่นยำสูง การ์ด Workstation จะตอบโจทย์มากกว่าครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก Pugetsystems

7. ราคา

การ์ดในกลุ่ม Workstation โดยส่วนมาก จะมีราคาสูงกว่าการ์ด Gaming อยู่หลายเท่า ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงส่วนประกอบที่ใช้ในการ์ดด้วย เพราะโดยปกติแล้ว การ์ดที่ต้องการความเสถียร ความทนทานในการใช้งาน อย่างการ์ด Workstation จะนิยมใช้วัสดุเกรดเซิร์ฟเวอร์อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ราคาจึงค่อนข้างสูง

ยกตัวอย่างเช่น การ์ด Geforce GTX 1080 อาจมีราคาอยู่ราวๆ 20,000 – 28,000 บาท แต่การ์ด Quadro P5000 ซึ่งใช้ชิป GP104 เหมือนกันนี้ อาจมีราคาเฉียดแสนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ สเปคของการ์ด Workstation ระดับสูง ก็มักจะใส่มาให้แบบจัดเต็ม บางรุ่นมี VRAM ถึง 16 GB เลยก็มีนะครับ

สำหรับบทสรุปนะครับ ควรเลือกใช้อุปกรณ์ให้เข้ากับงานน่าจะดีกว่า เพราะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราไม่ได้ทำงานเฉพาะด้าน สามารถใช้การ์ดจอ Gaming ทำงานกราฟิกทดแทนได้เช่นกัน แต่ถ้าจะเอาการ์ด Workstation มาเล่นเกม ผมว่าคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับบทความในวันนี้ ถ้ามีเนื้อหาตรงไหนบกพร่องไป ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย แล้วครั้งหน้าผมจะมีบทความ เรื่องน่ารู้ของการ์ดจอ เรื่องไหนมานำเสนออีก อย่าลืมติดตามได้ที่ Extreme PC นะครับ สวัสดีครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Graphiccardshub

Related articles

5 เว็บไซต์ ทดสอบความแรง CPU/GPU เชื่อถือได้ เช็กก่อนเลือกซื้อกันได้เลย !!

สำหรับใครที่วางแผนจะประกอบคอมเครื่องใหม่ แต่ยังเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อซีพียูหรือการ์ดจอตัวไหนดี วันนี้แอดมีเว็บไซต์ที่ทำการทดสอบฮาร์ดแวร์พวกนี้ไว้ให้เราเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น มีเว็บไหนบ้างไปดูกันเลยครับ Techpowerup เว็บนี้ผมชอบดูมาก เพราะทำกราฟออกมาอ่านเข้าใจง่าย และมีการทดสอบที่หลากหลาย ทั้งการใช้งานทั่วไป, การเล่นเกม, การใช้พลังงาน,...

“อุปกรณ์ IoT” “ภัยเงียบที่เสี่ยงคุกคามบ้านคุณ?

ในยุคที่เทคโนโลยี IoT เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น หลอดไฟอัจฉริยะ ลำโพงอัจฉริยะ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน...

MSI ก้าวสู่ยุคใหม่ Next-Level AI PC พร้อมเปิดตัวโน้ตบุ๊กขุมพลัง AMD Ryzen™ AI 300 Series

11 พฤศจิกายน 2567 MSI ประเทศไทย แบรนด์พรีเมียมโน้ตบุ๊กชั้นนำ ประกาศวางจำหน่ายโน้ตบุ๊ก AI ระดับสูงรุ่นใหม่ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผล...

[HOW TO] ใช้กล้องมือถือแทนเว็บแคม ภาพโคตรชัดแถมใช้ฟรี !! ด้วย Camo Studio

อยากได้เว็บแคมกล้องชัด ๆ แบบมือถือที่ใช้ ต้องลองแอปฯ นี้เลยครับ Camo Studio เปลี่ยนกล้องมือถือให้กลายเป็นเว็บแคม อัดคลิปทำคอนเทนต์บนคอมได้ง่าย...

STEELSERIES ยกทัพสินค้าใหม่เอาใจสายเกมเมอร์

เปิดตัว ARCTIS GAMEBUDS™ WIRELESS GAMING EARBUDS หูฟังไร้สายที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการเล่มเกม ดูหนัง ฟังเพลง...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า